ถอดหัวใจ"ครูน้อย"ชายแดนใต้ ปิดโรงเรียนไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา
แม้สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีมติให้ปิดการเรียนการสอนโรงเรียนกว่า 1,200 แห่งทั่วพื้นที่ระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.เพื่อกดดันรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงให้ปรับมาตรการคุ้มครองชีวิตครู หลังจากครูถูกปองร้ายจนเสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง และโรงเรียนก็ถูกวางเพลิงเผา
ทว่าในความรู้สึกของครูในพื้นที่ ระดับที่เป็น "ครูน้อย" ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจใดๆ ในสมาพันธ์ครูฯ และอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจรัฐ กลับมองสถานการณ์และวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างออกไป โดยเฉพาะมาตรการปิดโรงเรียน ซึ่งกลุ่มครูน้อยเห็นว่ายิ่งเป็นการเพิ่มปัญหา
ครูสาวจากโรงเรียนบ้านน้ำดำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า เป็นคนปัตตานีโดยกำเนิด สอนหนังสือในพื้นที่มา 7 ปี ช่วงที่เริ่มสอนเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแล้ว จึงรู้สึกกลัวมาตลอด โดยเฉพาะระหว่างการเดินทางไปโรงเรียน และเดินทางกลับบ้าน
"เราก็กลัวมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งมากลัวช่วงนี้ แต่ก็ไม่มีทางเลือก ส่วนระยะหลังที่กลัวมากขึ้นเพราะมีการยิงครูในโรงเรียน เมื่อก่อนเดินทางจากบ้าน พอถึงโรงเรียนก็อุ่นใจ แต่ทุกวันนี้ถึงโรงเรียนแล้วก็ยังไม่สบายใจ เพราะอาจถูกยิงในโรงเรียนได้อีก เหมือนกรณีครูโรงเรียนบ้านบาโง อ.มายอ จ.ปัตตานี"
ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านน้ำดำเพิ่งเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงใส่สามีภรรยาขายอาหารเร่ซึ่งรู้จักกันดีกับครูในโรงเรียน จนภรรยาเสียชีวิต ขณะที่สามีได้รับบาดเจ็บ โดยจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณรั้วโรงเรียน
ครูสาวรายนี้บอกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สังหารคนขายอาหารเร่ ทำให้เธอรู้สึกกลัวมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่คิดย้ายไปไหน และไม่เชื่อว่าแนวทางการย้ายครูไปอยู่รวมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการรักษาชีวิตครู
"ฉันคิดว่าครูอยู่กับชุมชนน่าจะดีกว่า ครูต้องเข้ากับชุมชนให้ได้ มีอะไรชาวบ้านก็จะมาบอก มาเตือน ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ฉันมั่นใจหากอยู่กับชุมชน มั่นใจมากกว่ามาตรการนำครูไปอยู่รวมกัน ที่สำคัญการปิดโรงเรียนชั่วคราวไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น น่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ในการแก้ไขปัญหา"
ครูสาวจากโรงเรียนบ้านน้ำดำ บอกด้วยว่า ตามความรู้สึกเท่าที่สัมผัสมา คิดว่าสถานการณ์ที่ชายแดนใต้เลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม แม้ทางการจะบอกว่าตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงลดลง แต่กับคนในพื้นที่รู้สึกว่าแรงขึ้น เพราะทุกวันนี้ขนาดร้านสะดวกซื้อชื่อดังยังต้องปิด โรงเรียนก็ต้องหยุดพร้อมกันทั้งสามจังหวัด หากไม่แรงขึ้นก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
ครูพรทิพย์ (ขอสงวนนามสกุล) จากโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส กล่าวว่า รู้สึกใจหายและกลัวมากเมื่อทราบข่าวคนร้ายบุกเข้าไปยิงครูถึงในโรงเรียน เพราะเท่ากับพื้นที่ปลอดภัยของครูหมดแล้ว แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนต้องปิดตามคำสั่งของสมาพันธ์ครูฯ อย่างไรก็ดี เพื่อความอยู่รอดก็ต้องกอดคอไปด้วยกัน ถือว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว
