15 ชุมชนฝั่งธนฯ หนุนกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฉบับประชาชน ต่อลมหายใจสื่อพื้นบ้าน
สสส.-15 ชุมชนฝั่งธนฯ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นท่ามกลางสังคมทุนนิยม หลังถูกคนรุ่นใหม่ทิ้งร้าง-รัฐละเลย หวังเป็นเกราะคุ้มภัยเด็ก หวังร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯฉบับ ปชช.ต่อลมหายใจสื่อพื้นบ้าน
วันที่ 15ธ.ค.55 ที่วัดโพธิ์เรียง กทม.15 ชุมชนฝั่งธนบุรี ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรม “ตามหาของดีวิถีชุมชนฝั่งธนบุรี :กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฯ(ฉบับประชาชน) ต่อลมหายใจสื่อพื้นบ้าน” เพื่อแสดงพลังและถ่ายทอดวิถีชุมชนที่สืบทอดมากว่าร้อยปี รวมทั้งเป็นย่านชุมชนที่สร้างศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆนับ 10 ท่าน
นายนรินทร์ แป้นประเสริฐ แกนนำชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กล่าวว่าชุมชนฝั่งธนฯ เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ชาวบ้านยังรักษาขนมธรรมเนียมวิถีประเพณีอยู่อย่างเหนียวแน่น แต่ด้วยความเจริญของสังคมเมืองและระบบเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นของประชาชนทำให้วัฒนธรรมประเพณีถูกรุกรานละเลยทั้งจากคนรุ่นใหม่และภาครัฐ ศิลปวัฒนธรรมดีๆหลายอย่างสูญหายตายไปกับปราชญ์ผู้รู้ การจัดงานนี้เพื่อเตือนความทรงจำให้คนในชุมชนร่วมรักษาสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมดีๆไว้ และอยากให้ กทม.และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมอย่างยั่งยืน
นายอนุชา เกื้อจรูญ ปราชญ์ชุมชนและผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า กล่าวว่าประเพณี วัฒนธรรมที่คนโบราณสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวของยุคสมัยและวิถีการดำรงอยู่ของผู้คน ตลอดจนสื่อความถึงจารีตวัฒนธรรมและข้อปฏิบัติของยุคสมัยชุมชนนั้นๆ ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น สื่อพื้นบ้านในชุมชนถูกละเลยขาดการสืบสานต่อ ทั้งๆที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันเด็กเยาวชน ศิลปวัฒนธรรมสามารถจับต้องได้และเข้าถึงเด็กๆ ช่วยป้องกันไม่ให้หลุดไปอยู่ในพื้นที่อโคจรที่เป็นภัย คาดหวังว่า ร่าง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์(ฉบับประชาชน) ที่กำลังเข้าสภาฯ จะเป็นกลไกเครื่องมือสนับสนุนการดำรงอยู่ของสื่อพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรมชุมชนให้ยั่งยืน
ทั้งนี้กิจกรรมในวันนี้ ยังมีการสาธิต เช่น ทำข้าวเม่าโบราณ ตอนต้นไม้ ทำว่าวฐานทำเรือจากกากมะพร้าว ทำม้าก้านกล้วย ฯลฯ .