ส่งท้ายเวทีอึด ฮึด ฟัง “ดร.เจษฎ์” ชี้แก้ความขัดแย้งไม่ใช่แค่พูดเรื่องปชต.
เวทีสุดท้ายอึด ฮึด ฟัง ระบุ ปชช.อยากก้าวข้ามความขัดแย้ง ขอมีส่วนร่วม รธน.มากขึ้น ด้าน "โสรัจจ์" คาดเหลือง-แดงอยู่อีกนาน แต่ไม่รุนแรง "เจษฎ์" แนะสร้างอธิปไตยตัวบุคคลก่อนสันติปชต.
วันที่ 19 ธันวาคม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีสันติประชาธิปไตย (เวทีอึด ฮึด ฟัง) ณ ห้องคริสตัล ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค โดยเวทีสันติฯ ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีสุดท้ายของกลุ่มสันติประชาธิปไตย เพื่อชูประเด็น "บริบทของงานสันติประชาธิปไตยในอนาคต : การเมืองไทยจะก้าวไปทางไหน"
ในช่วงต้น คณะทำงาน นำเสนอข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ ข้อสรุปโครงการสันติประชาธิปไตยและการสานเสวนา อึด ฮึด ฟัง โดยจากการขับเคลื่อนและจัดเวทีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการก้าวข้ามความขัดแย้ง ให้สังคมมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ผู้บริหารยึดหลักธรรมาภิบาล และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง อีกทั้งเพิ่มการศึกษาของพลเมือง เพื่อวางกลไกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญมากขึ้น
ส่วนกระบวนการแก้ปัญหาควรมีโครงสร้างที่เป็นเครือข่ายแกนกลาง อาจเป็นตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ เป็นแกนผูกร้อยให้กลไกการแก้ปัญหาดำเนินไปได้ และจะมีข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มสันติประชาธิปไตย เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ ที่จะร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับสังคมไทย
ช่วงต่อมา มีการอภิปรายเรื่อง "บริบทของงานสันติประชาธิปไตยในอนาคต : การเมืองไทยจะก้าวไปทางไหน" โดยมี รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจาย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมอภิปราย
รศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงทุกระดับทั้งการเมือง ครอบครัว และระดับความเชื่อของบุคคลทุกระดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อยากให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วๆ และกลุ่มที่ยังไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ดังเช่นที่ พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ. อ้าย อยากให้มีการแช่แข็งประเทศไทย เพื่อหยุดการเปลี่ยนแปลง
รศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวถึง สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคตอันไม่ไกลนี้ อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยกำลังเปลี่ยนจากสังคมดั้งเดิม ไปเป็นสังคมเสรีนิยมสมัยใหม่ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น และที่แน่ๆ ประเทศไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอย่างแน่นอน การพยายามแช่แข็งประเทศจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้น
"หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองประเทศไทยในระยะไม่เกิน 5 ปีจากนี้ไป หนี้ไม่พ้นการแก้รัฐธรรมนูญ พูดแบบมีหลักการพอสมควร ผมเชื่อว่าจะสำเร็จ แต่อาจไม่ใช่ปีหน้า เพราะมีแรงต้านพอสมควร คิดว่าโอกาสจะอยู่ภายในรัฐบาลปู โดยเนื้อหาที่เปลี่ยน เชื่อได้ว่า จะเลิกมาตราที่ว่าด้วยเรื่องยุบพรรค ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ส่วนใหญ่จะกลับไปคล้ายๆ ปี 2540 และคงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับวาระของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถเป็นได้เกิน 2 วาระไว้"
