นักวิชาการ ขอความชัดเจน กสทช.ให้คำตอบ ค่าบริการ 3จี จะถูกกว่าเดิม 15%
นักวิชาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์- หอการค้าไทย เห็นพ้อง ปัจจัยสำคัญทำให้ค่าบริการ 3จีลดลง คือ การแข่งขันในตลาด เชื่อของไทยยากที่จะเกิดขึ้น ด้วยการบังคับใช้กม.ป้องกันการผูกขาดยังไม่เข้มแข็ง
วันที่ 14 ธันวาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะทำงานติดตามการทำงาน กสทช. และศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา จัดเสวาน “NBTC Watch Forum: ประมูล 3G ถูก ค่าโทรถูกจริงหรือ?” โดยมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดร.ดุษณี เกษวยุทธ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า ค่าใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการจ่าย ไม่มีผลต่อค่าบริการ 3จี นั่นคือต่อให้ค่าใบอนุญาตถูก ค่าบริการก็ไม่ถูกลง เนื่องจากต้นทุนที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อดำเนินการให้บริการในช่วง 15 ปี หลังได้รับใบอนุญาตแล้วต่างหาก ในมุมของนักธุรกิจคือเรื่องอะไรจะไปทำให้รายรับน้อยลงจากการลดค่าบริการ เพราะแม้ในระดับราคาที่ยังเป็นอยู่ขณะนี้ ผู้บริโภคก็ยังสามารถจ่ายได้อยู่ วิธีคำนวณค่าบริการยังมีวิธีคิดที่มีลูกเล่นต่าง ๆ มากมาย ที่ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ความเร็วของการรับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตกับราคาตรงกันตามโปรโมชั่นที่โฆษณาไว้หรือไม่
“ตลาดโทรคมนาคมมีผู้ประกอบการเพียงสามราย ไม่ได้แข่งขันกันมากจนค่าบริการจะต้องลดลง ต่อให้ได้ใบอนุญาตมาฟรี ผู้ให้บริการก็จะคิดราคาค่าบริการตามที่ควรจะได้ เรื่องอะไรจะไปคิดว่าในเมื่อค่าใบอนุญาตต่ำก็ควรจะลดค่าบริการลง ผู้บริโภคย่อมมารับบริการอยู่แล้ว ในเมื่อมีเพียงสามราย” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ยังเรียกร้องให้ กสทช.ระบุความชัดเจนเรื่องที่ขอความร่วมมือผู้ให้บริการลดราคาค่าบริการ 3จี ลงจากเดิม 15% ทั้งคำจำกัดความและมาตรฐาน และต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน เพราะผู้ให้บริการอาจให้ความร่วมมือหรือไม่ก็ได้ กสทช.ไม่สามารถบังคับได้ แต่องค์กรอย่างมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคสามารถออกมาต่อสู้ในเรื่องนี้ได้
ขณะที่ดร.ดุษณี กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งราคาค่าบริการแบบบังคับ เพราะอาจเกิดการถกเถียงกันไม่สิ้นสุดได้อีกว่า ตั้งราคาบังคับถูกไป แพงไป วิธีที่ดีควรทำให้กระบวนการแข่งขันเกิดขึ้นจริงระหว่างผู้ให้บริการสามราย ถ้ารายใดคิดแพงผู้บริโภคสามารถย้ายค่ายได้ แข่งกันในลักษณะดึงผู้บริโภคไปใช้บริการอย่างเป็นธรรม ถ้าแข่งกันจริง ๆ ราคาอาจถูกกว่าราคาที่ตั้งเป็นราคาบังคับไว้เสียอีก
นักวิชาการทั้งสองท่านยังเห็นตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ค่าบริการ 3จีลดลงคือการแข่งขันในตลาด แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวเชื่อว่า สภาพการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมเช่นในต่างประเทศนี้ ยากที่จะเกิดในประเทศไทย เพราะการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดยังไม่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ ดร.ดุษณียังเรียกร้องให้ผู้บริโภคกล้าแสดงพลังของตนเองเมื่อรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการ รวมทั้งช่วยกันจับตามององค์กรกำกับดูแลอย่างกสทช.เพื่อให้ทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคให้มากที่สุด