ส.อนาคตฯ ชี้ 3G ไทยช้าเสียโอกาสปีละ 1.6 แสนล้านบ. มองชนบท-เกษตรโอกาสเข้าถึงต่ำ
ส.อนาคตไทยศึกษาเผยผลวิเคราะห์ 3G ไทยช้าเสียโอกาสปีละ 1.6 แสนล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์มองหากไม่ขยายเครือข่าย คนชนบท-ภาคเกษตรเข้าถึงต่ำ
วันที่ 13 ธ.ค. 55 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ สถาบันอนาคตไทยศึกษา นำเสนองานวิเคราะห์ฉบับแรก ‘3G รายได้ที่มองเห็น vs ค่าเสียโอกาสที่มองไม่เห็น’ โดยดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า งานวิเคราะห์ฉบับนี้ สถาบันฯจัดทำขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของการประมูลคลื่นความถี่เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ 3 หรือ 3G โดยชี้ให้เห็นถึง ‘ต้นทุนที่ไม่ชัดแจ้ง’ ที่ภาครัฐและหลายฝ่ายมองข้าม คือ ค่าเสียโอกาสภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งมีต้นทุนค่าเสียโอกาสมากกว่าภาครัฐหลายเท่าตัว โดยเชื่อว่าผลวิเคราะห์จะช่วยยกระดับการวิจารณ์ของสังคมให้อยู่บนฐานข้อมูลที่ครบถ้วน
ดร. นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยถึงค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากโครงการ 3G ว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ตั้งแต่เดือนก.ย. 2552 ที่ร่างเงื่อนไขการประมูล 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHZ ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ถูกคัดค้านมิให้มีการเปิดประมูล จนกระทั่งมีการประมูลจริงเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 ที่ผ่านมา โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าวจนจบสิ้นการประมูลมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสูญเสียรายได้ของรัฐหากมีการประมูลตั้งแต่ 3 ปีก่อนเนื่องมาจากการย้ายฐานลูกค้าจากคลื่นความถี่เก่าไปคลื่นความถี่ใหม่(3G)ที่สมมุติฐานร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ตลอดอายุสัญญา 15 ปี (คลื่นความถี่เก่า) ปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่การวิจารณ์เหล่านั้นไม่ได้กล่าวถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศไทยที่ถูกมองข้ามไป คิดมูลค่าไม่น้อยกว่า 4.8 แสนล้านบาท หรือ กว่า 1.6 แสนล้านบาทต่อปี จากการไม่ตัดสินใจเดินหน้าลงทุนในโครงการนี้ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
ค่าเสียโอกาสภาครัฐ แม้การลงทุนในโครงการ 3G อาจทำให้รัฐสูญเสียส่วนแบ่งรายได้บนคลื่นความถี่เก่า แต่เมื่อคิดรวมรายได้จากค่าสัมปทานคลื่นความถี่ใหม่ และรายได้จากภาษีทางตรงเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีทางอ้อมเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งรัฐจะจัดเก็บเพิ่มได้จากภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการมี 3G คาดว่ารัฐจะได้รับผลประโยชน์สุทธิเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าปีละ 0.2 หมื่นล้านบาท
ค่าเสียโอกาสภาคเอกชน โดยคาดว่า 3G จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้ธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือไม่น้อยกว่าปีละ 3.3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานเกี่ยวเนื่องกับการลงทุนในโครงการ 3G เช่น การจ้างงาน การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่นำเอาผลประโยชน์จาก 3G ไปเป็นพื้นฐานต่อยอดการผลิต เช่น การค้า การสื่อสาร คิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 6.3 หมื่นล้านบาท โดยคิดเป็นค่าเสียโอกาสโดยรวมไม่น้อยกว่าปีละ 9.6 หมื่นล้านบาท
ค่าเสียโอกาสภาคประชาชน ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จาก 3G กว่าปีละ 6.2 หมื่นล้านบาท มาจาก 1.การประหยัดเวลาในการเข้าชมเว็บไซด์บนโทรศัพท์มือถือด้วยเครือข่าย 3G ซึ่งเร็วกว่าระบบ EDGE (เทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดหนึ่ง)ถึง 30-35 เท่า ซึ่งหากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 1.53 ล้านรายสามารถเข้าดูเว็บไซต์ด้วยระบบ 3G ตามสถิติการใช้งานโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 354 หน้า/คน/เดือน จะสามารถประหยัดเวลาในการเข้าชมเว็บไซต์ได้มากกว่า 18.5 ชม.ต่อเดือน คิดเป็นมูลค่าเดือนละ 2,100 บาท หรือ ปีละ 3.9 หมื่นล้านบาทของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด 2.การลดค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มจากปัญหาสายหลุดขณะสนทนาเมื่อใช้คลื่นความถี่เดิมที่แออัด หากสมมุติว่าอัตราของสายหลุดขณะสนทนาคิดเป็นร้อยละ 10 ของการใช้งานโทรศัพท์เฉลี่ยที่เดือนละ 314/เลขหมาย ที่อัตราค่าโทรเฉลี่ยนาทีละ 1.26 บาท คาดว่าผู้ใช้มือถือต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เพิ่มเฉลี่ยคนละ 23.24 บาท/เดือน หรือเท่ากับปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงต้นทุนความสะดวกสบายอื่นๆ เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารทางมือถือ (mobile banking) และการใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศฟรีผ่านระบบ VOIP เป็นต้น
“รายงานนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่เราหยุดอยู่กับที่ คือการที่ประเทศอื่น(ซึ่งมี 3G ใช้แล้ว)แซงหน้าไทยไปปีละ 1.6 แสนล้านบาท” ดร. นิตินัย กล่าว
ทั้งนี้ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราได้ถามถึงประโยชน์ของระบบ 3G ต่อคนชนบทและภาคการเกษตร โดยดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เรามักจะคิดว่า 3G เป็นเรื่องของคนเมือง แต่แท้จริงแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์กับคนชนบทหรือภาคเกษตรด้วย ตัวอย่างจากผลการศึกษาของธนาคารโลก (WTO) พบว่าเกษตรกรแอฟริกาใช้โทรศัพท์มือถือระบบ 3G ในการตรวจสอบราคาผลผลิตป้องกันการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางและเสริมการขยายช่องทางตลาดไปยังพื้นที่อื่นด้วย
ดร.นิตินัยกล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของ กสทช. พบว่าปัจจุบันคนเมืองใช้โทรศัพท์เฉลี่ยคนละ 2 เลขหมาย ขณะที่คนชนบทใช้โทรศัพท์เฉลี่ยไม่ถึง 1 เลขหมาย ฉะนั้นหากมี 3G แต่ไม่มีการขยายการลงทุนโครงข่ายที่ครอบคลุมในชนบท คนต่างจังหวัดก็แทบจะไม่ได้อะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากนักวิชาการว่า เมื่อกสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ 3G แล้ว ก็ควรสนับสนุนการเข้าถึงบริการให้ครอบคลุมภาคการเกษตรและคนชนบทด้วย โดยอาจทำในรูปแบบ โครงการ ‘1ผู้ใหญ่บ้าน 1เครื่องมือถือ 3G’ โดยให้กสทช. อุดหนุนค่าใช้จ่าย
ดาวน์โหลดรายงาน ‘Opportunity Cost (ค่าเสียโอกาส) 3G รายได้ที่มองเห็น vs ค่าเสียโอกาสที่มองไม่เห็น’ ฉบับเต็ม:: http://www.thailandfuturefoundation.org/th/reports/detail.php?ID=46&SECTION_ID=13