ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ส่องไฟสู่หลุมดำ “เอฟทีเอ”
การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือความท้าทายของเครือข่ายภาคประชาสังคม และบทพิสูจน์ความทะนงของรัฐบาลในฐานะผู้กำหนดทิศทางของประเทศ
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดไฟเขียวเข้าร่วมการเจรจา
ข้อเคลือบแคลงที่ตามมาคือรัฐบาล “หมกเม็ด” อะไรไว้ในมติเห็นชอบนี้หรือไม่?
เกิดเป็นคำถาม การเห็นชอบดังกล่าวเป็นการเห็นชอบใน “ท่าที” ของประเทศไทย ที่จะเข้าร่วมการเจรจาเท่านั้น หรือเป็นการเห็นชอบ “ร่างกรอบการเจรจา” กันแน่
นั่นเพราะ วันดังกล่าว นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงชัด ครม.เห็นชอบ “ร่างกรอบการเจรจา” โดยมีสาระสำคัญครอบคลุม 17 ประเด็น
ถัดมาอีกเพียง 4 วัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.กระทรวงสาธารณสุข กลับบอกว่า ครม.เห็นชอบเพียง “ท่าที” เข้าร่วมการเจรจาเท่านั้น
ที่สำคัญตามหลักการแล้ว จะต้องนำร่างกรอบการเจรจาฯ เข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ก่อน แล้วจึงเสนอ ครม.เพื่อขอความเห็นชอบได้ นั่นหมายความว่าหากครม.เห็นชอบเฉพาะ “ท่าที” จะไม่มีปัญหา
แต่หากเห็นชอบ “ร่างกรอบการเจรจา” อาจเข้าข่ายกระทำผิดมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ !
“ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ากรอบการเจรจาฯ ผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้วหรือไม่ หรือประเด็นการเจรจาทั้ง 17 ประเด็น ผ่านการรับฟังความคิดเห็นหรือยัง หากยังก็นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ไม่ได้” น.ส.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุไว้อย่างชัดเจน
ในระหว่างที่ขั้นตอนยังคลุมเครือ “ทีมข่าวอิศรา” มีโอกาสได้รับฟังทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้าน FTA และการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP)
นายเจอเรมี มัลคอล์ม (Jelemy Malcolm) นักรณรงค์ระดับโลกจากองค์กรผู้บริโภคสากล คือผู้เชี่ยวชาญที่ได้กล่าวถึง
ด้วยประสบการณ์ทำงานใน 40 ประเทศ นายมัลคอล์ม วิพากษ์ประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมาว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการตัดสินใจครั้งสำคัญ ว่าจะเข้าร่วมเจรจา FTA ไทย-อียู และ TPP หรือไม่ หากเข้าร่วมปัญหาที่ตามมา โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะรุนแรงอย่างแน่นอน
นายมัลคอล์ม อธิบายว่า ประชาชนของประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาใหญ่คือการ “เข้าไม่ถึงความรู้” เนื่องจากมีกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นกำแพงกั้น
อธิบายโดยง่ายก็คือ ในประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้มข้นเกินความพอดี “ข้อมูลที่จำเป็น” มักจะถูก “ผูกขาด” ไว้ที่ใครคนใด หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ท้ายที่สุดประชาชนทั้งประเทศก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเหล่านั้น ได้ นำไปสู่การพัฒนาที่เชื่องช้าและความไม่เสมอภาคในสังคม
“ประเทศไทยอยู่ในลำดับท้ายๆ ของการเข้าถึงความรู้ โดยการสำรวจล่าสุดใน 40 ประเทศ พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 37” นายมัลคอล์มระบุ
นักรณรงค์ระดับโลกรายนี้ ให้ภาพว่า ที่ผ่านมาการเจรจา FTA เป็นไปอย่างเปิดเผย มีการหารือเพื่อแสวงหาข้อตกลงร่วมที่แท้จริง แต่ภายหลังปี 1994 เป็นต้นมา องค์การการค้าโลกกำหนดความตกลงระหว่างประเทศที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ขึ้นมา และมีการนำ TRIPS เข้าสู่โต๊ะเจรจา
กล่าวคือ ตั้งแต่นั้นมาหากประเทศใดไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับ TRIPS ก็จะถูกกดดันผ่านมาตรการไม่ให้ความช่วยเหลือด้านการค้า
นอกจากนี้ ในการเจรจาครั้งที่ผ่านๆ มา มีการนำข้อตกลงการต่อต้านสินค้าปลอมแปลง (ACTA) เข้ามาเป็นเงื่อนไขหนึ่งบนโต๊ะเจรจา แม้ว่าจนถึงปัจจุบันจะมี 8 ประเทศที่ให้การยอมรับและลงนามใน ACTA แล้ว แต่ทว่ากลับไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่า เนื้อหาของ ACTA เป็นอย่างไร
รู้เพียงว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นมาตรการเข้มข้นเพื่อผูกขาดสินค้าให้กับผู้ผลิตเท่านั้น
