ปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่ รายได้ไม่น้อยกว่าคนจบป.ตรี
กษ.ห่วงอนาคตเกษตรกรไทยเหลือร้อยละ 30-อายุมากกว่า 55 ปี ชี้แผน 5 ปีปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่รายได้ไม่น้อยกว่าคนจบปริญญาตรี จับมือ ศธ.สานต่อโครงการ
วันที่ 12 ธ.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยว่า จากความร่วมมือระหว่างกษ. และกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในการจัดทำ ’โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่’ ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2551 - 2555) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีจำนวนลดน้อยลง และจะเหลือเพียงร้อยละ 30 ในอนาคตอันใกล้ โดยจะมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นมากกว่า 55 ปี ขณะที่มีผู้สนใจเรียนทางด้านการเกษตรและวิชาที่เกี่ยวข้องน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดีจากผลการดำเนินงานโครงการฯตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 26,760 ราย โดยมีทั้งสิ้น 31,045 ราย แยกเป็น 3 หลักสูตรได้แก่ 1) หลักสูตรการพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อสร้างฐานความรู้ในการผลิต แข่งขัน และแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ว่างงาน/นักศึกษาที่จบการศึกษาเกษตรกรรม/บุคคลทั่วไป ซึ่งมีอายุระหว่าง 20 -45 ปี วุฒิการศึกษาม.6 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 4,185 ราย
2) หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน เป็นหลักสูตรระยะสั้น 4-6 เดือน เน้นให้เกษตรกรที่อยู่อาศัยในชนบทที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว ได้พัฒนาทักษะการใช้ที่ดินตามชนิดพืชที่ปลูก และยกระดับการผลิตได้ตามความเหมาะสม โดยเน้นการเพิ่มทักษะการวางแผนและจัดการครัวเรือนเกษตรของตนเอง ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำบัญชีครัวเรือน การทำบัญชีฟาร์ม โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1,677 ราย
3) หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่มีอยู่เดิมในสถานศึกษานำร่องของโครงการ เช่น สาขาวิชาพืชศาสตร์ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขาวิชาประมง เป็นต้น โดยนักศึกษาจะได้รับสิทธิเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดิน ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินของเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ด้วย โดยจะต้องเข้าเรียนในสาขาวิชาที่โครงการกำหนดโดยมีระยะเวลาการฝึกอบรม หลักสูตรปวช./ปวส.(3-5ปี) โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 25,183 ราย
ทั้งนี้กษ.จะเสนอให้ขยายความร่วมมือกับศธ.เพื่อดำเนินโครงการต่อไปอีก โดยจะติดตามผลว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะสามารถยึดอาชีพเกษตรกรต่อไปอย่างยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนา ‘เกษตรกรปราดเปรื่อง’ หรือ Smart Farmer ตามนโยบายของกษ.ได้อย่างเป็นรูปธรรม.
ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาส.ป.ก.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ตั้งสมมุติฐานต่อโครงการฯว่า เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรมจะมีรายได้ไม่น้อยกว่าคนทำงานที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วย
ที่มาภาพ ::: http://rimsakron.blogspot.com/p/3.html