คาดเศรษฐกิจเกษตรปี56 ขยายตัวถึง 4.5% ห่วงไข่ไก่ราคาตก-ภัยแล้งหนัก
กษ.เผยภาวะ ศก.เกษตรปี55 ขยายตัว 3.5-4% คาดเพิ่มเล็กน้อยปี56 ห่วงไข่ไก่ราคาตก-ภัยแล้งยังหนัก เตรียมขุด 8 หมื่นสระ-3 พันบ่อบาดาลกระจายสู่ชุมชน
วันที่ 17 ธ.ค. 55 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ประมาณการอัตราการเติบโตของภาคเกษตรในปี 2555 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรโดยทั่วไปกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังอุทกภัยใหญ่ปลายปี 2554 โดยพบว่า สาขาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลไม้ ซึ่งผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคา ขณะที่ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง มีผลผลิตลดลง
ราคาสินค้าพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สำหรับยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ มีราคาลดลง โดยราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ลดลงตามวิกฤติเศรษฐกิจโลก ด้านการส่งออก มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งผลไม้ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปาล์ม และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลง โดยเฉพาะข้าวที่ผู้นำเข้าหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามและอินเดียที่ราคาถูกกว่าไทย
สาขาปศุสัตว์ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยภาวะการผลิตปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2554 โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เพราะความต้องการบริโภคเนื้อไก่จากตลาดต่างประเทศสูงขึ้นจากการที่สหภาพยุโรปยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อไก่สดจากไทยตั้งแต่ก.ค.55 ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์สำคัญที่ลดลง ได้แก่ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และสุกร เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก ขณะที่ราคาน้ำนมดิบสูงขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากคุณภาพดีขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.9 เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรทดแทนการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น เช่น การปลูกข้าว และอ้อยโรงงาน และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากปริมาณไม้ยางพาราท่อนที่เพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรตัดโค่นต้นยางในพื้นที่สวนยางพาราเก่าอายุ 30 ปี จำนวน 500,000 ไร่ ระหว่างปี 2555-2556 เพื่อปลูกทดแทนใหม่ด้วยยางพันธุ์ดีและเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคายางในประเทศ
โดยสาขาที่ลดลง คือ สาขาประมง ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2554 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงลดลง เนื่องจากราคากุ้งไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต อันเป็นผลมาจากยอดการสั่งซื้อจากตลาดหลักในต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกาลดลง อีกทั้งพื้นที่เลี้ยงในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออก ประสบปัญหาโรคกุ้งตายก่อนวัยอันควร (Early Mortality Syndrome: EMS) โดยผลผลิตประมงน้ำจืดที่สำคัญ คือ ปลานิล มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากแหล่งผลิตปลานิลที่สำคัญประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน สำหรับมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลา ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ ส่วนมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ลดลง เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่ลดลงของตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 ว่า มีปัจจัยมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะภัยแล้ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งคาดว่าจะไม่ผันผวนมากนัก และไม่กระทบต้นทุนการเกษตรเท่าใด ดังนั้นสถานการณ์การเศรษฐกิจเกษตรในปีหน้าจึงยังคงมีแนวโน้มที่ดี
โดย สาขาพืช มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 โดยพืชสำคัญหลายชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและราคาผลผลิตมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี55 สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8 เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการผลิต มีการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม และเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคาไก่เนื้อ สุกร จะปรับสูงขึ้น ขณะที่ราคาไข่ไก่และน้ำนมดิบมีแนวโน้มทรงตัว ด้านสาขาประมง มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.2) - 0.8 เนื่องจากการผลิตประมงน้ำจืดและประมงทะเล ยังอยู่ในภาวะทรงตัว ทั้งนี้คาดว่าราคาอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 และ สาขาป่าไม้ ในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับราคาสินค้าเกษตรที่น่าเป็นห่วงในปีหน้า คือ ไข่ไก่ ซึ่งจะมีผลผลิตมากทำให้ราคาต่ำโดยจะต้องมีการหารือเพื่อแก้ปัญหาและวางแผนปริมาณการนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ โดยคาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 7 แสนตัว
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีหน้า คาดว่าจะประสบภาวะวิกฤตมากพอสมควรแต่คงไม่รุนแรงไปกว่าปี 2555 เนื่องจากกษ.และกรมชลประทานได้เตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อประคองสถานการณ์ในพื้นที่ชลประทานไว้ถึงเดือนเมษายน โดยจะมีการขุดสระน้ำเพิ่ม 80,000 สระ กระจายสู่แหล่งชุมชน ด้านกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมแผนการเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำมาใช้ในการเกษตรในภาวะวิกฤตอีก 3,000 บ่อ โดยพื้นที่ที่ยังมีความเสี่ยงวิกฤตภัยแล้งยังคงกระจายตัวอยู่ที่ภาคอีสานและภาคกลางเป็นส่วนใหญ่