ธ.โลกเสนอ 5 ตัวชี้วัด “X-Ray” ความเป็นอิสระ-ความรับผิดชอบการจัดการศึกษาไทย
ธนาคารโลกเสนอ 5 ตัวชี้วัด “X-Ray” ความเป็นอิสระและความรับผิดชอบการจัดการศึกษาไทย เชื่อทุกโรงเรียนทำได้ แค่เริ่มนับหนึ่งสร้างการศึกษาตาม ‘โจทย์’ ความต้องการของท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ ธนาคารโลกร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดสัมมนาวิชาการ "ความเป็นอิสระและความรับผิดชอบของโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและท้องถิ่นต่อการจัดการการศึกษาข้ันพื้นฐาน” ดร.แฮร์รี่ แอนโทนี่ พาทรีนอส ผู้จัดการฝ่ายการศึกษา สายงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ธนาคารโลก และดร.กุสตาโว อาเซีย ที่ปรึกษาทางด้านการศึกษา ธนาคารโลก ได้นำเสนอผลวิจัยในประเด็นความรับผิดชอบของโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอนต่อนักเรียน และต่อความต้องการของสังคม
จากการเก็บข้อมูลโรงเรียนทั่วประเทศไทยปี 2554 พบว่า มีปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นซึ่งเชื่อมโยงต่อความเป็นอิสระและความรับผิดชอบทางการศึกษาในระดับนานาชาติ 5 ประการ ดังนี้
1.โรงเรียนมีความเป็นอิสระในเรื่องงบประมาณ 2.โรงเรียนมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการบุคลากร 3.คณะกรรมการสถานศึกษา มีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรในด้านต่างๆ 4.การวัดประเมินผลโรงเรียน และนักเรียน และ 5.ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของโรงเรียนต่อสาธารณะ ทั้งในเรื่องงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า จากการดำเนินการนับ 10 ปีพบว่า การบริหารโรงเรียน ยังไม่มีความคล่องตัว ในปี 2556 สพฐ.จึงมีโครงการพัฒนาโรงเรียนที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะพัฒนาสู่การบริหารโรงเรียนนิติบุคคลเต็มรูปแบบภายใต้โครงการ “โรงเรียนในโครงการพัฒนาการบริหารรูปแบบนิติบุคคล รุ่นที่ 1” จำนวน 58 โรงเรียน แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 28 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษาจำนวน 30 โรงเรียน โดยมีการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.จัดทำคู่มือแนวทางการบริหารโรงเรียน โดยอาศัยผลการศึกษาวิจัยเป็นพื้นฐาน และ 2.ปรับปรุงกฏหมายให้เอื้อต่อการบริหารโรงเรียนต่อไป
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า รูปแบบความรับผิดชอบของสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนต่อเด็ก และต่อความต้องการของสังคม ถือเป็นสิ่งสำคัญของการจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการยอมรับจากประเทศทั่วโลก และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของเยาวชน เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้การศึกษาแบบรวมศูนย์ แม้เด็กไทยจะได้รับเหรียญทองโอลิมปิกด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ติดอันดับโลก แต่ค่าเฉลี่ยจากผลการวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ปี 2554 (TIMSS 2011) ล่าสุด ประเทศไทยติดอันดับที่ 34 ในวิชาคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 29 ในวิชาวิทยาศาสตร์ จาก 52 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวันและญี่ปุ่น ติดอับดับท็อป 5 ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากธนาคารโลก
“ใน 2 กรณีศึกษาที่สสค.หยิบยกมานั้น สะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียน และท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดการศึกษาได้ด้วยตนเอง แสดงถึงความพยายามทำหน้าที่ที่ตนได้รับอย่างเต็มที่เพื่อตอบโจทย์การศึกษาตามบริบทของท้องถิ่น สุดท้ายความรับผิดชอบที่โรงเรียนและท้องถิ่นมีต่อเด็กก็จะย้อนกลับมาเป็นแรงหนุนให้โรงเรียน และท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างยั่งยืน สร้างให้เกิดความมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมระหว่างคนในชุมชนท้องถิ่น ฉะนั้นความสำเร็จของภูเก็ตและเชียงรายจะสร้างแรงบันดาลใจและรูปแบบการบริหารจัดการในแบบใหม่ๆให้ประเทศไทยต่อไป”
นางสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า ในฐานะองค์กรท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับคนมากที่สุดจึงจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้เด็กค้นพบศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็เปิดโรงเรียนให้ผู้ปกครองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ทำให้เขาเข้าใจว่า ลูกหลานต้องการตัวช่วยในเรื่องใด และมีทิศทางพัฒนาลูกหลานร่วมกันอย่างไร อย่างภูเก็ตเองเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การท่องเที่ยว การจัดการศึกษาท้องถิ่นจึงไม่ใช่เรื่องของท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างเดียว ต้องมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบูรณาการด้วยจึงจะทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม ท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญในการร่วมออกแบบการศึกษาที่สามารถตอบสนองทิศทางของจังหวัดและคนในท้องถิ่นได้จริง
นายศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาความยากจนและความลำบากในการมาโรงเรียนทำให้เด็กไม่เรียนต่อ ตนและครูในโรงเรียนจึงช่วยกันออกแบบวิธีการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กพึ่งตนเองได้ โดยยึดปัญหาของพื้นที่เป็นหลัก จนกลายเป็นหลักสูตรประยุกต์ในการฝึกสัมมาชีพ ที่ได้ความร่วมมือจากท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียนทุกที่ต้องไม่กลัวกับการบริหารการศึกษาที่ยึดบริบทของท้องถิ่นเป็นหลัก เป้าหมายของผมก็คือจะนำพานักเรียนของผมไปอย่างไรให้สามารถมีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ที่มากกว่าการอยู่ในห้องเรียน