นักสิทธิฯ เด็กชี้สิทธิเด็กชนบทด้อยกว่าเมือง-'เสื้อแดง' วางพวงหรีดคกก.สิทธิฯ
สถาบันอิศราคว้าสื่อดีเด่นจาก 11 สาขาสิทธิมนุษยชนไทย DSW จี้รัฐเลิก 3 กฎหมายคลี่คลายความรุนแรงชายแดนใต้ เยาวชนชี้สิทธิฯ เด็กชนบทด้อยกว่าเมือง ‘เสื้อแดง’ ป่วนวางพวงหรีดคกก.สิทธิฯ
วันที่ 17 ธ.ค. 55 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2555 โดยผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ ‘ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน’ บุคคลชาย ได้แก่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี บุคคลหญิง ได้แก่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และนางสายสุรี จุติกุล
ส่วนบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ได้แก่ 1.ประเภทบุคคลชาย ได้แก่ นายวีระ สมความคิด 2.ประเภทบุคคลหญิง ได้แก่ นางสาวอรุณี ศรีโต 3.ประเภทเด็กและเยาวชนชาย ได้แก่ นายพีรพล บงค์บุตร 4. ประเภทเด็กและเยาวชนหญิง ได้แก่ นางสาวมินตรา จันทร์นวล 5. ประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชน ได้แก่ นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ 6.ประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนชาย ได้แก่ นายเสด็จ เขียวแดง 7.ประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนหญิง ได้แก่ นางเกษร ศรีอุทิศ 8.ประเภทองค์กรภาครัฐ ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน 9.ประเภทองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน 10.ประเภทองค์กรสื่อสารมวลชนหรือรายการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สถาบันอิศรา
นอกจากนี้ภายในงานยังจัดสัมมนา ‘เมื่อถูกละเมิดสิทธิ ความจริงต้องปรากฏ งดย่ำยีผู้เสียหาย’ โดยนายบุรฮันนุดีน สมะยี ผู้แทนศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวว่า การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457, พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ไม่สามารถทำให้สถานการณ์รุนแรงน้อยลงได้ โดยจากการติดตามของศูนย์เฝ้าระวังฯ พบความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการใช้กฎหมายมิได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิชาวบ้านในท้องถิ่น ดังนั้นรัฐบาลควรยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าวทั้งหมด แล้วหันมาแก้ปัญหาโดยอาศัยความเข้าใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน
ด้านนายนที ธีระโรจนพงษ์ แกนนำเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศ กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนในโลกนี้มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ สาวประเภทสอง ทอม หรือดี้ ซึ่งตนจะยืนหยัดเรียกร้องสิทธิทุกเรื่องที่กลุ่มหลากหลายทางเพศไม่ได้รับสิทธิพึงมี ไม่ว่าจะเป็นกรณีสด. 43 เขียนว่า ใครที่มีลักษณะเป็นตุ๊ดเป็นแต๊วจะบันทึกว่าเป็นโรคจิต จนเกิดการเรียกร้องหลายปีผ่านมาและถูกเปลี่ยนเป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ และจะเรียกร้องให้เกิดกฎหมายการสมรสได้ระหว่างเพศเดียวกัน เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพ
ทั้งนี้ ‘ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา’ สัมภาษณ์นายพีรพล บงค์บุตร ผู้ได้รับรางวัลสาขาเด็กและเยาวชนชาย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารยังไม่ได้รับการใส่ใจจากภาครัฐและเอกชนมากนัก เช่น ชุมชนในจ.เลยที่ตนทำงานด้วยยังพบเด็กและเยาวชนหลายคนขาดแคลนทุนทรัพย์และการศึกษา ดังนั้นวิงวอนให้ภาครัฐและเอกชนเร่งช่วยเหลือโดยด่วนก่อนที่ปัญหาจะขยายวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อประเมินการทำงานของรัฐบาลด้านสิทธิเด็กและเยาวชนปรากฎว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ด้านน.ส.มินตรา จันทร์นวล ผู้ได้รับรางวัลสาขาเด็กและเยาวชนหญิง กล่าวว่า ตนได้ขับเคลื่อนด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาและชุมชนใกล้เคียง จนสามารถสร้างเครือข่ายเยาวชนพลยุติธรรมขึ้น ทั้งนี้ในมุมมองเห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยเริ่มเสื่อมโทรมจากนโยบายภาครัฐที่มุ่งพัฒนาด้านวัตถุ โดยเฉพาะการพยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่โดนต่อต้านจากชาวบ้านทุกพื้นที่ รวมถึงจ.กาฬสินธุ์ที่ตนอาศัยอยู่ด้วย เพราะแม้จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบไฟฟ้าของชาติ แต่ทางกลับกันหวั่นว่าหากเกิดภัยพิบัติอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ จึงเสนอให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด้านหน้าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กลุ่มสมัชชาประชาธิปไตยแห่งประเทศไทยได้มอบพวงหรีดให้แก่ ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิฯ ขณะเดียวกันเครือข่ายเสรีราษฎร ภายใต้การนำของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมลเกด อัคฮาด ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง และกลุ่มญาติวีรชนปี 53 ได้จัดนิทรรศการโจมตีการทำงานของคกก.สิทธิฯ โดยระบุว่า เราไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับหน่วยงานต่าง ๆ ให้สืบสวนคดีให้เสร็จโดยเร็วได้ แต่พอเกิดขึ้นกับม็อบเสธ.อ้ายที่ผ่านมา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ กลับออกมาบอกว่าคกก.สิทธิฯ มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเรียกร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้าชี้แจงตามกฎหมาย แต่เมื่อตนออกมาเรียกร้องถามความคืบหน้าการสืบสวนคดีกลับได้รับคำตอบจากศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิฯ ว่าไม่มีอำนาจเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง
“ดิฉันเป็นแม่ มาถามว่าคดีไปถึงไหน เอาแค่ลูกฉันคนเดียว ไม่พูดถึงศพอื่น คุณอมราบอกกับฉันว่าไม่มีอำนาจ แต่พอม็อบนี้โดนแก๊สน้ำตา นพ.นิรันดร์ออกมาพูดเลยว่าผมมีอำนาจ แล้วตกลงใครโกหก”
ด้านศ.อมรา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คกก.สิทธิฯ ไม่ยอมรับว่าดำเนินงานการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองสองมาตรฐานตามที่ผู้ประท้วงกล่าวหา อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าอาจเกิดความเข้าใจผิดในการรับข้อมูลข่าวสาร ทั้งยืนยันไม่เคยพูดว่าไม่มีอำนาจ แต่คงไม่แก้ตัว เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเสียเวลา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :http://bit.ly/T1XEg5