หมอดัน “ร่วมจ่าย 30บ.” ก่อนระบบสุขภาพล้ม- แนะวิจัย “เมดิคัลฮับ”ประโยชน์คนไทยหรือ
สมัชชาสุขภาพถก “ร่วมจ่าย 30บ.” ปชช.ชี้ถ่างช่องเหลื่อมล้ำ-หมอหนุนร่วมจ่ายก่อนระบบสุขภาพล้ม แนะวิจัยผลกระทบ “เมดิคัลฮับ”ว่าเม็ดเงินเข้า ปท.ถึงรากหญ้าหรือไม่ หวั่นลักหลั่นมาตรฐานต่างชาติ-คนไทย
วันที่ 19 ธ.ค.55 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา มีเวทีวิชาการเรื่อง “การร่วมจ่าย : ทางเลือกหรือความเป็นธรรม” โดย น.ส.สุนทรี หัตถีเซ่งกิ่ง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า ฐานความคิดของระบบหลักประกันสุขภาพคือเมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะได้รับรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียว ปัจจุบันสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนมากแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่ประชาชนจะต้องร่วมจ่ายเพื่อสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นอีก
“หากเป็นไปเพื่อความสะดวกสบายหรือจ่ายในบริการที่เกินความจำเป็น เช่น ศัลยกรรมสวยงาม ผ่าคลอดตามฤกษ์ยาม เห็นด้วยว่าต้องร่วมจ่าย แต่หากจ่ายเพื่อให้ได้แพทย์ที่ดีกว่า ยาที่ดีกว่า นั้นยอมรับไม่ได้ ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลเสมอหน้ากัน ทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึงแพทย์ที่มีความชำนาญเข้าถึงยาคุณภาพเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”
น.ส.สุนทรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทองไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ใช้บริการหรือใช้ยาเกินความจำเป็น ข้อมูลระบุชัดว่าคนในระบบอื่นคือผู้ใช้ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่จะกลับมาให้ประชาชนระดับล่างที่ใช้สิทธิบัตรทองร่วมจ่าย และจากข้อมูลวิชาการก็ยืนยันว่าเงินที่ได้จากการร่วมจ่าย 30 บาทในอดีต ไม่ได้มากกระทั่งมีนัยสำคัญต่อระบบสุขภาพ
นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าเห็นด้วยว่าการร่วมจ่ายเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนั้นต้องไม่ไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่น อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่าความเป็นธรรมที่ประชาชนจะได้รับย่อมขึ้นอยู่กับงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเข้ามาในระบบสุขภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือระบบหลักประกันยังไม่ล้มเนื่องจากใช้ทุนเดิมค้ำไว้ เช่น ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาล การใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่มาใช้ทุน แต่ในอนาคตแน่นอนว่าระบบมีโอกาสล้มได้ หากไม่มีการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งการเติมเงินเข้าระบบมี 2 ทาง คือรัฐบาลอุดหนุนผ่านการจัดเก็บภาษี และการเปิดให้ประชาชนร่วมจ่าย ยืนยันว่าถ้าไม่ยอมจ่ายระบบสาธารณสุขไทยก็จะถอยหลัง
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย กล่าวว่าในหลายประทศที่ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับประเทศไทยในอนาคตก็ต้องมีระบบนี้ นั่นเพราะงบประมาณด้านสุขภาพที่รัฐสนับสนุนไม่เพียงพอ โดยเมื่อพูดถึงการร่วมจ่าย ประชาชนจะเข้าใจว่าหมายความถึงในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เท่านั้น ซึ่งเป็นความคาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงที่พูดถึงระบบสุขภาพทั้งหมดโดยไม่ได้เจาะจงระบบใด
