เบื้องหลังสังหารครู...ข้อเท็จจริงจากพื้นที่!
ม่านควันแห่งความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากส่งผลให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้หลายๆ ครั้งการมองปัญหาจากภายนอกอาจพร่าเบลอไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ด้วย
ดังเช่นเหตุการณ์ไล่ฆ่าสังหารครูไทยพุทธ 5 ราย (เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 1 ราย) ในห้วงเวลาเพียง 19 วัน ประกอบด้วย
1.นางนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกยิงเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ย.
2.นางฉัตรสุดา นิลสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านยาโงะ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.
3.นายธีระพล ชูส่งแสง ครูโรงเรียนบ้านบอเกาะ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.
4.นางสาวตติยารัตน์ ช่วยแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาโง ต.ปานัน อ.มายอ จ.ปัตตานี เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.
5.นายสมศักดิ์ ขวัญมา ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านบาโง เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.
หากมองภาพจากนอกพื้นที่และรับฟังข่าวสารจากภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง สาเหตุย่อมหนีไม่พ้นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เลือกใช้วิธีรุนแรงกับ "เป้าหมายอ่อนแอ" ที่ไม่มีทางสู้อย่าง "ครู" เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของกลุ่มตน ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหรือเรื่องอื่นก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงในพื้นที่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแต่ละเหตุการณ์ล้วนมีที่มาที่ไป มีบริบทความรุนแรงอื่นเกิดขึ้นก่อน แต่กลับไม่มี "พื้นที่สื่อ" สำหรับเหตุการณ์เหล่านั้น และ "ความสนใจของภาครัฐ" ก็ค่อนข้างจำกัดหรือเกือบจะไม่มีเลย
บรรยากาศเช่นนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ถอยห่างจากความสันติสุขมากยิ่งขึ้นไปอีก...
"ข่าวลือ" กับ "ความเชื่อ"
ก่อนเกิดเหตุการณ์ล่าสังหารครูไทยพุทธ 5 ราย มีคดีคนร้ายใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงถล่ม นายมาหะมะ มะแอ ครูสอนศาสนาโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา เสียชีวิตในท้องที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ขณะขับรถกระบะออกจากบ้านมุ่งหน้าไปโรงเรียน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 ต.ค.
นายมาหามะ จัดเป็น "อุสตาซ" คนสำคัญในพื้นที่ สอนอยู่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ฝ่ายความมั่นคงจะสรุปว่าเป็นเหตุการณ์ในลักษณะสร้างสถานการณ์ความไม่สงบจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ในสายตาของชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มองเช่นนั้น
ข่าวสารที่พูดต่อๆ กันในพื้นที่ คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมองอุสตาซรายนี้ในแง่ที่อาจเกี่ยวพันกับสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะอดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อย่าง นายสะแปอิง บาซอ ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวขบวนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน มีหมายจับและรางวัลนำจับนับสิบล้านบาท
การสังหารอุสตาซโรงเรียนธรรมฯ จึงน่าจะไม่ใช่การกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ!
เหตุการณ์ไล่ยิงครูไทยพุทธต่อเนื่องมาอีก 3 คน คือผู้อำนวยการโรงเรียนท่ากำชำ ครูโรงเรียนบ้านยาโงะ และครูโรงเรียนบ้านบอเกาะ หรืออาจรวมถึงครูอีก 2 คนในโรงเรียนบ้านบาโงด้วย มีการพูดกันหนาหูว่าเป็นการกระทำเพื่อแก้แค้นจากฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐหรือไม่
ขณะที่เหตุการณ์บุกยิงครูถึงในโรงเรียนบ้านบาโง เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 11 ธ.ค. ก็มีเหตุการณ์ที่คาใจชาวบ้านเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง คือ กรณีคนร้ายใช้รถกระบะเป็นพาหนะ กราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านบาดามูเวาะห์ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้มีชาวบ้านมุสลิมเสียชีวิตถึง 4 ราย หนึ่งในนั้นเป็นผู้เฒ่าอายุ 70 ปี อีกหนึ่งเป็นทารกวัยเพียง 11 เดือน
คนในพื้นที่เชื่อว่าไม่ใช่การกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และยังเชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดตามมา คือกรณียิงครูในโรงเรียน อาจเป็นการตอบโต้ล้างแค้นกัน!
ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ ภาครัฐค่อนข้างละเลยกับการค้นหาสาเหตุเชื่อมโยงหรืออาจเป็นเบื้องหลังของความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังกล่าว กระทั่งล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 17 ธ.ค. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ตัดสินใจตั้ง "คณะกรรมการพิเศษ" ขึ้นมาตรวจสอบเหตุการณ์รุนแรงทั้ง 2 กรณี คือทั้งเหตุการณ์สังหารครู และเหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชา
นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐบางหน่วยอย่าง ศอ.บต.รับทราบกระแสความรู้สึกที่เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว และกระแสความรู้สึกดังว่านี้ก็กำลังแรงขึ้นเรื่อยๆ
"ข้อมูลรัฐ" กับ "พื้นที่สื่อ"
ในขณะที่ชาวบ้านพากันสงสัยในเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นหลายๆ เหตุการณ์ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบกลับด่วนสรุปเช่นเดิมว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และเดินหน้าตั้งประเด็นสืบสวนสอบสวนไปตามกระบวนการโดยละเลยกระแสเสียงจากในพื้นที่แทบจะสิ้นเชิง
ขณะเดียวกัน "พื้นที่สื่อ" ที่มีให้กับเรื่องราวที่ชาวบ้านสงสัยก็น้อยยิ่งกว่าน้อย...
มีข้อมูลจากบางแหล่งระบุว่า เหตุการณ์สังหารอุสตาซโรงเรียนธรรมวิทยาฯ แทบไม่มีการนำเสนอทางสื่อกระแสหลักแขนงใด แต่สื่อมาเลเซียกลับให้ความสนใจ โดยส่งผู้สื่อข่าวทีวีมารายงานข่าวแบบเกาะติด เช่นเดียวกับเหตุการณ์กราดยิงร้านน้ำชาที่ตันหยงลิมอ
นายทหารระดับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อธิบายว่า การก่อเหตุของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนมีรูปแบบเป็น "วงรอบ" เช่น ยิงครูที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เทกำลังมารักษาความปลอดภัยครู และเปิดช่องโหว่ในภารกิจรักษาความปลอดภัยเป้าหมายล่อแหลมอื่นๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องแตกกำลังออกไป เมื่อเจ้าหน้าที่เหนื่อยล้าก็หันมาดักโจมตีเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุม คนร้ายก็ก่อเหตุยิงพี่น้องมุสลิมหรือบุคคลสำคัญที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อให้ดูเป็นการแก้แค้น และปล่อยข่าวลือว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อฝ่ายรัฐตามชี้แจงจนชาวบ้านเข้าใจ ก็เปิดฉากทำลายเป้าหมายอ่อนแออีก
"การยิงครูทำให้เกิดผลสะเทือนสูงมาก สมาพันธ์ครูฯก็ออกมาเคลื่อนไหว และสั่งปิดโรงเรียน ทำให้การศึกษาถดถอย ก็เข้าทางกลุ่มขบวนการอีกที่ต้องการให้การศึกษาในพื้นที่มีปัญหาอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเรียนการสอนสายสามัญ และส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองย้ายเด็กไปเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนักเรียนโรงเรียนสายสามัญในพื้นที่เหลือน้อยมาก ส่วนใหญ่ไปเรียนโรงเรียนเอกชนกันหมด ทั้งหมดนี้คือสภาพจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความรุนแรง" นายทหารระดับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว กล่าว
สอดคล้องกับแหล่งข่าวในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มองว่า อย่าไปคิดว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะไม่ทำร้ายพี่น้องมุสลิม เพราะกลุ่มขบวนการในปัจจุบันไม่ใช่กลุ่มที่มีอุดมการณ์เหมือนเมื่อก่อน แต่เป็น "กลุ่มนักรบสายพันธุ์ใหม่" ที่ก่อเหตุรุนแรงได้ทุกรูปแบบโดยไม่สนใจมวลชน
"กลุ่มนักรบเหล่านี้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และมองว่ากลุ่มเก่าๆ ที่ต่อสู้กับรัฐไทยไม่มีน้ำยา ไม่สามารถสร้างเงื่อนไขต่อรองอะไรได้เลยแม้จะใช้เวลานานหลายสิบปีแล้ว ฉะนั้นกลุ่มนักรบรุ่นใหม่จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่โดยไม่สนใจว่าเป้าหมายเป็นใคร" แหล่งข่าวจาก สมช.ระบุ
เมื่อถามว่า การก่อเหตุโดยไม่เลือกเป้า และทำให้เสียมวลชนเช่นนี้ จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้อย่างไร แหล่งข่าวรายนี้ บอกว่า จุดหมายของนักรบรุ่นใหม่อาจไม่ได้อยู่ที่การแบ่งแยกดินแดนก็ได้
