ห่วงสร้างเขื่อนลุ่มน้ำโขงผลกระทบข้ามชาติ – เสนอตั้งศาลอาเซียนแก้ข้อพิพาท
ถกผลกระทบข้ามชาติเขื่อนแม่น้ำโขง ประเดิมไซยะบุรีในลาว-แบงค์ไทยปล่อยกู้ไม่ดูอีไอเอ จ่อคิว 10 เขื่อน คาด 10 ปี 148 แห่ง เสนอตั้งศาลอาเซียนแก้ข้อพิพาท ชาวบ้านปากมูลเล่าทุกข์-ปลาหายวิถีชุมชนสูญ
วันที่ 19 ธ.ค. 55 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย, องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN )ร่วมกับ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง ‘ลุ่มน้ำโขง’ โดยมีการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ลุ่มน้ำโขง (MEKONG) ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงผลจากการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชากรกว่า 60ล้านคน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ไทย
ดร.โรเบิร์ต มาเธอร์ หัวหน้ากลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงเฉียงใต้ องค์การ IUCN กล่าวว่า ปัจจุบันผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงไม่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น เขื่อนปากมูลที่ส่งผลกระทบต่อคนอุบลฯอีกต่อไป เพราะแผนการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำอีก 148 แห่งในลุ่มน้ำโขงอีก 10 ปีข้างหน้าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนแบบข้ามชาติ เช่น กรณีเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวที่ส่งผลกระทบต่อชาวเวียดนาม ลาว กัมพูชาและไทย โดยที่ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศและการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ที่เป็นมาตรฐานร่วม นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรการชดเชยค่าเสียที่เกิดขึ้นกับชุมชนแบบข้ามชาติ เช่น ชาวประมงในจ.เลยที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีในลาวจะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากใคร เป็นต้น โดยที่หน่วยงานระหว่างประเทศอย่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC).ก็ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัญหาลักษณะนี้จะเป็นปัญหาที่เกิดมากขึ้นในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ระหว่างประเทศโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
โดยในอนาคตประชาคมอาเซียนควรจัดทำกฎหมายอาเซียน หรือ อนุสัญญาที่เกี่ยวกับการดูแลประชาชนในประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างต่างๆที่มีมาตรฐานเดียวกัน หรือ มีการตั้งศาลอาเซียนเช่นเดียวกับศาลยุโรปเพื่อตัดสินข้อพิพาทในภูมิภาค
ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงษาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้ง 11 แห่ง โดยมีเขื่อนไซยะบุรีเป็นแห่งแรกที่ดำเนินการโดยอ้างความต้องการพลังงานเพื่อไฟฟ้าป้อนไทย โดยที่ต้องแลกมากับการสูญเสียวิถีทำกินของประชาชนหลายสิบล้านคนในหลายประเทศและทรัพยากรปลามหาศาลที่จะหายไปนั้น ไม่ใช่ทางเลือกเดียวในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการบริหารจัดการพลังงานที่มีอยู่ เช่น การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแบบประหยัดกินไฟเพียง 26 วัตต์ ถ้าเปลี่ยนได้ 83 ล้านหลอดทั้งประเทศ จะประหยัดไฟฟ้าได้ 1,100 เมกกะวัตต์เท่ากับไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 โรงผลิตได้ และมากกว่าปริมาณไฟฟ้า 136 เมกกะวัตต์ที่เขื่อนปากมูลผลิตได้หลายสิบเท่า
