หอการค้าไทยจี้ก.แรงงานชะลอผลักดันแรงงานต่างด้าวกลับ หากไม่มีมาตรการรองรับ
รองประธานหอการค้าไทยชี้ ไทยยังขาดแคลนแรงงานแบบเข้มข้น เสนอรัฐชะลอการผลักดันแรงงานต่างด้าวออกไปก่อนง หวั่นซ้ำเติมผู้ประกอบการโดนพิษขึ้นค่าแรงงานเป็น 300 บาท ปีหน้า
ตามที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ที่ได้เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาในการพิสูจน์สัญชาติ สำหรับแรงงานต่างด้าว ออกไปจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 เพื่อให้สามารถเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ และหากแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ทำการพิสูจน์สัญชาติภายในระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจะผลักดันให้แรงงาน ทั้งที่ผิดกฎหมาย และแรงงานที่ถูกกฎหมายแต่ยังไม่ได้ทำการพิสูจน์สัญชาติออกจากประเทศไทย และจะอนุญาตให้กลับเข้ามาทำงานใหม่ในรูปของ MOU ซึ่งการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวนั้น
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากไม่มีมาตรการรองรับที่ดีอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวได้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ใช้ในภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น (labour intensive) อาทิ ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกปีละ 1.5แสนล้านบาท และธุรกิจก่อสร้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวมากด้วยเช่นกัน เพราะหากต้องรอให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานใหม่ในรูปของ MOU อาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกจำนวนมาก ที่สำคัญอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและภาพรวมของการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้
นายภูมินทร์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จ คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมมานานและอาจส่งผลต่อภาพรวมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเรายังขาดแรงงานแบบเข้มข้น (labour intensive) เนื่องจากแรงงานของเราไม่สนใจที่จะทำงานประเภทนี้ จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ ดังนั้น สิ่งที่อยากจะให้ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานช่วยเหลือหากยังไม่มีมาตรการ รองรับที่ดีพอก็คือ
1. ชะลอการผลักดันแรงงานต่างด้าวออกไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยเพื่อให้เวลาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแล้ว พิสูจน์สัญชาติให้ถูกต้อง
2. เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้มีการพิสูจน์สัญชาติอย่างถูกต้องต่อไป
3. ควรมีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการหาทางออกเรื่องนี้
"ข้อเสนอดังกล่าวนี้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของประเทศอย่างเป็นระบบในระยะยาว เพราะหากมีการผลักดันแรงงานต่างด้าวจริงโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับ จะกระทบต่อยอดการส่งออกในปี 2556 แน่นอน และที่ภาครัฐหวังว่าการส่งออกจะเติบโตมากกว่า 5% คงยาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และที่สำคัญจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการขึ้นค่าแรงงานเป็น 300 บาททั่วประเทศอีกด้วย" นายภูมินทร์กล่าว
สำหรับข้อมูลแรงงานต่างด้าวจากกรมการจัดหางาน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 พบว่ามีแรงงานต่างด้าว ที่จะต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 886,507 คน (พม่า 565,058 คน ลาว 99,019 คน กัมพูชา 222,430 คน) โดยในปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 530,156 คน (พม่า 473,380 คน กัมพูชา 56,776 คน) คงเหลือแรงงานที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่แล้วเสร็จอีกถึง 356,351 คน และคาดว่า ยังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้มีการพิสูจน์สัญชาติอีกประมาณ 5-8 แสนคน
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการบริหารหอการค้าไทย กล่าวถึงธุรกิจอาหารและประมงเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่แรงงานไทยไม่นิยมทำ เพราะต้องทำงานในพื้นที่ชื้นแฉะและมีกลิ่น อีกทั้งกระบวนการผลิตบางอย่างไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้จำเป็นต้องใช้คนงานอย่างเดียว ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและประมงขาดแคลนแรงงานไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูการผลิต ยิ่งจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เช่น จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอุตสาหกรรมอาหารและประมงตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีจำนวนแรงงานต่างด้าวกว่า 300,000-400,000 คน หรืออาจจะมากกว่านี้
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้ามีความต้องการแรงงานสูงมาก โดยเป็นแรงงานจากพม่า มากกว่าร้อยละ 90 รองลงมาเป็นลาว และกัมพูชา ดังนั้น การใช้แรงงานต่างด้าว จึงเป็นแนวทางการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานทางหนึ่ง ซึ่งหากมีการผลักดันแรงงานต่างด้าวออกไปโดยที่ยังไม่มีแรงงานเข้ามาทดแทน ย่อมหมายถึงกำลังการผลิตของผู้ประกอบการอาจต้องหยุดชะงักและส่งมอบสินค้าได้ทันตามสัญญา อันจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และหากไม่สามารถหาแรงงานทดแทนได้ จะเกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม กำลังการผลิตลดลง และผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในช่วงฤดูการผลิตได้รับความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถรับผลผลิตทางการเกษตรเพื่อแปรรูปได้
ส่วนนายอธิป พีชานนท์ กรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ายังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ และหากพ้นกำหนดในวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ก็จะต้องถูกส่งกลับประเทศ แต่เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ไม่สามารถหาแรงงานไทยทำงานได้ ยังจำเป็น ต้องใช้แรงงานต่างด้าว เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ก็ต้องประสบปัญหาในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพราะต้องจดทะเบียน ณ อำเภอ ที่นำแรงงานเข้ามา
"ที่มีการระบุไว้ว่าไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวไปนอกพื้นที่อำเภอที่จดทะเบียนไว้ โดยหากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจะต้องจดทะเบียนใหม่ ณ พื้นที่อำเภอนั้น ๆ ทำให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่งผลให้ภาระต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ประกอบกับปัจจุบันอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบงาน จึงจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มี ซึ่งอาจอยู่คนละพื้นที่หมุนเวียนมาช่วยปฏิบัติงาน โดยหากไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานมาดำเนินงานได้ทันตามกำหนด ก็อาจจำเป็นต้องมีการจ้างแรงงานมาจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทดแทน ส่งผลต่อเนื่องให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกทางหนึ่งด้วย และที่สำคัญหากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน คาดว่าปีหน้าผู้รับเหมาหลักจะไม่กล้ารับงาน เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา ทำให้ผิดสัญญาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมในภาพรวมและเศรษฐกิจของประเทศได้"