ดร.โอฬารวาดฝัน “กองทุนตั้งตัวได้” ผลิตสตีฟ จ็อบส์ไทย 5 พันคน
เป็นอีก 1 นโยบายประชานิยม สำหรับ “โครงการกองทุนตั้งตัวได้” ที่รัฐบาลเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2555 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย ให้นักศึกษาหรือบัณฑิตใหม่สามารถกู้เงินได้คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นทุนทรัพย์ในการนำมาสร้างอาชีพ
โครงการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556 ถึง 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ที่จะขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนดังกล่าว จะต้องมีคุณสมบัติ 1.เป็นบุคคลสัญชาติไทย 2.เป็นนักเรียนระดับ อาชีวศึกษา หรือนิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา หรือเป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี 3.มีความริเริ่มต้องการเป็นผู้ประกอบการและได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวให้เป็นผู้ประกอบการ และ 4.ธุรกิจของผู้ประกอบการต้องมีโอกาสที่จะสำเร็จพอสมควร
ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้” ผู้มีส่วนสำคัญในการเริ่มต้นกองทุนนี้ ได้อธิบายภาพรวมของโครงการให้กับ “ทีมข่าวอิศรา” ฟังว่า กองทุนตั้งตัวได้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียง มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ข้อ คือ
1.ต้องการเปิดโอกาสให้นักศึกษาและผู้ที่จบการศึกษา ที่ผ่านการทำงานมาระยะหนึ่ง แล้วมีแนวคิดอยากเป็นผู้ประกอบการมากกว่าการที่เป็นลูกจ้าง
2.สำหรับผู้ที่มีความคิดริเริ่มที่จะทำธุรกิจบางอย่าง ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และคิดว่ามีคนที่อยากซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการ
และ 3.สำหรับคนที่พอมีพื้นฐานเรื่องของธุรกิจหรือ คนที่เข้าเรียนในหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจที่เรียกว่า Authorized Business Incubator หรือ ABI ขณะนี้มีอยู่ 9 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนามาจากในระบบของมหาวิทยาลัย หรือ University Business Incubator หรือ UBI ที่ขณะนี้หน่วยดังกล่าวมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ 56 แห่ง ซึ่งศูนย์บ่มเพาะนี้สร้างขึ้นมา 6-7 ปีมาแล้ว
ดร.โอฬาร ยังกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลคิดทำนโยบายและเล็งเห็นว่ามีศูนย์บ่มเพาะในมหาวิทยาลัย ก็จะเข้าไปเริ่มปรับปรุงหลักสูตรเล็กน้อย เพื่อนำไปสู่กลไกการดำเนินงานร่วมกันของ 3 ฝ่าย คือ 1.คณะครูอาจารย์ 2.ศิษย์เก่า และ 3.สถาบันทางการเงิน ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ทำธุรกิจประสบความสำเร็จ และตั้งตัวได้อย่างแท้จริง
“โดยเริ่มจากการสอนวิธีการทำธุรกิจ ในช่วงที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ที่จะบ่มเพาะให้มีศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเอง จนกระทั่งสามารถขอกู้เงินจากธนาคารได้ ซึ่งจะต้องเสริมในส่วนที่จะทำอย่างไรให้โครงการที่คิดขึ้นมาเกิดความเป็นไปได้ หรือที่เรียกว่ามีความเป็นไปได้ทางการเงิน” ดร.โอฬารกล่าว
แค่มี “ไอเดีย-แผนธุรกิจ” ก็กู้เงินได้
สำหรับข้อกังวลในเรื่องมาตรฐานในศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัยไม่ได้มาตรฐานนั้น เขากล่าวว่า คงไม่น่ามีอะไรที่ต้องห่วงมากนักเราใช้เงื่อนไขของการให้กู้มาเป็นตัวโฟกัส เพราะทุกมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องบอกเราได้ว่า เมื่อคุณบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่เหล่านี้แล้ว เขาจะสามารถบ่มเพาะให้เขาทำธุรกิจอะไรได้เป็นหลัก ไม่ใช่บ่มเพาะทั่วไปทำอะไรก็ได้ แต่ต้องตรงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน
