สตง. ส่งทีมไล่ล่าหลักฐาน “เงินกู้” ดันราคายาง 4.5 หมื่น ล. หลัง “ปู” เมินตรวจสอบ
สตง.ส่งทีมไล่ล่าหลักฐาน "เงินกู้" ดันราคายาง 4.5 หมื่นล. หลัง “นายกฯ ปู” เมินรับลูกตรวจสอบ เผยเตรียมประสานหน่วยงานรับผิดชอบขอรายชื่อสถาบันเกษตรกรขยายผลการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โครงการหรือไม่
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ภายหลังจากที่ สตง. ได้ทำหนังสือ เลขที่ ตผ 0012/6951 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยสนับสนุนวงเงินกู้จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สถาบันเกษตรกรนำไปใช้ซื้อน้ำยางสด/แผ่นยางดับ มาแปรรูป เพื่อเก็บสต็อก หรือส่งขายให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) แปรรูปเก็บรักษายางไว้รอจำหน่ายเพื่อดันราคายางให้สูงขึ้นถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม หลังตรวจสอบพบปัญหาจำนวนมาก
แต่จนถึงขณะนี้ สตง. ยังไม่ได้รับจากชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จากนายกฯ ร่วมถึงผู้รับผิดชอบในโครงการนี้แต่อย่างใด ร่วมถึงหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องตามที่ร้องไปด้วย
“ล่าสุด ผู้บริหาร สตง. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง. ลงพื้นที่เจาะลึกข้อมูลการดำเนินงานโครงการนี้อย่างละเอียดแล้ว พร้อมทำเรื่องประสานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบขอข้อมูลสถาบันเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ไปใช้ในการซื้อนำยางมาแปรรูปเพื่อเก็บสต๊อกยาง มาตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติถูกต้องหรือไม่ และนำเงินกู้ไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอะไรบ้าง” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวย้ำว่า ในการดำเนินงานโครงการนี้ใช้เม็ดเงินจำนวนสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ขั้นตอนการดำเนินการพบปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. ให้สถาบันการเกษตรกร เป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อยางจากสมาชิก ไม่ใช้การกู้ยืมไปลงทุนแปรรูปน้ำยางสด เพื่อเก็บรักษายางในช่วงราคายางตกต่ำตามวัตถุประสงค์โครงการแต่อย่างใด
ขณะที่การผลักดันราคายางหลังดำเนินโครงการก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม การจัดเก็บสต็อกยางก็มีปัญหาสถานที่ไม่เพียงพอ
ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการสวมสิทธิ์ยางพารา ของพ่อค้าบางราย ที่ไปกดราคารับซื้อจากเกษตรกรในราคาต่ำ เพื่อนำมาขายต่อให้แก่ อ.ส.ย.ในราคาสูง
“สตง. ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานโครงการนี้ เพราะใช้วงเงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาท แต่ภาพรวมการดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะราคายางที่ปัจจุบันยังอยู่ในหลัก 90-100 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่เป้าหมายโครงการตั้งไว้ว่าจะผลักดันให้ได้ 120 บาทต่อกิโลกรัม จึงหวังว่านายกฯ จะตระหนักถึงปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน และเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจังต่อไป ” แหล่งข่าวระบุ