15 ปีวาระเกษตรอินทรีย์ชะงัก เหตุนโยบายรัฐหนุนเคมี
ถก 15 ปีแผนแม่บท‘เกษตรอินทรีย์วาระชาติ’ไม่เคลื่อน เหตุรบ.หนุนบ.ขายปุ๋ยเคมี ชี้ประโยชน์จำนำข้าวไม่ตกชาวนา-ทำลายวิถีเกษตรอินทรีย์
วันที่ 14 ธ.ค. 55 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนา ‘ขบวนการเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชีย มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงหรือ?’ โดยนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวถึงการขบวนการเกษตรอินทรีย์กับการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า วิธีเกษตรอินทรีย์ เป็น 1 ใน 5 รูปแบบของแผน ‘เกษตรกรรรมยั่งยืน’ ซึ่งบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 แต่ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2540 กลับไม่มีรัฐบาลใดสนใจขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น ในปี 2547 รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยระบุว่าจะขับเคลื่อนแนวทางเกษตรอินทรีย์ โดยภายใน 4 ปีจะทำให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ และจะลดการนำเข้าปุ๋ยและยาเคมีให้ได้ร้อยละ 50 แต่ ในปี 2551 พื้นที่เกษตรอินทรีย์กลับมีไม่ถึง 1 แสนไร่ และมีนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 100
โดยเห็นว่าสิ่งที่ขวางกันขบวนการเกษตรอินทรีย์ คือ อิทธิพลของภาคเอกชนที่เชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง ทำให้การโฆษณาปุ๋ยเคมีเพื่อจูงใจเกษตรกรอย่างที่หลายประเทศเพื่อนบ้านสั่งห้าม ยังคงมีมากขึ้น โดยที่รัฐไม่สามารถระงับการนำเข้าได้ อีกทั้งการพัฒนาพันธุ์ต่างๆของภาครัฐยังเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการเพาะปลูกแบบใช้สารเคมีด้วย ฉะนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จึงไม่มีทางเลือกและเคยชินกับการใช้เคมี ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรก็ไม่มีแนวทางสนับสนุนเกษตรอินทรีย์เพราะจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ย ยา เครื่องกลและวัตถุดิบจากบริษัทตน ทั้งที่ความจริงแล้วหากเกษตรกรรู้จักพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูกที่เหมาะสม เช่น การพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ไม่ต้องพึ่งเคมีได้ ผลผลิตที่ได้จะไม่น้อยไปกว่าการทำเกษตรเคมีทั้งยังมีต้นทุนต่ำกว่ามาก
“เกษตรอินทรีย์นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง แต่ต้องถามว่ารัฐบาลจะเอาไหม” นายเดชากล่าว
อย่างไรก็ดีนายเดชาได้กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลปัจจุบันว่า ถือเป็นโครงการหนึ่งในหลายๆโครงการประชานิยมที่ทำลายวิถีเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากแต่ก่อนข้าวอินทรีย์มีราคาแพงกว่าข้าวเคมีโดยสามารถขายได้ที่ตันละ 17,000 บาท มากกว่าข้าวหอมมะลิเคมีถึง 2,000 บาท แต่เมื่อรัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิเคมีที่เข้าโครงการฯตันละ 20,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าการขายข้าวอินทรีย์มาก เกษตรกรจึงไม่เห็นประโยชน์ของการทำเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้การที่รัฐบาลต้องยอมขาดทุนจากโครงการฯถึง 1.4 แสนล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ของชาวนา ต้องถามว่าผลประโยชน์ตกไปอยู่ที่ชาวนาส่วนใหญ่ที่ยากจนจริงหรือไม่ เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกข้าวไว้รับประทานในครอบครัวและแทบไม่มีข้าวเหลือขาย โดยเห็นว่าจะเป็นการดีกว่าหากรัฐบาลนำเงินที่ยอมขาดทุนไปสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินให้เกษตรกรที่ยากจนได้อย่างแท้จริง
ด้านนางวัลลภา แวนวิลเลี่ยนสวาร์ด บริษัทสวนเงินมีมา ผู้ประกอบการสังคม กล่าวว่า คนไทยยุคปัจจุบันป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เบาหวาน เพราะพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ผลิตด้วยวิธีเคมีมากขึ้น ขณะที่เกษตรกรที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกกว่าร้อยละ 70 มีสารพิษตกค้างในร่างกาย ทำให้ปัจจุบันเราตกอยู่ในความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีอาหารปลอดภัยรับประทานน้อยลงและราคาแพงขึ้น แต่พื้นที่ทางอาหารยังถูกแย่งไปจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอีกด้วย
ขณะที่นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายนิเวศวิทยาและพลังงานลุ่มน้ำโขงกล่าวถึงใช้ทรัพยากรในประเทศว่า ที่ผ่านมาการนำทรัพยากรไปแปลงเป็นพลังงานเพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมเป็นหลัก ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนปาก มูลในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ปีละ 280 ล้านหน่วย(GWh) แต่ความเป็นจริงสามารถผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยได้เพียงปีละ 160 ล้านหน่วยเท่านั้น ขณะที่บางปีผลิตได้ต่ำเพียง 18 ล้านหน่วย แต่ต้องแลกกับสูญเสียปริมาณปลาในแม่น้ำมูลไปถึงร้อยละ 80 , 166 สายพันธุ์ ขณะที่ชาวบ้าน 6,200 ครอบครัวต้องสูญเสียวิถีชีวิตการทำกิน
โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้เพื่อที่อยู่อาศัยเพียงร้อยละ 21 ภาคพาณิชย์ร้อยละ 25 ภาคอื่นๆร้อยละ 5 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมใช้มากถึงร้อยละ 49 โดยเปรียบเทียบให้เห็นได้ว่าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนใช้ไฟฟ้าปีละ 120 ล้านหน่วย/ปี ห้างฯมาบุญครอง 87 ล้านหน่วย/ปี ห้างฯเซ็นทรัลเวิร์ล 75 ล้านหน่วย/ปี รวม 3 ห้างฯใช้ไฟฟ้า 282 ล้านหน่วย/ปี ซึ่งเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าเขื่อน 3 เขื่อนในภาคอีสานได้แก่ เขื่อนปากมูล เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิริธร ผลิตได้รวมกันได้เฉลี่ยปีละ 266 ล้านหน่วย ขณะที่ไทยมีโครงการลงทุนสร้างเขื่อนและโรงผลิตไฟฟ้าในประเทศลาวอีกหลายโครงการรวมมูลค่า 7,750 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่คนลาวอีกร้อยละ 39 ยังเข้าไม่มีไฟฟ้าใช้แต่ต้องสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงเกิดคำถามว่าเรากำลังหาพลังงานให้ใครใช้? โดยเห็นว่าหนทางที่ดีคือการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แทน