ธ.โลก เผยจำนำข้าว ขาดทุนแสนล./ฤดูกาล ฉุด GDP ไทยร่วงปีละ 1%
ธนาคารโลก เผยโครงการจำนำข้าว ขาดทุนฤดูกาลละ แสนล. ฉุด GDP ไทยร่วงปีละ 1% แนะนำเงินช่วยเหลือชาวนารายได้น้อยโดยตรง-เพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ แก้ปัญหาระยะยาว
วันที่ 19 ธันวาคม ที่ธนาคารโลกในประเทศไทย ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย แถลงผลรายงานการติดตามเศรษฐกิจไทย ปี 2555 โดยระบุถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกได้รับผลกระทบจากภาคการผลิตที่หยุดชะงักลงจากเหตุการณ์มหันตภัยน้ำท่วมใหญ่ และแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยแรงผลักดันที่สำคัญจากการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เนื่องจากมาตรการการฟื้นฟูภายหลังน้ำท่วมและมาตรการการกระตุ้นของการบริโภคภาครัฐ แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่แท้จริง (Gross Domestic Product: GDP) ในปี 2555 เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.7
ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2556 ดร.กิริฎา กล่าวว่า คาดการณ์ว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5 จากการฟื้นตัวในภาคการผลิตอย่างเต็มที่และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประกอบกับ การที่รัฐบาลยังเพิ่มการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อการบริหารจัดการน้ำ
“อย่างก็ตามในปี 2556 ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป สินค้าเกษตรที่ราคาลดลง ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อใช้โครงการบริหารจัดการน้ำที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ โดยในปี 2555 มีการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวไปเพียง 3,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2556 รัฐบาลมีแผนใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องจับตาว่าการเบิกจ่ายจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนด้วย”
ดร.กิริฎา ยังกล่าวถึงการใช้จ่ายในโครงการตามนโยบายของรัฐบาลว่า โครงการรับจำนำข้าวมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ฤดูกาลเก็บเกี่ยว 2554/2555 จำนวน 21.5 ล้านตัน มีค่าใช้จ่ายรวม และค่าใช้จ่ายสุทธิของโครงการรับจำนำข้าว อยู่ที่ 376,000 ล้านบาท ซึ่งหากในปี 2555 มีการขายข้าวจำนวนดังกล่าวออกไปได้ตามราคาตลาดโลก ที่ข้าวขาย 5% มีราคาอยู่ที่ 550 ดอลลาร์ต่อตัน ผลขาดทุนจะอยู่ที่ 115,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของ GDP
"ส่วนในปีหน้า ปริมาณรับจำนำในฤดูกาลเก็บเกี่ยว 2555/2556 จะเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณ 25 ล้านตัน ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อยู่ที่ 432,000 ล้านบาท ขณะที่ราคาข้าวขาย 5% ในตลาดโลกปี 2556 อยู่ที่ 520 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งหากปีหน้าสามารถขายข้าวในสต็อกได้ทั้งหมด ผลขาดทุนน่าจะอยู่ที่ 132,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของ GDP เช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม ดร.กิริฎา กล่าวด้วยว่า แม้การใช้จ่ายในโครงการตามนโยบายรัฐบาลได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ แต่หนี้สาธารณะ ในช่วงปลายปี 2555 จากร้อยละ 45 ของ GDP จะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับใกล้เคียงร้อยละ 50 ของ GDP ในปี 2556 และถึงแม้ว่าหนี้สาธารณะดังกล่าวจะอยู่ในเกณฑ์ไม่มากไม่น้อยเกินไป สามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะดังกล่าวของไทยกว่าร้อยละ 90 เป็นหนี้ภายในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงสร้างนโยบายของรัฐ เช่น โครงการรับจำนำข้าว มีการดำเนินโครงการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล ทำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับภาระการใช้จ่ายบางส่วนจากโครงการ อาจทำให้สถานะการเงินอ่อนแอลง ในขณะเดียวกันก็จะเป็นหนี้สาธารณะที่ซ่อนเร้น (Contingent liabilities) ของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลจะต้องเข้ามารับภาระหนี้ทั้งหมด
"ดังนั้น ธนาคารโลกเห็นว่า งบประมาณที่ใช้ในโครงการตามนโยบายรัฐบาล ควรนำไปใช้ในโครงการเพื่อระยะยาว เช่น การใช้จ่ายสำหรับโครงการรับจำนำข้าว ควรแบ่งไปใช้ในการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพข้าว เนื่องจากพบว่าผลผลิตข้าวโดยเฉลี่ยของไทย ในช่วงปี พ.ศ.2543-2553 มีผลผลิตต่อไร่อยู่ในระดับต่ำ เป็นรองอินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า อีกทั้งควรนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้เพื่อช่วยเหลือชาวนาที่มีรายได้น้อยโดยตรง"
ทั้งนี้ ดร.กิริฎา ยังกล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2556 ด้วยว่า ค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ซึ่งในระยะสั้นผู้ประกอบการ นายจ้างคงต้องมีการปรับตัวสูง อาจมีการลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างแต่ละคนลง นำเครื่องจักรเข้ามาใช้แทน แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่อัตราการว่างงานก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว
ขอบคุณภาพ ดร.กิริฎา จากกรุงเทพธุรกิจ