“เสรี” ประเมินผล 1 ปี งบจัดการน้ำ ห่วงยิ่งทำ ยิ่งท่วม!
"เสรี" ตรวจงานงบฯ 1.2 แสนล้านจัดการน้ำประเทศ เผยไม่มีการประเมินผลขุดลอก-สร้างคันกั้นน้ำ ห่วงกลายเป็นท่อส่งน้ำลง กทม. คาดปีหน้าไทยร้อน-แล้งครึ่งปี
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการใช้จ่ายงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบกลางของรัฐบาล ภายใต้โครงการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ให้กระทรวงต่างๆ ไปดำเนินการ สนับสนุน ฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายจากอุทกภัยในแต่ละจังหวัดนั้น ส่วนใหญ่มีแต่ขุดลอกกับสร้างผนังกั้นน้ำ
"ข้อมูลการดำเนินงานภายใต้โครงการ 1.2 แสนล้านบาท ขณะนี้ไม่รู้ว่า ทำตรงไหนบ้าง ข้อมูลที่ปรากฏ มีแต่ขุดลอก กับสร้างผนังกั้นน้ำ ซึ่งเป็นแผนเชิงโครงสร้างที่ทำไปแล้วมีแต่เกิดความเสี่ยงกับกรุงเทพฯ มากขึ้น เนื่องจากไม่มีการประเมินภาพรวม ว่า การสร้างที่จะเกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง รวมทั้งบอกให้ประชาชนรับรู้ เช่น บางโครงสร้าง หากประเมินผลแล้วพบว่าจะส่งผลกระทบให้พื้นที่น้ำท่วมเดิมท่วมเพิ่มสูงขึ้นกี่เซนติเมตร โดยหากกระทบรุนแรงก็ต้องระงับบางโครงการ" รศ.ดร.เสรี กล่าว และว่า โดยหลักการจัดการน้ำต้องหาที่ให้น้ำอยู่ แต่ไม่ใช่ที่เชิงสูง หรือทำตามแนวสูง แต่ขณะนี้พื้นที่เหนือน้ำ ต้นน้ำยังไม่ได้ทำอะไรเลย นี่เป็นสิ่งที่เป็นกังวล
ในส่วนงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท สำหรับการวางโครงสร้างบริหารจัดการน้ำในระยะยาวนั้น รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า เนื่องจากตนอยู่ในคณะกรมการนโยบาย จึงไม่ทราบในทางปฏิบัติมากนัก แต่เท่าที่ทราบยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจนว่า รัฐบาลจะทำอะไร อย่างไรบ้าง ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทำอะไรได้บ้างหรือจะทำให้สถานการณ์แย่ไปกว่าเดิมหรือไม่
ทั้งนี้ รศ.ดร.เสรี กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในปีหน้าจะร้ายแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าแผนของรัฐบาลจะทำเสร็จเร็วขนาดไหน แต่ภาพที่มองเห็น คือ การสร้างคันกั้นน้ำจะกลายเป็นเหมือนท่อส่งน้ำตรงลงมาสู่กรุงเทพฯ ในทันที นี่คือผลที่เกิดจากการไม่ประเมินแผนในภาพรวม ไม่มีหน่วยงานประเมินว่าแผนที่จะดำเนินการนั้นคุ้มหรือไม่ ขณะนี้กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว จับไปตรงไหนก็มีปัญหา
รศ.ดร.เสรี เปิดข้อมูลสถิติพร้อมคาดการณ์สถานการณ์ในปี 2556 โดยกล่าวเริ่มสั้นๆ ว่า "ปีหน้าร้อนแน่"
"ปีหน้าจะมีเป็นปีเอลนินโญ่แบบอ่อนๆ เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ ไปจนถึงมกราคม 2556 ที่อุณหภูมิเริ่มจะสูงขึ้น ฉะนั้น จึงเป็นปีที่ไม่ต้องซื้อเสื้อกันหนาว เนื่องจากจะร้อนและแล้งไปจนถึงกลางหน้า ฝนจะกลับมาตกอีกครั้งประมาณเดือนมิถุนายน ที่น่าเป็นห่วง คือ เกษตรกรปลูกข้าวจะขาดน้ำ ต้องปลูกกันแบบเสี่ยงตาย"
รศ.ดร.เสรี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ คือ "พายุ" ที่โดยเฉลี่ยจะเกิดขึ้น 31 ลูกในแต่ละปี แต่ไม่น่ากลัวเท่าใดนัก มีเพียง 2-4% ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และในปีนี้คิดว่าประเทศไทยอยากได้พายุ เพื่อมาเติมน้ำที่เขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งแล้งจากปีที่ผ่านมา
"บทเรียนจากปีที่ผ่านมาสอนว่า อย่ากลัวน้ำท่วมมากเกินไปจนปล่อยน้ำทิ้ง"
ในส่วนการบริหารจัดการน้ำ รศ.ดร.เสรี ยกตัวอย่างการบริหารจัดการของประเทศญี่ปุ่น ที่เลือกซื้อสิทธิพื้นที่ริมน้ำ 30 เท่าของคันกั้นน้ำ มาพัฒนาเป็นพื้นที่พักน้ำ แต่ประเทศไทย เลือกที่จะให้งบประมาณชุมชนละ 200 ล้านบาท เพื่อสร้างคันกั้นน้ำ ที่เป็นระบบปิดกั้นน้ำ ถามว่าประเทศไทยจะ "เอาอยู่" กันแบบ "ปรับตัว" หรือ "สู้" เชิญเลือกตามสบาย...
ท้ายสุดนี้ อยากเน้นย้ำว่า ไม่มีคำว่า "เอาอยู่" ในการจัดการภัยพิบัติ!!