ไทยเสี่ยงวิกฤตแล้ง จี้กระชับพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยา
อดีตรองอธิบดีกรมชลฯ เผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนลดลงต่อเนื่อง หวั่นปีหน้าไทยเจอวิกฤตแล้ง ทำระบบนิเวศ-ประปาป่วน จี้ลดพื้นที่เพาะปลูกลุ่มน้ำเจ้าพระยา
นายวีระ วงศ์แสงนาค ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ปรึกษากรมชลประทาน และอดีตรองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน จากการติดตามข้อมูลของกรมชลประทาน ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมกันทั้งสิ้น 481 แห่งทั่วประเทศ ว่า ขณะนี้ (14 ธ.ค.) มีปริมาณน้ำใช้อยู่ที่ 71% และมีน้ำที่สามารถใช้ได้อยู่เพียง 39% ซึ่งระดับน้ำดังกล่าวจัดว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ไม่มาก อาจส่งผลกระทบต่อการวางแผนการเพาะปลูก
“เท่าที่ติดตาม ภาคเหนือ ภาคใต้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ภาคกลาง น้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ แต่ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉลี่ยทั่วทั้งภาคไม่มีน้ำ นับว่าวิกฤตที่สุด ขณะที่ภาคตะวันออกเป็นภาคเดียวเท่านั้น ที่น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี”
นายวีระ กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำ ภาคกลาง อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ฤดูแล้งนี้น่าจะพอไปรอด สามารถวางแผนเพาะปลูกได้ตามปกติ ซึ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านไร่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หลังจากฤดูแล้งนี้ไปแล้ว น้ำในอ่างทุกอ่างจะลดลงทันที และหากฤดูฝน ซึ่งปกติจะเข้ามาในเดือนพฤษภาคมล่าช้ากว่าปกติ จะเกิดวิกฤตขึ้นมาทันที
“เหตุการณ์วิกฤตดังกล่าว เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2553 ในครั้งนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเป็นต้องประกาศให้มีการเลื่อนการเพาะปลูกนาปีออกไป เพราะฝนล่าช้ามาก ทำให้ต้องไปเริ่มเพาะปลูกกันในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ดังนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่จะถึง จะต้องรักษาน้ำไว้ให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การประปา การอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในลุ่มน้ำภาคกลาง ที่จะต้องมีการควบคุมการเพาะปลูกให้ดี เพราะหากมีเพาะปลูกมากกว่า 9 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นไปเป็น 10-11 ล้านไร่ น้ำจะหายจากระบบไปมหาศาล และจะยิ่งหมดเร็วขึ้น” นายวีระ กล่าว
เมื่อถามถึงสาเหตุที่น้ำไม่พอใช้ เนื่องจากมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนมากเกินไปใช่หรือไม่ นายวีระ กล่าวว่า ก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง เนื่องจากความกังวลต่ออุทกภัย กลัวว่าจะระบายน้ำไม่ทัน จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการป้องกันอุทกภัยมากเกินไป
และเมื่อถามถึง การขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเพาะปลูก จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด นายวีระ กล่าวยอมรับ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควบคุมได้ยากที่สุด ง
"ที่ผ่านมาก็เคยมีความพยายามขอความร่วมมือเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ปรากฏว่า ตัวเลขที่ออกมาเกินกว่าแผนที่ตั้งไว้ทุกครั้ง ต่างจากภาคอื่นๆ ที่สามารถเจรจาได้ว่า มีน้ำน้อย ประชาชนก็ยอมรับสภาพ"
ทั้งนี้ นายวีระ ยังกล่าวถึงแนวทางการป้องกันวิกฤตน้ำแล้งต่อจากนี้ด้วยว่า จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลกับประชาชนมากขึ้นว่า ปัจจุบันน้ำในเขื่อนเหลือเท่าไหร่ และมีปริมาณน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตือนประชาชนให้ทราบว่า หากมีเก็บเกี่ยวในรอบแรก ช่วงประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนเป็นที่เรียบร้อย จะต้องหยุดการเพาะปลูกทันที ไม่เช่นนั้นหากมีการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่องจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ โดยเฉพาะกรณีฝนล่าช้า ข้าวจะยืนต้นตาย ดังนั้น ควรจะต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้ดี