สำหรับระยะกลาง รศ.ดร.โสรัจจ์ มองไปที่สถาบันหลักๆ ของสังคม เช่น สำนักงานทรัพย์สินฯ จะอยู่ในภาวะกดดันมาก ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ โดยไม่ทำอะไรได้ เพรากระแสทุนไม่หยุดนิ่ง และเริ่มถูกจับตามองโดยสถาบันการเงินต่างชาติ รวมทั้ง สถาบันศาลยุติธรรม อาจเปลี่ยนระบบการคัดเลือกคนมาเป็นตุลาการและทำงานโดยยึดโยงกับประชานผ่านสภาผู้แทนฯ มากขึ้น เช่นเดียวกับองค์กรอิสระที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนเสียความเชื่อมั่น ส่วน กระทรวงกลาโหม ดูแนวโน้มแล้วผู้บังคับบัญชาที่จะสั่งเคลื่อนกำลังทหารได้ จะมาจากฝ่ายการเมือง
"หากมองระยะยาว ผมเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างเสื้อเหลือง-แดง ยังจะอยู่ไปมากกว่า 50-60 ปี แต่เป็นความแตกต่างธรรมดา ไม่รุนแรงเหมือนปัจจุบัน เพราะมีช่องทางที่จะแสดงออกถึงความแตกต่างในระบบปกติ เช่น การเลือกตั้ง"
ขณะที่ดร.เจษฎ์ กล่าวถึง ความขัดแย้งว่ามี 2 ประเภท ได้แก่ 1.ความขัดแย้งตามธรรมชาติ 2.ความขัดแย้งที่เกิดจากมนุษย์สร้างให้เกิดขึ้น เมื่อไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ จึงไม่สามารถใช้ธรรมชาติจัดการได้ เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ไหนมีสังคม ที่นั่นต้องมีกฎเกณฑ์ แต่เนื่องจากกฎเกณฑ์ทางการเมืองไม่ได้เป็นไปเพื่อให้คนหมู่มากอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข จึงเกิดความรู้สึกหลากหลาย มีทั้งผู้ยอมรับและไม่ยอมรับ ฉะนั้น ต้องดูให้ดีว่ากฎที่นำมาใช้เป็นกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยเกิดหรือไม่
"ก่อนจะเกิดประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีอธิปไตยในตัวเองก่อน เสียงมากและเสียงข้างน้อยต้องรับฟังกัน ผู้ถูกปกครองต้องยินยอมให้มีการปกครอง ไม่อย่างนั้นจะไม่เป็นประชาธิปไตย หากเป็นเช่นนี้ได้ การวางกฎเกณฑ์ทางการเมืองจึงจะเกิดผล อย่างไรความขัดแย้งตามธรรมชาติต้องเกิดอยู่แล้ว"
ดร.เจษฎ์ กล่าวต่อว่า ความขัดแย้งประการต่อมา คือ ด้านเศรษฐกิจ ที่มักถูกเชื่อมโยงกับการเมือง ปัจจุบัน บรรดานักธุรกิจต่างวิ่งเข้าหานักการเมือง เพื่อผลประโยชน์ เมื่อความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่แท้จริง อย่างการจัดสรรทรัพยากรและจัดสรรงบประมาณไปรวมกับความขัดแย้งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการถือครองที่ดินจำนวนมาก นโยบายต่างๆ หากประชาชนไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่มีอธิปไตยก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยและไม่ทำให้เกิดสันติ เช่น นโยบายรับจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าว
ประการสุดท้าย ความขัดแย้งเรื่องความเชื่อ ดร.เจษฎ์ กล่าวยกตัวอย่างถึงภาคใต้ของไทยว่า คนจำนวนมากมองว่าความขัดแย้งเกิดจากความเชื่อ แต่แท้จริงแล้วมีความไม่เป็นธรรมด้านต่างๆ เกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีความเชื่อ มีมุมมองเดียวกัน ทำให้สภาพความเชื่อที่เหมือนกันนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง และเมื่อมีคนเข้าไปหาประโยชน์ ตีให้ความขัดแย้งกระจายตัวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ สันติประชาธิปไตยจึงไม่เกิด เพราะยังไม่มีประชาธิปไตยในตนเอง
"การจะแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ใช่แค่พูดเรื่องประชาธิปไตยเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย แต่ต้องทำให้เกิดอธิปไตยในตัวบุคคลจริงๆ จึงค่อยเริ่มพูดเรื่องสันติประชาธิปไตยว่าจะก้าวไปอย่างไร"