‘ดร.สมคิด’ แนะ พอช. “สร้างบ้านมั่นคงต้องเปลี่ยนวิธีคิดคนก่อน”
‘ดร.สมคิด’ ชี้ พอช.สร้างบ้านมั่นคง ต้องเน้นเปลี่ยนความคิดคน แนะจับมือเอกชน-สื่อ พัฒนาบุคลากรเพื่องานพัฒนาชุมชน
วันที่ 14 ธ.ค. 55 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีเปิดโลกทัศน์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ ‘‘การบริหารองค์กรพอช.ให้มีพลังในทัศนะดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ณ ห้องไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายคนมองว่าไทยมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น แต่ในชีวิตจริงเมื่อมองออกไปจากกรุงเทพฯ กลับพบความเหลื่อมล้ำสูง คนจนยังมีเยอะ แม้ปัจจุบันชีวิตความเป็นอยู่จะดีกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่มักเป็นความเจริญทางวัตถุ ขณะที่คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ซึ่งเคยตั้งคำถามถึงการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเกิดความเข้มแข็งเป็นหน้าที่ของใคร สุดท้ายอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมิใช่มุ่งเน้นวิธีการสร้างบ้านอย่างเดียว แต่การพัฒนาจะต้องเปลี่ยนแปลงความคิดสู่ทิศทางที่ดีขึ้นด้วย นั่นคืองานหลักของพม. หากแต่งานเหล่านี้กลับตกอยู่กับพอช. ที่ได้รับงบประมาณเพียงน้อยนิด
อย่างไรก็ตามพอช. จะต้องเข้าใจว่าการพัฒนาชุมชนโดยการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมนั้นไม่สามารถบังคับได้ แต่ต้องใช้วิธีการคัดสรรคนดีขึ้นมามีบทบาทเข้าไปชี้นำให้ชุมชนอย่างเหมาะสม พร้อมดึงทุกภาคส่วนช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของพอช. หากปัจจุบันไม่ใช่ถือว่าผิด เพราะตนเป็นผู้ตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาเองย่อมรู้ดี
ดังนั้นเมื่อเป็นหน้าที่พอช. แล้วองค์กรยังเล็กเช่นนี้จะทำอย่างไรให้มีพลัง ซึ่งตามมุมมองของตนมีข้อแนะนำ 5 ข้อ ได้แก่ 1.สร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความไว้วางใจ โดยทำอย่างไรให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในสิ่งที่ได้รับจากพอช. เพราะหากชาวบ้านรู้จักองค์กรมาก ย่อมพร้อมที่จะปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข แต่หากยังสร้างความน่าเชื่อถือไม่ได้ เมื่อแนะนำอะไรให้ทำ มักเกิดความคิดตามมาว่าต้องมีเลศนัยแน่นอน จึงต้องคิดหาวิธีการสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าว
“ถ้าคุณบอกว่าต้องการดึงพรรคพวกทั้งหลายมาช่วยเหลือชาวบ้าน เค้าเชื่อมั่นในพอช.หรือเปล่า ต้องขอเรียนว่าตนได้คุยธุรกิจมาหลายราย อย่างเร็ว ๆ นี้นั่งอภิปรายกับประธานหอการค้า ซึ่งกำลังคิดโครงการนาหนึ่งไร่ได้หนึ่งแสน เราก็บอกว่าจะเติบโตช้าหากเดินเส้นทางนี้ จึงแนะนำให้ร่วมมือกับพอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องทุกชุมชน เมื่อถามว่ารู้จักหรือไม่ ประธานหอการค้าบอกว่าไม่รู้ ดังนั้นเมื่อไม่รู้จักจะเกิดความน่าเชื่อถือได้อย่างไร”
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนมิได้มีเจตนาจะตำหนิ เพราะเข้าใจว่าขณะที่เราทำงานกับชุมชนเรื่องแบบนี้อาจไม่ได้คิด กุญแจที่สำคัญของพอช. จึงอยู่ที่การคัดเลือกคนในชุมชนที่ได้รับความเชื่อถือในการขับเคลื่อน เปรียบดังการเคลื่อนย้ายภูเขาต่อให้ใช้คนล้านคนก็เคลื่อนไม่ได้ แต่หากใช้คนที่ชาวบ้านเชื่อถือจะร่วมเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทั้งนี้ยังแนะนำว่าหากปัจจุบันคนยังรู้จักองค์กรน้อยให้ใช้ทางลัดโดยดึงบุคคลที่มีชื่อเสียงตั้งคณะที่ปรึกษาพอช.
2.สร้างกระแสให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น พร้อมยกตัวอย่างการสร้างกระแสขับเคลื่อนทางสังคมในเกาหลีตามชุมชนจนเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเน้น 3 หลัก คือ ทำงานหนัก พึ่งตนเอง และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน 3.พัฒนาความสามารถ ซึ่งคนเราจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีความสามารถ โดยพอช.ต้องเป็นองค์กรพัฒนาความสามารถชาวบ้านแต่ละชุมชน เช่น หากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในครัวเรือนก็เน้นการจัดทำบัญชีครัวเรือน หรือหากต้องการส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พอช.ต้องฝึกให้เกิดสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ตั้งสถาบันพัฒนาความสามารถหรือออกแบบหลักสูตรที่คิดว่าตรงกับความสามารถแต่ละบุคคล
4.เน้นสายสัมพันธ์ ต้องรู้จักการเปิดตัวองค์กรต่อสาธารณชนด้วยการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคเอกชน สื่อมวลชน และองค์กรอื่น ๆ มิใช่มุ่งทำงานร่วมกับชุมชนกลุ่มเดียว และ 5.ศิลปะการจัดการ ต้องเข้าใจว่าหน้าที่ของพอช.มิใช่ทำงานเชิงพื้นฐาน แต่ต้องสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ต้องทำให้รู้ว่ามีความจำเป็นมากและชี้ให้เห็นชัดถ้าเปลี่ยนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และนำระบบโซเซียลมีเดียขับเคลื่อนด้วย ที่สำคัญต้องรู้จักมีลูกเล่น โดยนำผลลัพธ์ระยะสั้นนำเสนอต่อชาวบ้านเพื่อสร้างกำลังใจในการทำงานต่อไป
ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า พอช.จะเป็นองค์กรที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง แต่มันต้องมีศิลปะในการอยู่กับความขัดแย้ง ซึ่งความน่าเชื่อถือจะเป็นตัวกดดันไม่ให้ความขัดแย้งอยู่ ถ้าองค์กรขาดความน่าเชื่อถือ จะเกิดความขัดแย้งทุกเรื่อง
“น้ำต้องอย่าเต็มแก้ว ต้องเปิดอย่าปิด อย่าเป็นเจ้าของ ยิ่งมีคนมาช่วยเยอะ มากคนก็มากวาสนา ทำกันอยู่ไม่กี่คน จะหวังผลดีเลิศ ไม่มีทาง เพราะหน้าที่คุณคือเปลี่ยนแปลงสังคม ยกตัวอย่างง่าย ๆ คุณบอกว่าบ้านเมืองทุกวันนี้คอร์รัปชั่นสูงมาก เด็กบอกว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่รับได้ หน้าที่ของพอช. คือการสร้างกระแสในสังคมให้รู้สึกว่าสิ่งที่เลวที่สุด คือ คอร์รัปชั่น จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่เป็นเครื่องมือใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นคือหน้าที่มากกว่าการสร้างบ้านมั่นคงเสียอีก ถ้าคนเรารับเรื่องคอร์รัปชั่น แม้มีบ้านอยู่ ไม่นานบ้านก็ไป” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว.