วิเคราะห์ภาพรวมความขัดแย้ง 7 ปี ยังวังวน ‘โคทม’ เสนอตั้ง คกก.กลางทำงานร่วม 2 ขั้ว
นักสันติวิธี ชี้ 7 ปีวังวนขัดแย้งไทย ก้าวไม่พ้น ‘ทักษิณ’ เสนอตั้ง คกก.กลางทำงานร่วม 2 ขั้ว หวังสร้างวิสัยทัศน์-เสถียรภาพใหม่ให้กับสังคม บอกประเทศไทยไม่ควรทะเลาะกันเรื่องแก้ รธน.-ปัญหา จว.ชายแดนใต้
รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา โดยวิเคราะห์ถึงภาพรวมสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทย ตลอดปีที่ผ่านมาว่า ความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2548 จนกระทั่งปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 7 ปีเต็ม ขณะที่คู่ขัดแย้งยังคงเดิมๆ รู้ตัวละครทั้งหมด และถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมาแสวงหาความเป็นจริง เพื่อความปรองดอง แต่ปรากฏว่า ผลออกมาก็ไม่ปรองดองอยู่ดี
“ผมว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องก้าวพ้นความขัดแย้งไปให้ได้ และถ้าอยากจะแก้ไข แปลงเปลี่ยน ก้าวพ้นความขัดแย้ง ผมขอเสนอให้ตั้งคณะบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่เป็นคนกลาง คอยพูดคุย ทำงานกับฝ่ายต่างๆ ดูว่ามีพื้นที่ มีกิจกรรมใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะสามารถขยับและทำร่วมกันได้”รศ.ดร.โคทม กล่าว และว่า ทั้งนี้ การพูดคุยนั้น อาจเป็นไปในลักษณะของการคุยแบบอ้อม คุยข้างเคียงปัญหาก่อน เพื่อทำให้เห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องลดความโกรธความเกลียดลง และมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง
รศ.ดร.โคทม กล่าวต่อว่า ในระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้ง ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องทะเลาะกันในบางเรื่อง ขณะที่บางเรื่องมีความสำคัญเกินกว่าที่จะทะเลาะกัน เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้กระทั่งเรื่องน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา
รศ.ดร.โคทม กล่าวถึงทางเลือกในการแก้ปัญหาว่า มีด้วยกัน 3 แนวทางคือ
1.ความยุติธรรมที่มุ่งการลงโทษ นำคนผิดมาลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ทำให้ทุกคนพยายามกางข้อกฎหมายดูว่า อีกฝ่ายไปละเมิดข้อกฎหมายตรงไหนอย่างไรบ้าง
2.ความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ คือพยายามที่จะไม่ลืม มีการขอโทษ ยกโทษให้แก่กัน
และ 3.ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน คือทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏออกมาแล้ว ก็มาจำแนกว่าคนที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในระดับไหนต้องรับผิดชอบ นิรโทษกรรม หรือยกโทษให้
"สิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศไทยคือ ขณะนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกแนวทางแบบใด อย่างไรก็ตาม แนวทางที่มีแนวโน้มมากที่สุดคือ ความยุติธรรมที่มุ่งการลงโทษ ซึ่งไม่เอื้อต่อการก้าวพ้นความขัดแย้ง ในทางกลับกันจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งเรื้อรังมากขึ้น" นักสันติวิธี กล่าว และว่า คอป.ได้เสนอในเรื่องความยุติธรรมช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่สำหรับตนก็ยังเปิดกว้างว่าจะเลือกแบบใดดี ระหว่างความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ ซึ่งก็คงต้องเปิดพื้นที่ให้คุยกันว่าสังคม ผู้นำจะเอาอย่างไร และประชาชนรู้สึกอย่างไร แต่ที่บ้านเราไม่สามารถถกเถียงในเรื่องนี้กันได้ถึงแก่น ถึงประเด็น เพราะพอจะเริ่มก็กลับไปสู่รอยเดิม คือมองว่าเป็นการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำอะไรก็แล้วแต่ ก็กลับไปสู่แนวนี้ กลายเป็นว่าเราให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ พ.ต.ท.ทักษิณมากเหลือเกิน
รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า ตนได้ย้ำหลายครั้งแล้วว่า เราน่าจะก้าวพ้นปรากฏการณ์นี้ไปบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อที่จะได้สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ สร้างวิธีการ สร้างเสถียรภาพใหม่ๆ ให้กับสังคม
ส่วนนโยบายเรื่องการปรองดองของรัฐบาลปัจจุบัน รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า เป็นนโยบายเพียงเพื่อให้ฝ่ายตัวเองดูดี ไม่ได้ทุ่มเทจริงจังเท่าไหร่ ทำให้ขาดจิตวิญญาณ อีกทั้งการดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องความปรองดอง ความขัดแย้งนั้น ตนเห็นว่ารัฐบาลจะต้องปรึกษากับฝ่ายค้านให้ดี ไม่เช่นนั้นเชื่อได้ว่าการดำเนินจะไม่สำเร็จ ถูกตีความเป็นการชิงไหวชิงพริบ ชิงเอาเปรียบกันทางการเมือง
เมื่อถามต่อว่า การตั้งคณะบุคคลตามที่เสนอจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะบ้านเรามีปัญหาเรื่องความไม่ไว้ใจในตัวบุคคลอยู่ รศ.ดร.โคทม กล่าวว่า หากเราไปติดป้ายทุกคนหมด คงจะไม่มีคนทำงานได้ อีกทั้งการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว น่าจะช่วยได้มากขึ้น ดีกว่าที่ไม่มีเจ้าภาพเลย เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่า เจ้าภาพ ที่รัฐบาลปัจจุบันตั้งขึ้น นั่นคือ คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ อิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ก็มีผู้มองว่าเป็นกลไกรัฐบาล เพื่อรัฐบาลมากกว่ากลไกเพื่อการปรองดอง ซึ่งดูจากองค์ประกอบแล้วก็น่าจะเป็นเช่นนั้น หรือแม้แต่ คอป. ที่รัฐบาลก่อนแต่งตั้ง แม้จะมีข้อเสนอออกมา ก็ไม่มีใครรับช่วงจริงจัง ทำแล้วก็เป็นแค่รายงานอีกฉบับเท่านั้น
“ดังนั้น ถ้ามีการตั้งแต่งคณะกรรมการชุดใหม่ที่ว่าขึ้นมา และกำหนดหน้าที่ให้ชัดไปเลยว่า จงทำเรื่องความปรองดอง ก้าวพ้นความขัดแย้งให้เป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่มีหน้าที่แค่ไปศึกษา ทำรายงาน น่าจะเห็นผลมากกว่า” รศ.ดร.โคทม กล่าว