เครือข่ายภาคปชช. เดินหน้าล่า 1 ล้านรายชื่อดันกม.ที่ดิน 3 ฉบับ
สปร.ร่วมภาคปชช.ถกปัญหาที่ดิน จากมติสมัชชาปฏิรูป หนุนล่าล้านรายชื่อดัน 3 กม. กระจายการถือครองที่ดิน ลั่นจับตาการอภิปรายในสภาฯ พร้อมท้าทายกระบวนการนิติบัญญัติ
วันที่ 13 ธันวาคม สำนักงานปฏิรูป (สปร.) จัดเวทีเสวนา "จากมติสมัชชาปฏิรูปสู่ล้านรายชื่อ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน" ณ โรงแรมไมด้า ซิตี้รีสอร์ท หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมี ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ คณะทำงานขับเคลื่อนมติการปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน นายชัชวาล สมจิตต์ ผอ.ส่วนคุ้มครองที่ดินของรัฐ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย นายประยงค์ ดอกลำไย คณะทำงานขับเคลื่อนมติการปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน ร่วมเสวนา
ผศ.อิทธิพล กล่าวถึงปัญหาเรื่องที่ดินเป็นประเด็นเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ที่ควรมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนที่ที่ดินที่ทุกหน่วยงานจะยอมรับตรงกัน รวมถึงปรับปรุงที่ดินเกษตรกรรมและกฎหมายให้สอดคล้องกับท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งจะรวบรวมมติจากภาคประชาชนและเป็นประเด็นที่นำไปสู่สมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 ต่อไป
"ปัจจุบันส่วนที่ดินภาคเกษตรกรรมสูญเสียไปมาก เพราะการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการเก็งกำไรที่ดิน พบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามากว้านซื้อที่ดินเกษตรกรรม เพื่อเก็งกำไรและใช้ประโยชน์ ขณะที่ ข้อมูลจากงานวิจัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ให้เห็นว่า หลายพื้นที่มีต่างชาติเข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อขายและบริหารจัดการที่ดิน สอดคล้องกับข้อมูล ของ สกว.ที่ระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ตและระยอง มีนายทุนต่างชาติเข้าไปเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก แต่ไม่มีการเปิดเผยและจดทะเบียนชัดเจน โดยเข้ามา 2 รูปแบบ คือ 1.มีสัญชาติไทยโดยการสมรส 2.การเข้ามาตั้งบริษัทของนายทุนใหญ่เป็นบริษัทไทย โดยแจ้งว่ามีหุ้นส่วนต่างชาติน้อยกว่า 49%" ผศ.อิทธิพล กล่าว และว่า นับเป็นการแฝงตัวเข้ามาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจ ได้ตรวจสอบและเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดว่าหุ้นส่วนมีชื่อซ้ำกันหลายบริษัท
"เหตุผลดังกล่าวนี้ จึงควรมีมติคุ้มครองที่ดินเกษตรกรรม โดยอาจใช้กฎหมาย เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ร.บ.ผังเมือง หรือพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งบริหารจัดการที่ดินเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าไม้ ที่ต้องมีมาตรการดูแลอย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และภาษีที่ดิน เพื่อให้การถือครองที่ดินของประเทศมีการชั่งน้ำหนักหรือให้สิทธิกับประชาชนมากขึ้น"
ผศ.อิทธิพล กล่าวต่อว่า การรับฟังและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ หากดูจากทิศทางโลกแล้ว จะเห็นตัวอย่างของการไม่รับฟังประชาชน เช่น ในตะวันออกกลาง และหากรัฐบาลยังไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ยืนยันที่จะแก้ไปตามทิศทางของตนเอง ก็มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะอึดอัดและรู้สึกว่าไม่ได้รับการแก้ไข เยียวยา ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมา โดยอาจเริ่มต้นจากการสร้างความไว้วางใจและเชื่อถือกันระหว่างรัฐกับประชาชน
ที่ดินน้อย ไม่พอจัดสรรให้ปชช.-เกษตรกร
ขณะที่นายชัชวาล กล่าวถึงกรณีนายทุนต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินนั้น ตนเห็นว่า ควรมีการติดตามและตรวจสอบภายหลังจดทะเบียนทุนด้วย ส่วนมากจะตรวจสอบเพียงจดทะเบียนทุนว่ามีหุ้นส่วนต่างชาติไม่เกิน 49% เท่านั้น นี่คือปัญหาสำคัญที่ทำให้การถือครองที่ดินเปลี่ยนรูปแบบไปและทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์
