ธ.โลกแนะรัฐไทยกระจายงบชนบท นักวิชาการชี้เกษตรยุคใหม่ต้องเข้าสู่ ศก.สีเขียว
เวิลด์แบงค์ชี้สินค้าเกษตรราคาตกตาม ศก.โลก แนะรัฐกระจายความเท่าเทียมสู่ชนบท นักวิชาการมองเกษตรกรไทยต้องอัพเกรดสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียว รองรับแนวโน้มผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม
วันที่ 17 ธ.ค. 55 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) จัดงานอภิปราย ‘ทิศทางเกษตรไทยยุค 4Gs’ โดย 4Gs หมายถึง เศรษฐกิจโลก (Global Economy) การเติบโตของเศรษฐกิจ (Growth of Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และคนรากหญ้า (Grass Roots)
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกปัจจุบันชะลอตัวและขยายตัวช้าลง โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ จากข้อมูลธนาคารโลกพบว่าภาวะดังกล่าวส่งผลให้สินค้าเกษตรหลัก เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล ยาง น้ำมันปาล์ม และกุ้ง มีแนวโน้มราคาตกต่ำ ขณะที่การแข่งขันจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อความเสี่ยงภาคเกษตรของไทยคือทำให้การส่งออกชะลอตัว อย่างไรก็ดีแนวโน้มราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงก่อผลดีต่อการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตภาคเกษตรไทยด้วย
โดยในปี 2573 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องมาจากการขยายตัวของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น โดยประชาชนมีแนวโน้มต้องการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจึงต้องส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคส่วนใหญ่ของโลก นอกจากนี้ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกซึ่งมีแนวโน้มจะผลิตสินค้าราคาถูกลง โดยต้องเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการลดความไม่เท่าเทียมของรายได้และโอกาสระหว่างชนชั้น
อย่างไรก็ดีพบว่าที่ผ่านมาการใช้จ่ายของภาครัฐยังไม่เท่าเทียม โดยมีค่าใช้จ่ายรายหัวต่อประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานต่ำกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นเงินจำนวน 100 บาทที่รัฐใช้ พบว่าเงิน 42 บาทถูกจ่ายให้คนกรุงเทพฯ ซึ่งมีสัดส่วนประชากรอยู่ที่ร้อยละ 17 ของประชากรทั้งประเทศ, จ่ายให้คนภาคเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนประชากรร้อยละ 18 เพียง 7 บาทและ 6 บาทจ่ายให้คนภาคอีสานซึ่งมีสัดส่วนประชากรมากถึงร้อยละ 34 ดังนั้นรัฐควรกระจายการใช้งบประมาณเพื่อให้บริการสาธารณสุขมูลฐานไปยังชนบทอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตามในช่วง 5 ปีที่ผ่านพบว่าสัดส่วนของคนจนในประเทศลดลงจากร้อยละ 18 เหลือไม่ถึงร้อยละ 8 ในปัจจุบัน
นอกจากนี้จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ปี 2553 พบว่าสัดส่วนการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมของไทยอยู่ที่ร้อยละ 14.7 โดยคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีร้อยละ 40.2 ภาคบริการมีสัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 47.3 สัดส่วนจีดีพีร้อยละ 46 ขณะที่สัดส่วนการจ้างงานของภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 47.3 แต่กลับมีสัดส่วนจีดีพีเพียงร้อยละ 8.2 จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาและส่งเสริมทักษะแรงงานภาคเกษตรให้สามารถปรับตัวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่การผลิตมีประสิทธิภาพสูงให้มากขึ้น
ด้านดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยงธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกว่า โครงสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีความผิดปกติ เนื่องจากมีการลงทุนที่เกินความจำเป็นทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตในช่วงระยะเวลาสั้นๆและจะชะลอตัวระยะยาว ขณะที่สหภาพยุโรปมีสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าวิกฤตกรีซยังเรื้อรังเนื่องจากนโยบายปรับลดหนี้สาธารณะยังไม่ได้ผล ด้านเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้นแม้จะมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ
โดยปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมหาอำนาจนี้ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจของไทยในปี 2556 เติบโตได้ช้า โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกและนำเข้าจะยังชะลอตัวอยู่มาก ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ประมาณ 30.25-30.75 บาทต่อเหรียญดอลล่าสหรัฐ ทั้งนี้คาดว่าสินค้าเกษตรไทยที่เกี่ยวโยงกับราคาน้ำมันในตลาดโลกเช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา จะมีแนวโน้มราคาที่ไม่สูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและสหรัฐอเมริกาจะลดการนำเข้าน้ำมันในอนาคตข้างหน้าโดยหันมาผลิตก๊าซแทน ขณะที่สินค้าอาหารการเกษตรทั่วไป เช่น ข้าว ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ดีเนื่องจากการเติบโตของชนชั้นกลางทั่วโลกจะทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าเศรษฐกิจสีเขียวเป็นแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ และอาจนำไปสู่เงื่อนไขทางการค้าตลาดโลกในอนาคต สำหรับแนวทางเศรษฐกิจสีเขียวของไทยอยู่ในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์และเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมองว่าไทยจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินประกอบกับส่งเสริมให้ราคาผลผลิตจากการทำเกษตรแบบยั่งยืนในสูงกว่าราคาสินค้าเกษตรทั่วไปเพื่อสร้างแรงจูงใจและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น