TPD วิเคราะห์ แค่เสียงพรรคร่วม รบ.ยังไม่พอผ่าน "ประชามติ” แก้ รธน.
เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ออกบทวิเคราะห์ ชี้เสียงพรรคร่วม รบ.ยังไม่พอผ่านประชามติแก้ รธน. เชื่อต้นปีหน้า รบ.ระดมรณรงค์ให้คนมาใช้สิทธิ หวัง “พลังเงียบ” โผล่โหวต
เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Political Database : TPD) ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองไทยในปี 2556 ว่า ประเด็นที่ต้องติดตามหนีไม่พ้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะมีการทำประชามติก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ โดยช่วงเวลาในการทำประชามติน่าจะอยู่ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-12 เมษายน ของปี 2556 ซึ่งตามหลักเกณฑ์ในการทำประชามติ จะต้องมีการออกมาใช้สิทธิไมต่ำกว่าครึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด หมายความว่า ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมี 46 ล้านคน จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 23 ล้านคน ซึ่งเป็น “งานหิน” ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ในภาวะการที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศให้ผู้สนับสนุนไม่เข้าร่วมทำประชามติ
“ถ้าคิดรวมคะแนนเสียงของทุกพรรคที่ได้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ยกเว้น ปชป. (ได้ 11 ล้านเสียง) จะพบว่ามีอยู่ 20 กว่าล้านเสียง ซึ่งถ้าคนออกมาใช้สิทธิเพียงเท่านั้น จะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ เนื่องจากมีคนออกมาใช้สิทธิน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีเลือกตั้งทั้งหมด ความหวังจึงไปตกอยู่กับกลุ่ม "พลังเงียบ" ซึ่งไม่ได้ออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่จะออกมาทำประชามติ” บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุ
เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย จึงสรุปว่า ในช่วงต้นปี 2556 เราอาจจะได้เห็นการระดมทุกสรรพกำลังของรัฐบาลเพื่อรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติกันเป็นการใหญ่ พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรคซึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเริ่มลงพื้นที่ฐานเสียงของตน เพื่อชวนคนออกไปทำประชามติ แน่นอนเป้าหมายอยู่ที่ทำให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ได้ เพราะ “เดิมพัน” ครั้งนี้สำคัญกว่าครั้งไหนๆ
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 9 วรรคแรก ระบุไว้ว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย หรือ TPD เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2552 จากการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบองค์กรและบุคคลในภาครัฐจำนวนหนึ่ง ที่จะให้มีหน่วยบริหารจัดการข้อมูลการเมืองไทย ทำหน้าที่พัฒนาระบบฐานข้อมูล จัดเก็บข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และให้บริการข้อมูลแก่องค์กรในเครือข่าย อันประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก รวมไปถึงการให้บริการข้อมูลทางการเมืองแก่สาธารณชนทั่วไป โดยยึดหลักความเป็นกลางทางการเมือง