"ปัจจุบันมีที่ดินน้อยลง ไม่มีเพียงพอจัดสรรให้ประชาชนและเกษตรกร อีกทั้งยังมีข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาน มีการบุกรุกที่ดินของภาครัฐ การแก้ปัญหาเหล่านี้ขาดการบูรณาการ แต่ละหน่วยงานยึดแผนของตนเองและยึดแผนที่การใช้ที่ดินของตนเอง เมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ (กบช.) จึงมีแนวคิดสร้างระบบแผนที่ให้เป็นหนึ่งเดียว วางแผนการใช้ที่ดินในอนาคตและรวบรวมข้อมูลการใช้ที่ดินและน้ำของเกษตรกร โดยจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการในแต่ละจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาของตนเอง"
สำหรับกรณี พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ที่ยังติดค้างอยู่ในกระบวนการนั้น นายชัชวาล กล่าวว่า รัฐบาลนี้เห็นว่าเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม จึงคิดที่จะทำการปรับปรุง ดังที่มี มติคณะรัฐมนตรีส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ และอาจเชิญตัวแทนประชาชนหรือเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
จี้รัฐหยุดอ้างแยกคนจน-รวย ผู้บุกรุกไม่ได้
ด้านนายประยงค์ กล่าวว่า โดยหลักแล้วปัญหาที่ดินในประเทศไทยหลักมี 2 เรื่อง คือ การประกาศใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หรือมีช่องว่างที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เช่น การประกาศพื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือที่ราชพัสดุ ซึ่งมีประชาชนอย่างน้อย 10-15 ล้านคนที่เดือดร้อน เพราะต้องตกอยู่ในเขตที่ดินดังกล่าวนี้ อีกทั้งปัญหาที่ดินกว่า 70% กระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียง 10% ส่วนคนที่เหลือสามารถครองครองที่ดินได้เพียง 30% เท่านั้น เมื่อไม่มีความสามารถซื้อหรือผ่อนที่ดินได้ ส่วนหนึ่งจึงไปบุกรุกที่ดินของรัฐ พบว่า กว่า 3,500 ครัวเรือน เป็นชุมชนแออัดที่เข้าไปบุกรุกอาศัยที่ดินของรัฐและเอกชน
นายประยงค์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐใช้ข้ออ้างว่าไม่สามารถแยกคนจน คนรวย ผู้บุกรุกรายเก่า ผู้บุกรุกรายใหม่ ที่ดินของรัฐและที่ดินของประชาชนได้ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องยาก ตนเห็นว่า รัฐใช้เป็นข้ออ้าง เป็นวงจรอุบาทว์ในการไม่ให้ผ่านกฎหมายและไม่แก้ปัญหาที่ดินมากกว่า เนื่องจากกลัวประชาชนจะโกง จะเอาที่ดินไปขาย แทนที่จะแก้ปัญหาโดยลดการออกเอกสารสิทธิ์แบบปัจเจกลงและจัดที่ดินชุมชนหรือโฉนดชุมชนแทน
ในส่วนการทำงานของคณะกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ หรือ กบช. นายประยงค์ เห็นว่า ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมได้ ที่ผ่านมารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมองปัญหาที่ดินเป็นเรื่องการเมือง พยายามแก้ไขระเบียบและเปลี่ยนชื่อจากโฉนดชุมชน เป็นระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินชุมชน อีกทั้งมีการหากินกับการจัดทำระบบแผนที่ที่ดินของรัฐมายาวนาน ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดทำแต่ละครั้ง
"เมื่อแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาที่ดินได้ล้วนถูกดับฝันไปเรื่อยๆ เหลือเพียงหนทางเดียว คือ ประชาชนต้องลุกขึ้นมานำพาไปสู่แนวทางที่ถูกต้องและเป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงและเป็นการท้าทายกระบวนการนิติบัญญัติในสภาฯ โดย จะร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2555 และจะเริ่มรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เสนอในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 และจะมีการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภา รวมทั้งจับตาดู ส.ส.และ ส.ว.ที่ลึกขึ้นอภิปรายเรื่องปัญหาที่ดินว่ามีใครอภิปรายไปเพื่อผลประโยชน์ของตนหรือพวกพ้องหรือไม่'