มอนเตสิโนส ตอเรส คนใกล้ชิดอดีตผู้นำเปรู = เสี่ยเปี๋ยง + สุพจน์ ทรัพย์ล้อม?
"....สิ่งที่เหมือนกันอย่างน้อยประการหนึ่งระหว่างนายมอนเตสิโนส ตอเรส กับนักการเมืองไทยบางคนคือความแยบยลในการจดทะเบียนตั้งบริษัทบังหน้าเพื่อคอร์รัปชั่นและฟอกเงิน ..."
ในบรรดา“คนใกล้ชิด”ผู้นำที่คอร์รัปชั่น (คนละความหมายกับ“ผู้นำ”ที่คอร์รัปชั่นผ่าน”คนใกล้ชิด”?) มีกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศเปรูเมื่อสิบปีก่อน คือ นายวลาดิมิโร มอนเตสิโนส ตอเรส (Vladimiro Montesinors Torres) อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง คนใกล้ชิด นายอัลแบร์โต ฟูจิมูริ ผู้นำเปรูที่มีปัญหาคอร์รัปชั่น (แต่ตอนหลังทั้งสองคนมีปัญหาขัดแย้งกันเอง)
เหตุที่หยิบยกคดีนี้มาเป็นกรณีศึกษาเพราะเห็นว่าพฤติกรรมนายมอนเตสิโนส ตอเรส คล้ายกับพฤติกรรมของนักการเมืองและคนใกล้ชิดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือเปิดบริษัทบังหน้าแล้วฟอกเงินจากคอร์รัปชั่นอาจรวมถึงค้ายาเสพติดและอื่นๆ
จุดเริ่มต้นของเรื่องอื้อฉาวมาจากมีการเผยแพร่วีดีโอที่แสดงให้เห็นว่านายมอนเตสิโนส ตอเรส ให้สินบนสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านในเดือนกันยายน 2543 มีการตามรอยเงินในหลายประเทศรวมทั้งเกาะเคย์แมน ลักเซมเบิร์ก สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐใน ท้ายที่สุดก็สามารถติดตามคืนได้จากสวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐ และธนาคารในประเทศเปรูรวมกว่า 250 ล้านเหรียญ
นายมอนเตสิโนส ตอเรส ได้วางแผนหลายอย่างเพื่อฟอกเงินและทำให้เงินสามารถใช้ได้ในประเทศเปรู เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ทางการเมืองโดยการตั้งบริษัท “Institute of Specialized International Studies Inc.”เป็นแหล่งรับเงินโอนเสมือนว่ารับเงินค่าจ้างจากการเสนองานและจากการเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ
การสืบสวนอย่างเอาจริงเอาจังของรัฐบาลเปรูพบว่าเบื้องหลังความมั่งคั่งของนายมอนเตสิโนส ตอเรส มาจาก 2 แหล่งใหญ่คือ
1.การซื้อขายอาวุธสงคราม หนึ่งในนั้นคือการซื้อขายกับผู้ผลิตเครื่องบินชาวรัสเซีย และยูเครน เป็นแหล่งที่สร้างกำไรให้กับนายมอนเตสิโนส มากที่สุดแหล่งหนึ่งเพราะตั้งราคาซื้อขายในราคาสูงกว่าปกติ และกระบวนการตรวจสอบถูกขัดขวางด้วยข้ออ้างที่ว่า “เป็นเรื่องของมาตรการทางความมั่นคงแห่งชาติถือเป็นความลับและไม่อาจให้รัฐสภาตรวจสอบได้”
2.ส่วนแบ่งจากราคาขายของรัฐวิสาหกิจที่เคยเป็นของรัฐ
นายมอนเตสิโนส ตอนเรส ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2544 ในประเทศเวเนซุเอลาหลังจากเดินทางไปทำศัลยกรรมเพื่อเปลี่ยนใบหน้าและถูกส่งตัวกลับมายังเปรูในฐานะนักโทษและถูกพิพากษาว่ามีความผิด 13 คดี และต้องถูกจำคุกเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี มีคดีที่รอการพิจารณาอีกกว่า 70 คดี