“อย่างการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาว ฝ่ายไทยทั้งรัฐบาล ธนาคาร บริษัทเอกชน กลับทำตัวลอยเหนือปัญหา จะใช้ไฟจากเขื่อนเขาแต่โยนทุกอย่างให้รัฐบาลลาวรับผิดชอบ ทั้งที่ลาวถือหุ้นไม่ถึง 1 ใน 4 ด้วยซ้ำ”
โดยการให้เงินกู้ในการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีของธนาคารไทยทั้ง 4 แห่ง ยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของธนาคารเอกชนที่เรียกว่า Equator Principles ซึ่งกำหนดให้ก่อนที่ธนาคารจะปล่อยเงินกู้จะต้องดูว่าโครงการก่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมตามแนวทางของธนาคารโลกหรือไม่ นอกจากนี้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่มากมายของไทยปัจจุบันยังดำเนินการผิดขั้นตอน โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาสัมปทานและทำสัญญาก่อนที่จะมีการศึกษาผลกระทบอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน ทำให้ภาคเอกชนต้องรีบดำเนินการเพราะกลัวผิดสัญญาและมีความผิดทางแพ่ง และยังไม่มีการประเมินความคุ้มค่าของต้นทุนทุกอย่างที่เสียไปด้วย
ทั้งนี้มองว่าความตระหนักและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลจากโครงการขนาดใหญ่ต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษา “สิ่งที่เราพูดกัน ถ้าทางมหาวิทยาลัยยังไม่สอนไม่ทำยังไม่บรรจุในหลักสุตร แล้วจะหวังให้ชาวบ้านทำได้อย่างไร”
ขณะที่นางสมปอง เวียงจันทร์ ผู้นำชาวบ้านคัดค้านเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า การต่อสู้มาตลอด 20 ปี คำถามที่ติดค้างในใจเสมอ คือ การตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนของภาครัฐโดยอ้างการขาดแคลนพลังงาน เช่น กรณีเขื่อนปากมูล อยากถามว่าพลังงานที่ได้ใครเป็นคนใช้ คนอุบลฯได้ใช้ไฟเท่าไหร่ ทำไมเราต้องสละที่ทำกินเพื่อตอบสนองการใช้ไฟของคนเมือง รัฐบาลทำเพื่อใคร และมีกลุ่มทุนหนุนหลังใช่หรือไม่ โดยไม่มีการถามความความเห็นจากชาวบ้าน
“ตอนสร้างเขื่อนปากมูล(สร้างเสร็จปี 2537) ไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆให้ชาวบ้านรู้ พอได้ยินเสียงระเบิดหินนั่นแหละ ถึงรู้ว่าเขาจะทำอะไร”
โดยปัจจุบันผลจากการสร้างเขื่อนทำให้ลำนำมูลตื้นเขิน มีแต่ผักตบชวาและตะกอนทับถม โดยแทบจะหาปลาสักตัวไม่ได้ ขณะที่ชาวบ้านต้องอพยพย้ายถิ่น แม้ว่าในปี 2544 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะยินยอมเปิดประตูระบายน้ำปีละ 4 เดือน เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงว่ายมาสู่ลุ่มน้ำได้ แต่ก็ไม่เปิดตามฤดูกาลซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเท่าที่ควร
นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสารอะเดย์ กล่าวว่า มองว่าการก่อสร้างเขื่อนของภาครัฐอาจไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แต่เป็นการสร้างผลประโยชน์เลี้ยงปากท้องนักการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่รู้คุณค่าของการใช้ทรัพยากรที่ต้องแลกมากับการสูญสิ้น “ราก”ของคนในพื้นที่
“เงิน 1,000 บาทมีค่าแค่ไหนเรารู้ แต่ถามว่าปลา 1,000 ตัวมีค่าแค่ไหน ใครรู้บ้าง มหาวิทยาลัยเคยสอนหรือไม่ ค่าไฟที่เราจ่ายราคาถูกไป จนทำให้คนบางคนไม่ถูกดูแลหรือเปล่า” นายทรงกลดกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ย. รัฐบาลลาวได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่ใช้เงินลงทุนถึง 3,500 ล้านดอลล่า ขณะที่การทำอีไอเอของคณะกรรมธิการแม่น้ำโขงยังไม่ลุล่วง
ที่มาภาพ :: http://prachatai.com/journal/2012/07/41717