“หากต้องการแก้ไขปัญหาการเงินจากการร่วมจ่ายของประชาชน แน่นอนว่าต้องจ่ายจำนวนมาก จากข้อมูลต่างประเทศที่ใช้ระบบร่วมจ่ายพบว่า 20% เป็นเงินของประชาชน อีก 80% เป็นของรัฐ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดี แต่ยืนยันว่าการร่วมจ่ายต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้การระดมความคิดเห็นผู้เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย โดยมีเหตุผล อาทิ บุคลากรการแพทย์ที่งานดูแลคนไข้ล้นมืออยู่แล้วต้องมาเสียเวลาเพิ่มเพื่อจัดระบบร่วมจ่าย ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเหตุใดต้องร่วมจ่ายหรือใครไม่ประสงค์จะจ่ายก็ได้ รวมทั้งการรักษาบางรายการที่ไม่เหมาะสม เช่น การถอนฟันต้นทุนต่ำแต่ต้องจ่ายยาเพราะนโยบายบอกว่าผู้รับยาต้องร่วมจ่าย ขณะที่การอุดฟันต้นทุนสูงแต่ไม่ต้องจ่ายยาผู้ป่วยก็สามารถรับรักษาฟรี และต้องชี้แจงว่าต้องร่วมจ่ายตามกรณีต่างๆซึ่งสร้างความสับสนมาก
ในเวทีสมัชชาสุขภาพยังมีการเสวนา “นโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(เมดิคัล ฮับ)” โดย นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดม ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่านโยบายนี้มีข้อถกเถียงหลายมุมมอง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้ต้นทุนของรัฐกำลังจะนำไปสู่การแสวงหากำไร ขณะที่ผู้สนับสนุนมองว่าจะสร้างความเข้มแข็งวงการแพทย์ไทยในอนาคต และป้องกันแพทย์เก่งหนีไปทำงานต่างประเทศ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าควรที่จะศึกษาวิจัยผลกระทบโดยตรง เพราะใครจะยืนยันได้ว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้าประเทศนับแสนล้านบาทจากการบริการทางสุขภาพแก่คนต่างชาตินั้นจะกระจายไปสู่ประชาชนจริง
"การบริการระหว่างคนไทยกับต่างชาติจะเหมือนกันหรือไม่ มาตรฐานการรักษาของ รพ.ตามหลักสากลจะเหมือนกันทุกที่หรือไม่ หากจะสร้างคุณภาพก็ต้องมองว่าคุณภาพสำหรับใคร ควรเริ่มวิจัยให้กระจ่าง”
นพ.ภัทรพล จึงกิจไพศาล ผู้เชี่ยวชาญกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังเป็นที่รู้จักทั่วโลกเรื่องของการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ การเป็นเมดิคัลฮับทำให้เกิดการพัฒนาของโรงพยาบาลภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและบุคลากรทางการแพทย์ สธ.ไม่ได้มองเรื่องรายได้อย่างเดียว แต่มองการพัฒนาด้านต่างๆด้วย การมีชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาในประเทศแสดงให้เห็นว่าระบบสุขภาพประเทศเราความแข้งแข็ง และหากจะพูดถึงเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ต้องมีเมดิคัลฮับก็ขาดแคลนโดยระบบอยู่แล้ว ทั้งนี้หากระบบสุขภาพเราไม่เข้มแข็งอนาคต อาจทำให้ต่างชาติเข้ามาเป็นนอมินีทำธุรกิจสุขภาพในไทย
นพ.ภูษิต ประคองสาย ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ระบุว่าจากการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาเอกเก็บข้อมูลจาก รพ.เอกชน 5-6 แห่งพบว่าร้อยละ 70 ของผู้มาใช้บริการเป็นผู้ป่วยต่างชาติ คาดการณ์ว่าปี 2555 มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการ รพ.เอกชนถึง 2.5 ล้านคน และอาจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มองในแง่ดีก็มีรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก แต่ยังเกิดคำถามว่าเราจะรับชาวต่างชาติมากแค่ไหนจึงไม่กระทบต่อการบริการสุขภาพคนไทย เพราะปัจจุบัน ถ้าคิดแค่แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยราว 4 ล้านคน รพ.หลายจังหวัดมีผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างชาติเข้ามารับบริการกันแน่นอยู่แล้ว แม้รัฐบาลจะไม่ได้ประกาศนโยบายเมดิคัลฮับ ไทยก็เป็นเมดิคัลฮับคนจนอยู่แล้ว หากยิ่งโปรโมทยิ่งเกิดภาวะการแย่งใช้บริการสุขภาพ
เสนอให้เปลี่ยนความคิดการวางแผนกำลังคนใหม่จากเดิมที่ว่าการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ตามประชากร 65 ล้านคน ก็ให้บวกแรงงานต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการเข้าไปด้วยอีก 10ล้านคนถึงจะเพียงพอ และเมื่อภาคเอกชนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ ก็ควรมีการคืนกำไรส่วนหนึ่งเข้าสู่รัฐ เพื่อผลิตบุคลากรและเพิ่มพื้นที่ให้บริการกับคนในประเทศ รวมทั้งต้องบริการคุณภาพไม่ด้อยกว่าชาวต่างชาติ .
ที่มาภาพ : http://www.rsunews.net/index.php/news/detail/4888