คาด ศก.เกษตรปี 56 ติดบวกเล็กน้อย แนะ รบ.เลิกประชานิยมแทรกแซงราคา
คาดเศรษฐกิจเกษตรไทยปีหน้าส่งออกเพิ่มร้อยละ 5.6-นำเข้าวัตถุดิบมาก แนวโน้มขาดดุลราคา ยางพารา ไก่ ข้าว น้ำตาล ปาล์มน่าห่วง หวั่นขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร แนะ รบ.เลิกจำนำข้าว-แทรกแซงราคา
วันที่ 20 ธ.ค. 55 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KOFC) เปิดเผยถึงปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 ว่าปัจจัยนอกประเทศได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากปี 55 ร้อยละ 0.3 โดยจีนจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดร้อยละ 8.2 เพิ่มขึ้นจากปี 55 ร้อยละ 0.4 สหภาพยุโรปที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากปี 55 ร้อยละ 0.7 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ขณะที่สหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 0.1 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 และญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 1 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 (ข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ : IMF) จีนจึงยังเป็นตลาดใหญ่ที่สินค้าเกษตรไทยจะส่งออกไปรองรับความต้องการบริโภคที่มากขึ้นได้
อย่างไรก็ดีผลของเศรษฐกิจโลกที่จะเติบโตไม่มากในปี 56 ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแกว่งตัวอยู่ในช่วงแคบและคงตัว ส่งผลให้เงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มลดลง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30 -31 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งให้ราคาสินค้าส่งออกจะปรับตัวสูง ขณะเดียวกันไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากและมีแนวโน้มขาดดุลการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม รองลงมาคือสินค้าเกษตรแปรรูป ขณะที่วัตถุดิบเกษตรพื้นฐานไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศเท่าใดนัก
ทั้งนี้ทิศทางสินค้าเกษตรของโลกและประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นและราคาลดลง ซึ่งเกิดปริมาณและความต้องการขาย(อุปทาน) ที่มากขึ้น ดันให้ราคาลดลง
โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก สินค้าเกษตรไทยที่มีแนวโน้มปรับราคาลงในปี 56 ได้แก่ ยางพารา ลงลดร้อยละ 1.5, เนื้อไก่ลดลงร้อยละ 2.9, ข้าวขาวลดลงร้อยละ 5.5, น้ำตาล ลดลงร้อยละ 6.5 และน้ำมันปาล์ม ลดลงร้อยละ 7.6 สินค้าที่ราคาลดลงมากเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่ได้แปรรูป จึงต้องทำความเข้าใจกับชาวสวนปาล์มให้หันมาแปรรูปปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่แค่น้ำมันไบโอดีเซลเพื่อเพิ่มมูลค่าแทน เนื่องจากเกี่ยวพันกับราคาน้ำมันตลาดโลกในปีหน้าที่จะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่ราคายางพาราจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ซึ่งอาจจะปรับราคาสูงขึ้นได้ หากสหรัฐอเมริกาแก้วิกฤตการคลังได้ โดยราคายางพาราปีหน้าอาจจะยังไม่ขยับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 100 บาท
แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำ แต่ผลของเศรษฐกิจโลกในภาวะฟื้นตัวทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าอาหารมีมากขึ้นกว่าความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย การส่งออกสินค้าเกษตรไทยปีหน้าจะปรับตัวในทิศทางบวก คาดว่าอัตราการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากปี 55 ร้อยละ 5.6 คิดเป็นมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท
สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปีหน้า ได้แก่ ภัยธรรมชาติ และแรงงานภาคเกษตรซึ่งมีแนวโน้มสูงอายุมากขึ้น (ปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 60 ปี) อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานและมีแนวโน้มการใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น ปัญหาดังกล่าวจะเพิ่มความรุนแรงเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้หนี้สาธารณะคงค้างกว่า 4 ล้านล้านบาทหรือร้อยละ 43.91 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี ณ 30 ก.ย.55) แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับปกติ แต่อาจส่งผลกระทบต่อโครงการภาคเกษตรขนาดใหญ่ เช่น การวางระบบชลประทานซึ่งอาจชะลอตัวในปีหน้าด้วย
ทั้งนี้มีความกังวลว่านโยบายประชานิยมแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่ยังคงใช้ต่อเนื่องในปีหน้าอาจส่งผลเสียระยะยาว โดยรัฐบาลควรหามาตรการอื่นมาใช้แทน
ดร.จารึกกล่าวสรุปว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจโลก(ซึ่งยังไม่ขยายตัวมากในปี 56)ถึงร้อยละ 80 จึงคาดการณ์ได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจภาคการเกษตรไทยในปี 56 จะเป็นไปในทิศทางบวกเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 55 ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากอุทกภัยในปี 54 โดยจะมีอัตราการเติบโตปีหน้าประมาณร้อยละ 3 และเป็นปีที่ภาคเกษตรควรหันมาเตรียมตัวพัฒนาด้านคุณภาพมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรคุณภาพที่มากขึ้นในปีต่อๆไป .