"ระยะหลังเราพบหลักฐานชัดเจนมากขึ้นว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะยาเสพติดกับน้ำมันเถื่อน ความรุนแรงหลายกรณีที่เกิดขึ้นจึงเชื่อมโยงกับผลประโยชน์เหล่านี้ ส่วนการแบ่งแยกดินแดน เท่าที่ทราบกลุ่มขบวนการทุกระดับเห็นตรงกันแล้วว่าเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นการก่อความรุนแรงในช่วงหลังจึงมาจากแรงขับดันอื่น เช่น แก้แค้น สะใจ หรือผลประโยชน์" แหล่งข่าว กล่าว
ดับไฟที่กองฟืน
การค้นหาสาเหตุของปัญหาเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไข ย่อมเป็นการจัดการปัญหาที่ถูกต้องที่สุด แต่คำถามก็คือตลอด 9 ปีไฟใต้ รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ค้นหาสาเหตุของปัญหา แล้วขจัดเงื่อนไขที่แท้จริงที่นำมาสู่ปัญหาแล้วหรือยัง
ทุกวันนี้แม้แต่ทหารระดับปฏิบัติในพื้นที่เองก็ยอมรับตรงกันว่า การสั่งให้พวกเขาไปเฝ้าเสาไฟฟ้า รางรถไฟ รปภ.โรงเรียน วัด ครู ฯลฯ เป็นเพียงมาตรการเชิงรับที่ช่วยบรรเทาปัญหาที่ปลายเหตุ หาใช่แนวทางที่จะพลิกสถานการณ์ไปสู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืนไม่
พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า จุดอ่อนของฝ่ายรัฐคือเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ไม่เคยย้อนกลับไปตรวจสอบจริงๆ ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่
"อย่างการยิงครู ต้องย้อนไปดูแต่ละเหตุการณ์ว่าเกิดจากอะไร ด้วยการถามคำถามว่าทำไม แล้วก็หาคำตอบให้ได้ เช่น ทำไมต้องยิงครูโรงเรียนนี้ ยิงแล้วใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ถ้ายิงผู้อำนวยการโรงเรียน หลังจากนั้นใครขึ้นเป็นผู้อำนวยการแทน ช่วงที่ยิงครูมีสถานการณ์แวดล้อมอื่นอะไรบ้าง มีการปิดล้อมตรวจค้นหรือเปล่า มีการจับน้ำมันเถื่อนล็อตใหญ่หรือเปล่า ถ้าหาคำตอบเหล่านี้ได้ ก็จะไขความจริงของแต่ละเหตุการณ์ได้ว่าเกิดจากอะไร การแก้ไขปัญหาก็จะถูกต้อง และไม่สร้างเงื่อนไขใหม่"
พล.ท.สำเร็จ กล่าวอีกว่า การค้นหาความจริงของแต่ละเหตุการณ์ ไม่ใช่ต้องการโจมตีฝ่ายใด เช่น ถ้าพบว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนทำ ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่จะต้องไปพูดให้ชาวบ้านเกลียดขบวนการ เพราะชาวบ้านไม่เกลียดอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็จะได้ชี้ให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เห็นว่าความจริงของเรื่องนี้คืออะไร ใครเป็นผู้ก่อเหตุ เพื่อให้ความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่กลับคืนมา
ข้อเสนอของ พล.ท.สำเร็จ ดูจะเป็นข้อเสนอสำหรับยุติความเคลือบแคลงและแก้ปมเงื่อนทางความรู้สึกเฉพาะหน้า เฉพาะเหตุการณ์ แต่แนวทางเช่นนี้มีความสำคัญไม่แพ้กันหากต้องการขจัดเงื่อนไขในภาพรวม
ในห้วงที่ "เวทีพูดคุยสันติภาพ" เปิดขึ้นทั่วไปตามนโยบายของ สมช. แทบทุกเวทีสรุปตรงกันว่า "เงื่อนไข" หรือ "ข้อเรียกร้อง" จากในพื้นที่วันนี้มี 4 เรื่องหลักๆ คือ
1.เรื่องความเป็นธรรม ด้วยการยกเลิกหรือลดการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) กับกฎอัยการศึก
2.เรื่องอัตลักษณ์ ด้วยการยกระดับให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานและใช้ในการเรียนการสอนหลักสูตรสายสามัญควบคู่กับภาษาไทย
3.เรื่องคดีความ ด้วยการยกเลิก "บัญชีดำ" หรือ "แบล็คลิสต์" ผู้ต้องสงสัยที่ไม่มีหลักฐานดำเนินคดี เพื่อให้คนเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ
4.เรื่องการปกครอง ด้วยการพิจารณารูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือเขตปกครองพิเศษ
ฉะนั้นจึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องตั้งประเด็นหรือเปิดพื้นที่พูดคุยในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อหาทางจัดการปัญหาที่ต้นเหตุแทนการใช้กำลังทหาร ตำรวจ ค้ำยันสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ท่ามกลางความสูญเสียของพี่น้องกำลังพลและประชาชนผู้บริสุทธิ์รายวัน
ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องทำได้ทั้งหมด เพราะหลายเสียงบอกว่า แค่ทำได้บางข้อ หรือริเริ่มคิดและทำอย่างจริงจัง ก็จะสะท้อนความจริงใจของรัฐ และน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โรงอาหารในโรงเรียนบ้านบาโง ต.ปานัน อ.มายอ จ.ปัตตานี ที่คนร้ายบุกยิงครูเสียชีวิต 2 ราย เมื่อ 11 ธ.ค.2555