สำหรับระเบียบการกู้เงินโครงการกองทุนตั้งตัวได้ ดร.โอฬาร กล่าวว่า ธนาคารจะปล่อยกู้ไม่ต้องใช้โฉนดที่ดินค้ำประกัน แต่หลักประกัน คือ “ไอเดียกับแผนธุรกิจ” และ “ความเป็นไปได้ทางการเงิน” เท่านั้น ซึ่งแตกออกมาจากระบบธนาคาร นี่คือจุดเริ่มต้น โดยไม่ต้องใช้ระบบที่ดินค้ำประกัน
“เราต้องเข้าใจความเป็นไปได้ของระบบการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ของคนรุ่นใหม่ ว่าถ้าไม่ใช่ลูกเถ้าแก่ หรือลูกคนที่มีเงินทุนนั้น ต่อให้มีไอเดียดียังไงถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถที่จะตั้งตัวได้ ดังนั้นกองทุนนี้จะเป็นกองทุนที่ออกมาเพื่อปิดช่องว่าง และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ในประเทศไทยที่ขาดโอกาสทางการเงินได้มีสิทธิ์มากขึ้น” ดร.โอฬารกล่าว
ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ ยังกล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยดูแลผู้ประกอบการรายใหม่ ที่จะช่วยสกรีนและผลักดันแผนธุรกิจคือ “ศิษย์เก่า” ที่จะมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการทำธุรกิจ และ “นายธนาคาร” มาประเมินแผนธุรกิจและแผนการเงิน ช่วยดูแลความเสี่ยง เมื่อดูแล้วธุรกิจมีความเป็นไปได้ทางการเงินก็จะอนุมัติปล่อยกู้ ที่นอกเหนือจากส่วนของกองทุนที่ให้กองทุนต่อรายไม่เกินรายละ 1ล้านบาท และทางธนาคารจะให้เพิ่มอย่างน้อยอีก 2 ล้าน
ส่วนเงื่อนไขที่ทำให้ธนาคารเข้าร่วมกับกองทุนนี้ ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง? ดร.โอฬาร แจกแจงว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้าง กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ที่ขาดโอกาส รัฐบาลจึงเข้าไปเจรจาทำความเข้าใจโดยเริ่มจากสถาบันการเงินของรัฐ 5 แห่ง คือธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
“นายกรัฐมนตรีต้องการให้ธนาคารของรัฐเข้ามาช่วยเหลือโครงการนี้ และอยากจะได้ความเชี่ยวชาญของนายธนาคารที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงได้โดยไม่ต้องดูหลักประกัน ประกอบกับธนาคารหลายธนาคารก็มีโครงการลักษณะนี้ไว้อยู่แล้ว ดังนั้นทางธนาคารจึงยินดีที่จะเข้ามาช่วยรัฐบาลสร้างเถ้าแก่น้อยที่ขาดโอกาส เพื่อช่วยส่งเสริมให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในนโยบายนี้” ดร.โอฬารกล่าว
ดร.โอฬาร ยังกล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้จำกัดจำนวนที่จะมาเข้าร่วมโครงการ แต่เราจะต้องเร่งในการเชิญชวนให้ผู้รับการบ่มเพาะเข้ามาที่ ABI จากนั้นก็จะมีพี่เลี้ยงจากสถาบันบ่มเพาะ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ผ่านการอบรมที่ ABI ก็จะมีเจ้าหน้าที่สกรีนว่าคุณมีพื้นฐานด้านใดมาแล้ว ส่วนที่ขาดเหลือโดยเฉพาะทักษะทางอาชีพ ทางรัฐก็จะส่งเข้าไปในศูนย์บ่มเพาะ ซึ่งทางรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสุนนทางด้านค่าใช้จ่ายให้ งบประมาณก็ขึ้นอยู่กับแต่ละรายของผู้เข้าโครงการว่ามีความพร้อมด้านใดบ้าง มากน้อยแค่ไหน รวมถึงความพร้อมในแต่ละศูนย์บ่มเพาะ หรือในแต่ละหมาวิทยาลัยก็จะแตกต่างกันไป
“เป้าหมายปีแรกที่รัฐบาลตั้งไว้ให้คนมากู้ คือ 5,000-10,000 คน และในปีต่อไปตลอดโครงการคาดว่าจะมีผู้กู้ถึง 20,000 คน ซึ่งงบประมาณที่ใช้บ่มเพาะถือว่าเป็นงบพิเศษ ถ้าคิดเป็นรายหัวตกรายละ 50,000 บาท แต่เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบในส่วนนี้ หลายร้อยล้านบาท แต่งบส่วนนี้เราขอร้องว่าต้องฝึกให้คนที่จะนำไปใช้ประโยชน์และมีความต้องการ ที่จะขอกู้เงินจริงๆ ไม่ใช่ไปเรียนแต่เอาความรู้ เราต้องการสร้างคน สร้างงาน ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะลงทุนให้” เขากล่าว
