ชุมชนเขาหินซ้อน-ชะแล้-ตรัง คว้ารางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 55
‘ปลอดประสพ’ โยนคำถามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติบังคับใช้ได้หรือไม่ 3 ชุมชนคว้ารางวัลธรรมนูญสุขภาพ-อีเอชไอเอ ชาวบ้านเลยร้องนายทุนเลิกทำลายป่า
วันที่ 18 ธ.ค. 55 คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 ภายใต้แนวคิด ‘ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ’ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงาน
นายปลอดประสพ กล่าวว่า นโยบายสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นจากความหวังดีทุกฝ่าย โดยเฉพาะนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่เห็นความสำคัญจนสามารถขับเคลื่อนนโยบายก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน และสร้างประโยชน์ต่อส่วนร่วม ซึ่งหากจำแนกระบบสาธารณสุขจะพบสิ่งปกติในคน 2 โรค ได้แก่ โรคที่เกิดจากเชื้อโรค มีระบบทางการแพทย์ดูแลรักษา กับโรคที่เกิดจากความบกพร่องของตนเอง เช่น โรคอ้วนที่เกิดจากการบริโภคที่ไม่เหมาะสม โดยตนมองว่าการป้องกันโรคที่ดีน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้นหวังว่า ความเห็นหรือฉันทามติในการประชุมครั้งนี้ควรจะอยู่ในกรอบของการป้องกันมากกว่า โดยเฉพาะการจัดการองค์ความรู้
“กำลังมีข้อเสนอไม่ให้จำหน่ายสุราบนทางเท้า โดยเอามาตรการทางกฎหมายบังคับ ซึ่งกำลังตั้งคำถามว่าใช้ได้หรือไม่ หรือควรเป็นมาตรการทางสังคม”
ประธานคสช. กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายดังกล่าวจะสอดแทรกไว้ส่วนใดของนโยบายหลักของประเทศ หรือสังคมไทยควรมีกติกาทางสังคมที่จะควบคุมประชาชนของชาติ อย่างไรก็ตามไม่ขอตั้งความหวังการการดำเนินงาน แต่ยืนยันว่าตนพร้อมช่วยเหลือทุกเรื่อง
ด้านน.ส.แสงระวี ดาปะ เครือข่ายเด็กและเยาวชนจ.เลย กล่าวว่า เมืองเลยได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติ ผิดกับสมัยก่อนที่เคยอุดมสมบูรณ์เสมือนเป็นหัวใจของคนท้องถิ่น เพราะเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต แม้แต่ชื่อหมู่บ้านยังสอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น บ้านห้วยไผ่ ซึ่งตั้งแต่เด็ก ๆ ตนจะเห็นพ่อแม่ใช้ประโยชน์จากผืนป่าเหล่านั้น แต่ปัจจุบันไม่เหลือความเป็นเลยให้ชื่นชม เพราะเต็มไปด้วยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
โดยได้ยกตัวอย่าง ผลกระทบที่ได้รับ คือ เมื่อปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามใช้น้ำฝนอุปโภคบริโภค เพราะมีสารพิษปนเปื้อน จนทำให้ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ และเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา บ่อกักเก็บกากแร่ของบริษัทแห่งหนึ่งได้พังทลายลงมา เป็นสาเหตุให้น้ำเสียจากบ่อกักเก็บไหลลงมาปนเปื้อนไร่นา และแม่น้ำสาขาของเลย ทำให้ชาวบ้านต้องทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ดังกล่าว หากจะให้อพยพคงไม่ได้ เพราะเป็นบ้านเกิด ดังนั้นหลายคนจึงต้องออกจากบ้านไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ ทิ้งให้ลูกหลานอยู่ลำพัง
“อยากถามว่าทำไมคนสมัยนี้ต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแบบกอบโกยไม่รู้จักพอ ต่อไปพวกหนูและคนรุ่นหลังจะอยู่อย่างไร ในเมื่อทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นเสมือนชีวิตต้องหมดไปในคนรุ่นนี้ ทำไมไม่อยู่กับธรรมชาติแบบพึ่งพากัน เพื่อเก็บให้ลูกหลานได้ใช้ในอนาคตข้างหน้า ทำไมต้องอยู่แบบแย่งชิง เต็มไปด้วยกิเลส”
น.ส.แสงระวี กล่าวต่อว่า แม้หลายคนมองว่าความทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก มันคือความเจริญที่แท้จริง แต่ตนคิดว่าความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นความเจริญแท้จริงและยั่งยืน แต่พูดไปคนรวยก็ไม่เข้าใจว่ามันมีความสำคัญกับคนชนบทมากน้อยแค่ไหน จึงวิงวอนให้หยุดทำลายธรรมชาติ เพราะโลกขาดเรา โลกอยู่ได้ แต่เราขาดโลก เราอยู่ไม่ได้
ขณะที่นางฑิฆัมพร กองสอน เลขานุการเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า ทุกคนล้วนต้องการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งควรเป็นอุดมการณ์ร่วมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย เพราะสุดท้ายสิ่งที่เหมือนกัน คือ ต้องการความสุข ต้องการน้ำที่บริสุทธิ์ไว้ดื่ม อาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภค ฉะนั้นต้องกำหนดอนาคตของคนในชุมชนท้องถิ่นว่าจะเอาน้ำอย่างไรไว้ดื่ม หรือจะเอาอาหารที่ปลอดภัยอย่างไรไว้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ม.80 ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน และส่งเสริมให้เอกชน ชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพ และจัดบริการสาธารณสุข
โดยที่ผ่านมาตนมีความศรัทธาในกระบวนการสมัชชาสุขภาพ เพราะเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนร่วมกัน และแก้ไขปัญหาอย่างมิตรภาพ จึงได้นำกระบวนการไปใช้ในการวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน และนำแผนไปสู่การปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ จนนำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนตามมา หรือการนำแผนขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนจนสามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ จากการที่พัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสมัชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 บังคับใช้ คณะกรรมการได้จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแล้ว 4 ครั้ง ได้ฉันทามติทั้ง 40 มติ ซึ่งมีการประเมินผลจากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าได้ก่อเกิดคุณค่า 5 ประการ คือ 1.การพัฒนาและแก้ปัญหา ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนมาตรการสำคัญบางเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาวะของสังคม 2.การพัฒนากระบวนการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมระหว่างภาคีต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างทางความคิด 3.การสร้างเครือข่ายและกลไกการจัดการเครือข่าย ให้เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้นโยบายสาธารณะ จนเกิดเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายในประเด็นเดียวกันและต่างประเด็น พัฒนาความสัมพันธ์ และมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน 4.การพัฒนาองค์ความรู้ ก่อให้เกิดชุดความรู้ในเชิงประเด็น และเชิงพื้นที่ที่หลากหลาย 5.ผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความรับรู้ตระหนักและเข้าใจความสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วม มีการถ่ายทอดการดำเนินงานไปสู่สมัชชาประเภทอื่นมากขึ้น โดยคุณค่าทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในสังคม
ทั้งนี้ ภายในงานได้มอบรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเภท จังหวัดสมัชชาสุขภาพ ได้แก่ จ.ตรัง, ประเภท พื้นที่ธรรมนูญสุขภาพ ได้แก่ ธรรมนูญสุขภาพ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา และประเภท กรณีอีเอชไอเอชุมชน ได้แก่ เอชไอเอชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย.