หวั่นทวาย ซ้ำรอยมาบตาพุด เสี่ยงทำ AEC ล่ม แนะพม่าถอยเพื่อความยั่งยืน
ม.มหิดล จัดเวทีเสวนาวิชาการ “โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย : มองให้ไกลกว่าผลประโยชน์” ปธ.มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตฯ เชื่อเกิดปัญหาระยะยาว หลังให้น้ำหนักเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ขาดมิติสังคม วัฒนธรรม
วันที่ 12 ธันวาคม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย : มองให้ไกลกว่าผลประโยชน์” โดยนายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
นายวีรวัธน์ กล่าวถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นแค่ส่วนเดียวของทวาย โปรเจ็คต์ แต่เพียงเท่านี้ก็มีขนาดใหญ่กว่ามาบตาพุดราว 10 เท่า โดยคนไทยรับรู้เรื่องมาบตาพุดดีจากการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนและองค์กรอนุรักษ์ต่าง ๆ ว่า โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดล้มเหลวอย่างไร ซึ่งโครงการทวายเอาแบบอย่างจากมาบตาพุดไปทำ รวมทั้งรัฐบาลไทยเองก็ยอบรับว่า ปัญหามาบตาพุดนี้ยากจะแก้ไข ทำได้เพียงประกาศเขตควบคุมมลพิษ มีกฎหมายควบคุมเข้มงวดแต่ก็ยังมีปัญหา
“โครงการทวายน่าจะมีปัญหาในระยะยาว ในขณะที่ความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ต่อโครงการทวายยังมีประปราย โดยมากรับรู้จากข่าวหน้าเศรษฐกิจ การลงทุน ซึ่งมักเป็นข่าวว่า ประเทศไทยได้ประโยชน์ โดยขาดการนำเสนอในมิติอื่น ๆ ที่มากกว่าเศรษฐกิจ”
ส่วนความคืบหน้าของโครงการนี้นั้น ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงระยะที่ 1 ของโครงการ มีความคืบหน้าไปแล้วเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของโครงการทั้งหมดที่จะกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563
ปี'58 วัดทวายสำเร็จหรือล้มเหลว
ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวถึงโครงการทวายกับความสำเร็จของประชาคมอาเซียนอีกว่า ในปี 2558 จะมีสองเหตุการณ์ที่น่าสนใจมาบรรจบกัน คือพม่าจะเป็นประธานอาเซียน ในขณะเดียวกันบริษัทอิตาเลี่ยนไทยได้ประกาศไว้ว่าท่าเรือน้ำลึกส่วนที่ 1 จะเสร็จ โครงการทวายจึงจะเป็นกรณีศึกษาว่าอาเซียนจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในอนาคต
“ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลัก สิ่งใดที่จะมั่นคงต้องประกอบด้วยสามเสา แต่กรณีทวายเรากำลังให้น้ำหนักเฉพาะเสาเศรษฐกิจ โดยไม่มีการพูดถึงเสาการเมืองและความมั่นคง และเสาสังคมและวัฒนธรรมเลย ในที่สุดเสาเศรษฐกิจก็จะพาสองเสาที่เหลือล้ม สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าโครงการแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ อาเซียนจะล้ม เพราะสามเสาไม่สมดุลกัน”
นายวีรวัธน์ กล่าวด้วยว่า งานศึกษาวิจัยของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ระบุว่า ประชาชนในประเทศที่พัฒนามากกว่าและมีเศรษฐกิจดีกว่า เห็นว่าการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนมีประโยชน์โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ประชาชนของประเทศที่เรียกตัวเองว่า CLMV คือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีความกังวลต่อการรวมตัวของประชาคมอาเซียนว่า จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนถูกกอบโกยโดยประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาเติบโตกว่า สะท้อนว่า อาเซียนก็ไม่ไว้วางใจกันเองเหมืนกัน
เปิดแผล ผลกระทบสร้างท่าเรือทวาย
ทั้งนี้ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้นำเสนอรายงานที่น่าสนใจในหัวข้อผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยแบ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบดังนี้
1.พื้นที่ก่อสร้างท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งน่ากลัวที่สุดเพราะจะเกิดมลภาวะทางอากาศสูงมาก ทั้งสารก่อมะเร็งจากปิโตรเคมี คาร์บอนไดออกไซด์กว่า 30 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าพม่าทั้งประเทศ จากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกกะวัตต์ ซึ่ง หรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 4 แสนตันต่อปีที่จะก่อฝนกรด
- ผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ จากโลหะหนักของปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมหนัก ที่จะสะสมและปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ แม่น้ำทวายและแม่น้ำเล็ก ๆ
- ทำลายทรัพยากรทางทะเลและการประมง เนื่องจากโลหะหนักจะเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร และอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากน้ำที่ใช้หล่อเย็นในโรงไฟฟ้า ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง
- สวนผลไม้ พืชพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่จำนวนมากจะหมดโอกาสในการนำมาปรับปรุงพันธุ์ต่อไป มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต
- วิถีชีวิตของชาวบ้านถูกทำลาย เปลี่ยนจากวิถีเกษตรสู่วิถีแรงงาน เมื่อใกล้ชิดกับโรงงานมากจะเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคปอด โรคมะเร็ง ผิวหนัง รวมถึงการทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่จะก่อความเครียดแก่ชีวิตมากกว่าภาคเกษตร
2.พื้นที่อ่างเก็บน้ำ ป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ของแม่น้ำทวายจะถูกทำลายจากการสร้างเขื่อน
3.พื้นที่ตัวเมืองทวาย ซึ่งคนทวายเองส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศ คล้าย ๆ กรณีมาบตาพุดของไทย ที่เมืองระยองซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างมากนักจากนิคมอุตสาหกรรมก็ประสบมลภาวะสารปนเปื้อนเช่นเดียวกัน
4.พื้นที่ถนนจากทวายมาพุน้ำร้อน จะกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ในเขตเทือกเขาตะนาวศรีที่มีความอุดมสมบูรณ์ ป่าที่เคยต่อกันเป็นผืนใหญ่จะถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ถือเป็นการทำลายระบบนิเวศ
5.พื้นที่ จ.กาญจนบุรี สืบเนื่องจากมลภาวะทางอากาศที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย เมื่อใดที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้รุนแรงก็จะพัดเอามลภาวะดังกล่าวมายังเมืองกาญจนบุรีทันที ซึ่งทิศทางลมจะพัดผ่านจากทวายเข้ามา อ.ทองผาภูมิ ผ่านไปสังขละบุรี เข้าทุ่งใหญ่นเรศวรและไปยัง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ต่อไป
“มลภาวะดังกล่าวอาจก่อให้เกิดฝนกรดที่ทองผาภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งผลไม้ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองกาญจน์ก็จะได้รับผลกระทบ และที่สำคัญกว่านั้นถ้าเกิดปัญหานี้กับทุ่งใหญ่นเรศวร ยูเนสโกอาจขึ้นบัญชีอยู่ในภาวะอันตราย ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ก็อาจถูกถอดออกจากการเป็นมรดกโลก”
และ 6.พื้นที่มอเตอร์เวย์สาย 81 ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายเอาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสองเส้นคือช่วงบางใหญ่-บ้านโป่ง และจากบ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร กว้าง 200 เมตร เดิมถูกกำหนดให้ใช้เพื่อเดินทางระหว่างเมือง แต่ตอนนี้มีแนวโน้มจะเชื่อมต่อกับโครงการทวาย ปัญหาที่จะเกิดคือชาวบ้านอาจถูกเวนคืนที่ดินและโยกย้ายออกไปอยู่ที่อื่น คาดว่าประชาชน 50,000 คนจะได้รับผลกระทบ
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย
1.ยอมรับความล้มเหลวในการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยเฉพาะด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน เพราะการนำรูปแบบอีสเทิร์นซีบอร์ดของมาบตาพุดไปใช้กับโครงการทวายย่อมจะเกิดปัญหาเดียวกันซึ่งรัฐบาลไทยต้องร่วมรับผิดชอบ
2.เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชนทวายที่ติดตามข่าวสารเรื่องมาบตาพุดมาตลอด รัฐบาลไทยต้องเร่งรีบแก้ปัญหามาบตาพุดให้ได้ก่อนเข้าไปดำเนินการในทวาย
3.เพื่อแสดงถึงความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี รัฐบาลไทยควรนำปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาประเทศ ถ่ายทอดให้แก่พม่าเพื่อใช้เป็นบทเรียนและวางแนวทางการพัฒนาพม่าที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต การแสดงตนเช่นนี้ย่อมได้รับความชมเชยและศรัทธามากกว่ามุ่งเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ฝ่ายเดียว
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลพม่า
1.ควรชะลอโครงการทวายเอาไว้ก่อนเพื่อถอยกลับมาทบทวนรูปแบบการพัฒนาทวายที่ยั่งยืนที่สุด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ตามที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้แถลงไว้
2.เร่งออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม ออกกฎระเบียบว่าด้วยการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (HEA) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบต่อสุขภาวะ (HIA)
3.ใช้โครงการพัฒนาทวายอย่างยั่งยืน สร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้ประเทศพม่าในฐานะที่จะเป็นประธานอาเซียนในปี 2558 ว่า รัฐบาลพม่ายึดมั่นในกฎบัตรอาเซียน และจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาอาเซียนต่อไป
ข้อเสนอแนะต่อคนเมืองกาญจน์
เนื่องจากเป็นเมืองที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการทวายค่อนข้างมากที่สุดในประเทศไทย
1.คนเมืองกาญจน์ต้องติดตามโครงการทวายอย่างใกล้ชิดในฐานะเมืองผ่าน โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา นักวิชาการ ศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
2.ศึกษารูปแบบการพัฒนาเมืองคู่แฝดระหว่างกาญจนบุรีและทวาย ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันที่ยั่งยืนบนศักยภาพของเมืองทั้งสอง เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเมืองกาญจน์และคนทวายอย่างแท้จริง
3.ดำเนินการให้เกิดการประชุมร่วมระหว่างคนเมืองกาญจน์และประชาชนทวายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เป็นเวทีเพื่อการปรึกษาหารือในการพัฒนาร่วมกันที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองเมืองอย่างเท่าเทียมกัน เป็นเวทีประชุมระหว่างประชาชนกับประชาชนอย่างแท้จริง