รับไม่ได้เงินคืนทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์
ดร.โอฬารยังกล่าวถึงเหตุผลที่รัฐบาลยอมลงทุนมหาศาลในโครงการนี้ ว่า การที่ผู้ประกอบการรายใหม่แสดงความประสงค์จะกู้เงินลงทุนในธุรกิจ เช่น วงเงินกว่า 3 ล้านบาท เมื่อธุรกิจเกิดความก้าวหน้าก็จะเกิดการจ้างงานในบริษัทผู้บ่มเพาะอย่างต่ำ 5 คน และคนที่เป็นลูกจ้าง อีกประมาณ 3 ปี ก็อาจจะก้าวหน้ามีธุรกิจเป็นของตัวเอง เมื่อนั้นรัฐบาลจะ “มีรายได้จากการเก็บภาษี” ซึ่งเป็นผลระยะยาว
“ถ้าเราไม่เริ่มจากแม่ไก่ก็จะไม่มีลูกไก่ที่งอกเงยขึ้นมา ธุรกิจที่บ่มเพาะเราไม่ได้มองแค่ในบริบทเมืองไทยเท่านั้น จะต้องมองไกลถึงอาเซียน อย่าลืมคนที่ประสบความความสำเร็จในเรื่องธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs – ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล) คนเหล่านี้มีไอเดียที่ดีและเขามีคนสนับสนุนทางด้านการเงิน ก็เหมือนกับโครงการนี้ ประเทศไทยต้องการคนอย่าง สตีฟ จอบส์ เมืองไทยอย่างน้อย 5,000 คน ที่เกิดจากนโยบายกองทุนตั้งตัวได้ของรัฐบาล” ดร.โอฬารวาดฝัน
ส่วนเสียงวิจารณ์เรื่องหนี้เสียหรือ NPL ที่อาจเกิดขึ้น ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ บอกว่า เราสร้างเกราะป้องกันไว้ตั้งแต่การเริ่มต้นของการบ่มเพาะคือ การมีพี่เลี้ยงและนายธนาคารที่จะช่วยประคับประคองไม่ให้เสียเร็ว และเสียมากจนเกิดไป
“ถ้าโครงการไปไม่ได้จริงๆ เราต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เราจึงมีระบบพี่เลี้ยง เพราะถ้าเราปล่อยเขาไปบินเดี่ยวตั้งแต่วันแรก โอกาสที่จะเสียเยอะ เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียที่มากจนเกิดไป เราไม่ได้ตั้งความหวังไว้ว่าเราต้องไปคืนและประสบความสำเร็จเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีความเป็นไปได้อยู่แล้วที่จะได้คืนหมด เช่นจำนวน 100 คน ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ถ้าประสบความสำเร็จ หรือธุรกิจสามารถเดินไปได้สัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ เราก็ดีใจแล้ว” เขาตอบ
เขายังกล่าวว่า เรายอมรับว่าจะต้องมีหนี้เสีย ธนาคารเองก็ต้องรับว่าหนี้เสียและก็ต้องระมัดระวัง แต่เราจะช่วยรับภาระของธนาคารด้วยการค้ำกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นองค์กรของรับมาค้ำในบางส่วน และเราไม่ได้ตั้งเป้าจะได้รับผลกระทบในส่วนของหนี้เสียจำนวนเท่าไหร่ ถ้าเราตั้งใจว่าจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ตั้งตัวได้ เราพร้อมที่จะอุ้มประคองช่วยกันไปจนกว่าจะไม่ไหวจริงๆ
“คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มต้นเห็นผลในเดือน มี.ค.ของปีหน้า” ดร.โอฬารประเมิน
ดร.โอฬาร ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการนี้คือ พัฒนาผู้ประกอบการ และในระยะยาวคือเปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการที่กู้เงินไปสามารถตั้งตัวได้เป็น “ธุรกิจเถ้าแก่น้อย” ซึ่งเราอาจจะต้องใช้เวลาบ้างจึงจะเห็นผลประสบความสำเร็จ
ม.หอการค้า หนุน ชี้สอดคล้องหลักคิดโลก
อย่างไรก็ตาม จากมุมมองของคนภายนอกรัฐบาลอย่าง ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลับสงสัยว่ากองทุนตั้งตัวได้จะสอดคล้องกับสถานการณ์ในเมืองไทยหรือไม่ เพราะประเทศไทยเป็นสังคมที่ผลิตสินค้าเกษตรและเป็นสังคมของผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมรับจ้าง จะไม่ค่อยมีคนที่ค้าขายเก่งมากนัก
“เราอาจไม่มีประเภท สตีฟ จอบส์ บิล เกตส์ แต่เรามี เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวตระกูลโชควัฒนา ดังนั้นจะเห็นว่าคนไทยไม่ได้ถูกฝึกให้เป็นผู้ประกอบการ แต่ถูกฝึกให้เป็นคนทำงาน มนุษย์เงินเดือน” ธนวรรธน์กล่าว