ดังจะเห็นได้ว่า ACTA FTA และ TPP มีความคล้ายคลึงกันอยู่ โดยเฉพาะความคล้ายคลึงที่แหลมคมนั่นก็คือความพยายามปกปิด “กรอบการเจรจา” ให้เป็นความลับ
นายมัลคอล์ม เล่าว่า การเจรจา TPP ครั้งล่าสุดที่ประเทศนิวซิแลนด์ (New Zealand) มีกรอบการเจรจาทั้งสิ้น 30 เรื่อง แต่หลุดรอดออกมาสู่สาธารณชนเพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ 1.สิทธิบัตรยา 2.ลิขสิทธิ์ทางคอมพิวเตอร์-อินเตอร์เน็ต
ความร้ายกาจของกรอบเจรจาดังกล่าว โดยเฉพาะ “เรื่องสิทธิบัตรยา” คือการยินยอมให้เกิดการจดสิทธิบัตรในรูปแบบใหม่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดสิทธิบัตรไปตลอดกาล
ยกตัวอย่างเช่น ยาแอสไพริน เดิมคิดค้นมาเพื่อรักษาบรรเทาอาการปวด ตรงนี้บริษัทผู้คิดค้นก็ได้รับสิทธิบัตร 1 ชิ้น ครอบคลุม 20 ปี จากนั้นกลับมีการค้นพบอีกว่ายาแอสไพรินตัวเดิมนี้ สามารถรักษาโรคหัวใจได้ ใน TPP ก็กำหนดไว้ว่าสามารถยอมให้มีการจดสิทธิบัตรซ้ำได้อีกรอบ นั่นคืออาจได้ต่อไปอีก 20 ปี
“ปกติแล้วเมื่อครบระยะเวลาที่สิทธิบัตรครอบคลุมคือ 20 ปีแล้ว คนอื่นก็สามารถจะผลิตยาชนิดเดียวกันขึ้นมาได้ นั่นหมายถึงยาก็จะมีราคาถูกลง ประชาชนก็จะเข้าถึงยามากยิ่งขึ้น แต่ในทีพีพีกลับเขียนไว้ให้คู่สัญญายอมรับว่าประชาชนไม่มีสิทธิในการฟ้อง เพื่อร้องขอให้ยกเลิกสิทธิบัตรได้” นายมัลคอล์มกล่าว
นอกจากนี้ TPP ยังมีการคุ้มครองข้อมูลอย่างเข้มข้น เช่น หากผลิตยาชนิดใหม่ได้โดยมีรากฐานมาจากข้อมูลตั้งต้นตัวเก่าก็จะไม่สามารถจด สิทธิบัตรได้ คือกรอบการเจรจาฯ บังคับว่าห้ามนำข้อมูลเก่ามาจดสิทธิบัตร นั่นหมายถึงหากอยากจดสิทธิบัตรให้กับยาชนิดใหม่ ก็ต้องกลับไปทำวิจัยเองตั้งแต่ต้น งบประมาณก็จะมหาศาล
“ท้ายที่สุดราคายาก็จะแพงยิ่งขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือบริษัทยา เพราะการขยายสิทธิบัตรครั้งนี้จากเดิมที่คุ้มครอง 20 ปี อย่างน้อยจะยืดออกไปอีก 5 ปี” ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียเปรียบ
สำหรับลิขสิทธิ์ทางคอมพิวเตอร์-อินเตอร์เน็ต อธิบายโดยง่ายคือ เมื่อโปรแกรมหนึ่งจดลิขสิทธิ์ไว้ในประเทศหนึ่ง หากนำไปเล่นในประเทศอื่นก็จะผิดกฎหมาย ดังนั้นสัญญาจึงเขียนไว้ชัดว่าประเทศคู่สัญญาต้องห้ามนำเข้าสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ของ TRIPS
“กฎข้อนี้คือหากเราไปดาวน์โหลดอะไรจากต่างประเทศก็มีความผิด ทั้งๆ ที่บางอย่างควรเป็นข้อมูลสาธารณะ ให้เห็นภาพโดยง่ายคือนักศึกษาอยากไปดาวน์โหลดตำราต่างประเทศมาอ่านก็ไม่ได้ แล้ว หรือจะไปถ่ายเอกสารตำราก็ไม่ได้เข่นกัน ทุกอย่างมีความผิดและมีโทษที่รุนแรงมาก แน่นอนว่าการเข้าถึงข้อมูลก็จะไม่เกิด” นายมัลคอล์มระบุ
เขาบอกว่า ภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าวได้เปิดช่องให้บริษัทเอกชนและอุตสาหกรรมสามารถฟ้องร้องรัฐบาลของแต่ละประเทศได้ เช่น ในประเทศออสเตรเลีย (Australia) มีการออกกฎหมายควบคุมซองบุหรี่ คือห้ามโฆษณาหรือดึงดูดให้คนอยากบริโภค กฎหมายดังกล่าวทำให้บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่เสียผลประโยชน์ เมื่อเกิดความไม่พอใจก็มาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอาจากรัฐบาล
ท้ายที่สุด กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลียก็ใช้ไม่ได้ เพราะเมื่อทำให้บริษัทเอกชนเสียประโยชน์ ขาดกำไร ก็จะถูกฟ้องร้อง ประเด็นนี้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่าง
“ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐอเมริกาต้องการเจรจาด้วย ทว่าประเทศไทยกลับส่งสัญญาณเพื่อขอเข้าร่วมเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วคาดการณ์ว่าภายในปี 2556 หลังเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยก็อาจถูกบีบ” ตัวแทนจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสากลกล่าวด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ
เขาสรุปว่า ข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน TPP และ FTA ส่วนใหญ่ได้จำกัดอธิปไตยในการตัดสินใจด้านนโยบายทางทรัพย์สินทางปัญญาและนโยบายสุขภาพ และหากประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจาจริงๆ แน่นอนว่าต้องยอมทุกข้อเรียกร้องจากต่างชาติ ดังนั้นประเทศไทยควรให้น้ำหนักไปที่การเจรจาอาเซียนบวกหก ซึ่งไม่มีประเด็น TRIPS มากกว่า
ในเมื่อ TPP และ FTA มีเนื้อหาที่ไม่หนีกันสักเท่าไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจึงเป็นภาพสะท้อนถึงอนาคตอันใกล้ของประเทศไทย