ภายหลังกรณีอื้อฉาว รัฐบาลเปรูได้ปฏิรูปกฎหมายที่สำคัญหลายอย่างเพื่อดำเนินการกับปัญหาคอร์รัปชั่น อาทิ รัฐสภาลงมติผ่านกฎหมายอนุญาตให้อัยการสูงสุดเริ่มไต่สวนมูลฟ้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งตามหลักรัฐธรรมนูญแล้วจะสามารถถูกฟ้องร้องได้โดยคณะกรรมาธิการถาวรของรัฐสภาเท่านั้นและต้องถูกตัดสินโดยรัฐสภา ฯลฯ
ถ้าเทียบกับผู้นำที่คอร์รัปชั่น พฤติกรรมของนายมอนเตสิโนส ตอเรส คล้ายกับอดีตผู้นำอย่างน้อย 3 คน
1.นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพราะว่าทรัพย์สินที่นายมาร์กอสฉ้อโกงมาจากเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากต่างชาติที่ให้การช่วยเหลือประเทศฟิลิปปินส์ เงินช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐ รวมไปถึงเงินตอบแทนในการส่งกำลังพลทหารฟิลิปปินส์ไปยังประเทศเวียดนาม และเงินสินบนจากการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นคู่สัญญาประมูลงานกับราชการ
2.นายเฟรเดอริค ชิบูลา แห่งแซมเบีย ยักยอกเงินของรัฐบาล 25 ล้านเหรียญจากบัญชี “Zamtrop” และ 21 ล้านเหรียญจากการจ่ายเงินซื้ออาวุธ และพัวพันกับการซื้อขายอาวุธสงคราม
3.นายปีเตอร์ โซโลมอน อดีตผู้ว่าการรัฐ Bayelsa ไนจีเรีย ถูกศาลสูงตัดสินว่ามีความผิด 6 กระทงในข้อหาแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จและมีความผิดฐานฟอกเงิน 23 กระทง ถูกตัดสิน จำคุก 2 ปี รัฐบาลไนจีเรียสามารถติดตามยึดทรัพย์ได้ 17.7 ล้านเหรียญ มาจากการปกปิดบัญชีทรัพย์สินและความผิดฐานฟอกเงิน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันอย่างน้อยประการหนึ่งระหว่างนายมอนเตสิโนส ตอเรส กับนักการเมืองไทยบางคนคือความแยบยลในการจดทะเบียนตั้งบริษัทบังหน้าเพื่อคอร์รัปชั่นและฟอกเงิน การใช้นอมินีและการตั้งบริษัทผีในโครงการบ้านเอื้ออาทรและโครงการรับจำนำข้าวอาจเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้
กระนั้น นายมอนเตสิโนส ตอเรส อาจไม่เหมือน “เสี่ยเปี๋ยง”ตัวละคร(สมมติ)ในโครงการรับจำนำข้าวเสียทีเดียว เพราะ นายมอนเตสิโนส ตอเรส มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่“เสี่ยเปี๋ยง”เป็นพ่อค้าและคดีก็อยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริง แต่อาจคล้ายคดีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมซึ่งถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยึดทรัพย์กว่า 64 ล้านมากกว่า (คดียังไม่ถึงที่สุด) แม้ว่านายสุพจน์ไม่ได้จัดตั้งบริษัทบังหน้าแต่เป็นใกล้ชิดนักการเมืองเหมือนกัน?
เพราะฉะนั้น คดีนายมอนเตสิโนส ตอเรส อาจเทียบได้กับเสี่ยเปี๋ยงและปลัดสุพจน์รวมกัน?
หมายเหตุ: ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์ประสานงานตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนักงาน ป.ป.ช.