ธนวรรธน์ ยังกล่าวว่า โดยหลักคิดของโลกยุคนี้ ผู้ประกอบการที่ซื้อมาขายไป หรือผลิตของขายจะให้เกิดความคึกคัก ความร่ำรวย และเกิดการสร้างฐานการจ้างงาน สร้างฐานการผลิต และสร้างฐานของ ฉะนั้นเมื่อหลักการสอดคล้องกับทิศทางการเจริญเติบโตของโลก เช่น จีน สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น ล้วนแล้วโตเพราะความเป็นผู้ประกอบการ สหรัฐอเมริกา โตเพราะสังคมของเขามีผู้ประกอบการเยอะ กองทุนนี้จึงเป็นกองทุนที่เน้นให้สร้างผู้ประกอบการและเปิดโอกาสผู้ที่ไม่มีเงินทุนเป็นของตัวเอง แต่สามารถที่จะทำธุรกิจ หรือเริ่มเป็นผู้ประกอบการได้ โดยผ่านกระบวนการอบรมภาคปฏิบัติ เขียนแผน และผ่านการกลั่นกรองสินเชื่อ และจากนั้นก็ค่อยไปทำธุรกิจ โดยที่คนไม่มีหลักทรัพย์จะถูกค้ำประกันโดย บสย. และสามารถมีเงิน
“สังเกตได้ว่ากระบวนการนี้จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่จบปริญญาตรี หรือกำลังจะจบสามารถทำธุรกิจ โดยผ่านกระบวนการทำแผน เหมือนกับการขอสินเชื่อจากภาคของธนาคาร เพราะถ้ามีการอบรมผ่านโดย UBI มหาวิทยาลัยทั่วประเทศตั้งศูนย์สอนทฤษฎี เอาหลักคิด ให้ประสบการณ์จริง และเข้ากระบวนการพิจารณาสินเชื่อ ถ้าสินเชื่อนี้ผ่านน่าจะผ่านการทำธุรกิจได้ โดยมี บสย.ค้ำประกัน และได้เงินไปช่วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลักการค่อนข้างที่จะรัดกุม เพราะมีกระบวนการพิจารณาแผน” ธนวรรธน์กล่าว
คาดหนีเสียไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์
ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า เมื่อหลักการใช้ได้หมด ก็ขึ้นอยู่ในส่วนของปฏิบัติ
1.UBI หรือศูนย์บ่มเพาะ มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ความเป็นคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต้องมีพื้นฐานทฤษฎี พื้นฐานแนวคิดที่พอใช้ได้ แต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีความโดดเด่นที่ไม่เท่ากัน แต่มีพื้นฐานที่พอจะอบรมได้
2.การนำเอาเจ้าของธุรกิจประจำท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ไปทำการอบรม ถือว่าเอาหลักคิดธุรกิจเข้า เอาประสบการณ์จริงมาทำ ฉะนั้นเด็กก็เขียนแผนธุรกิจ จากนั้นก็นำเอาแผนไปพิจารณาในคณะกรรมการสินเชื่อ ซึ่งคณะกรมการสินเชื่อก็อาจเป็นหน่วยงานของรัฐหรือนายแบงก์พาณิชย์ นายแบงก์เอกชน ซึ่งก็จะคิดตามหลักการของแบงก์ ว่าเขาทำแผนการเงินมา ทำแผนธุรกิจมาจะผ่านหรือไม่ ทำได้จริงหรือไม่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลักปฏิบัติก็ค่อนข้างที่จะรัดกุมเช่นกัน
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือ ถ้าตามหลักการเดิมก็ถือว่าใช้ได้ เงิน 5,000 ล้านบาทเมื่อเด็กใช้คนละล้านบาท ก็จะได้ 5,000 โครงการ เท่ากับว่ารัฐบาลจะใช้เงินปีละ 5,000 ล้านบาทใช่หรือไม่ เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วจะต้องคืนเงิน แค่ไหน เติมเงินเท่าไหร่ อาจจะต้องพิจารณากันต่อไป” ธนวรรธน์กล่าว
สำหรับข้อกังวลเรื่องของรัฐบาลจะต้องแบกรับภาระหนี้เสียนั้น ธนวรรธน์ กล่าวว่า ต้องมองกรอบแรกอย่างที่บอกว่าหลักการสินเชื่อได้ผ่านกระบวนการแบบธนาคารพาณิชย์หรือไม่ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อว่าเป็นอย่างไรก็ตาม กองทุนตั้งตัวได้อาจมีส่วนของหนี้เสียเพียงแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เพราะได้ผ่านกระบวนการการกลั่นกรองมาก่อน ผ่านการติดตามหนี้
“แต่ก็เข้าใจว่าเป็นโครงการของเด็กที่อาจจะไม่ชำนาญพออาจทำให้ล้มเหลวบ้าง แต่คิดว่าไม่น่าจะเยอะ เพราะถ้าหลักการดีปฏิบัติดี ผลก็ต้องดี เพราะประเด็นอยู่ที่การปฏิบัติ ซึ่งถ้ากลไกเป็นการพิจารณาสินเชื่อในรูปแบบระบบของธนาคารถือว่าดี” ธนวรรธน์กล่าว