"แม้ใจไม่อยากปิดก็ต้องปิด บอกตรงๆ ว่าสงสารเด็กมากที่โรงเรียนต้องปิดเพราะต้องการกดดันเจ้าหน้าที่ การทำแบบนี้เหมือนครูไปลงที่เด็ก ทั้งที่เด็กไม่ได้รู้เรื่องอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย"
"ฉันเชื่อว่าถ้าการดูแลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำอย่างเต็มที่ตามแผนที่วางไว้ และครูเองก็อยู่ในกรอบในระเบียบการ รปภ.ทุกอย่างก็จะไม่เลวร้ายแบบนี้ แต่สภาพความจริงมันไม่ใช่ ทหารที่มา รปภ.ครู มานอนเฝ้าเสาโรงเรียนแล้วโทรศัพท์ทั้งวัน ใครเข้าออกโรงเรียนก็ไม่ได้มีการเช็คหรือเข้าไปสอบถาม กว่าจะรู้ก็เข้าถึงตัวครูแล้ว อย่างนี้จะมาบอกว่าทำหน้าที่อย่างเต็มที่ได้อย่างไร"
ส่วนที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งเดินทางลงพื้นที่ และพบปะหารือกับแกนนำครูนั้น ครูพรทิพย์ กล่าวว่า ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะรู้ว่านายกฯมาเพราะอะไร อย่าไปสนใจจะสบายใจที่สุด ครูไม่ต้องหวังว่าคนระดับไหนจะมาดูแล ครูดูแลตัวเองดีที่สุด ส่วนเรื่องตายอยู่ที่ไหนก็ตาย
"เคยมีครั้งหนึ่ง ครูจากกรุงเทพฯมาสอนอยู่ในพื้นที่ จากนั้นก็หวาดกลัวสถานการณ์ความไม่สงบ จึงได้ทำเรื่องขอย้ายออกไป ทางกระทรวงศึกษาฯก็อนุมัติให้ แล้ววันที่เขาเดินทางขนของกลับบ้าน กลับถูกรถชนเสียชีวิตที่ชลบุรี จากเหตุการณ์ที่เพื่อนครูคนนี้เสียชีวิตทำให้เพื่อนครูอีกหลายคนเอามาคุยกันว่า ความตายมันหนีไม่พ้น ถึงเวลาก็ต้องตาย ฉะนั้นอย่าไปหนีมันเลยดีกว่า"
ขณะที่ ครูพาตีเมาะ (ขอสงวนนามสกุล) จากโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่คนร้ายบุกเข้าไปยิงครูในโรงเรียน ยอมรับว่าทำให้ครูทุกคนกลัวมาก แต่ไม่ถึงขั้นไม่อยากไปสอนหนังสือ การที่มีคำสั่งจากสมาพันธ์ครูฯให้ปิดโรงเรียน ถ้าถามความรู้สึกจริงๆ ไม่อยากปิดเลย เพราะถึงปิดก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย และยังสงสารเด็กด้วย แค่นี้เด็กก็เสียขวัญมากพอแล้ว
เมื่อถามว่า หากได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี จะบอกหรือขออะไรจากนายกฯ ครูพาตีเมาะ กล่าวว่า จะขอให้มีการบรรจุครูที่มีสถานะเป็นพนักงานราชการให้เป็นข้าราชการทั้งหมด อย่างน้อยก็เพื่อขวัญกำลังใจที่ทำเพื่อประเทศชาติ
ครูบุณณดา รักจันทร์ จากโรงเรียนพระราชดำริ "ศูนย์ครูใต้" จังหวัดปัตตานี กล่าวเช่นกันว่า เข้าใจบทบาทของสมาพันธ์ ครูฯเป็นอย่างดี แต่ส่วนตัวไม่อยากให้ปิดโรงเรียน เพราะไม่ได้แก้ปัญหา และจะยิ่งเพิ่มปัญหา เนื่องจากกระทบกระบวนการเรียนการสอน
"เมื่อหยุดบ่อยๆ ครูเองก็สอนไม่ทัน เด็กก็เรียนไม่ทันเหมือนกัน ส่วนมาตรการที่ใช้ ต้องเข้าใจว่าใช้มาตรการเดียวกันทุกพื้นที่ไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่เสี่ยงต่างกัน อย่างโรงเรียนในพื้นที่สีแดงก็ควรปิด แต่นอกพื้นที่สีแดงไม่ควรปิด เพราะการปิดทั้งหมดไม่ได้แก้ปัญหาได้ 100%" ครูบุณณดา กล่าว
นี่คือเสียงจากบางส่วนของครูน้อยชายแดนใต้ ที่แม้ชีวิตจะสุ่มเสี่ยง หวั่นกลัว และหวาดภัยอย่างไร...แต่หัวใจยังสู้อยู่!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โรงเรียนบ้านบาโง ต.ปานัน อ.มายอ จ.ปัตตานี ปิดเงียบคล้ายปิดตาย หลังเกิดเหตุคนร้ายบุกยิงครูเสียชีวิต 2 ศพคาโรงอาหารของโรงเรียนเมื่อวันอังคารที่ 11 ธ.ค. (ภาพโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)