แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ตรวจแผนปลูกป่า “ดิศนัดดา” ฝากวิธีคิด "ชาวบ้านอยู่ได้ ป่าจึงจะอยู่รอด"
ในรอบ 1 ปี ภายหลังมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ในปี 2554 รัฐบาลตื่นตัวและเรียกประชุมเพื่อวางยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำและอุทกภัยครั้งใหญ่ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มาวางระบบ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
ส่วนของแผน 'ต้นน้ำ' ได้กำหนดแผนปลูกป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าและดิน ตามแนวโครงการพระราชดำริ โดยได้วางแผนจะปลูกป่า 800 ล้านกล้าไม้ 180 กล้า ปลูกหญ้าแฝก 150 ล้านกล้า รวมไปถึงการทำฝายชะลอน้ำ 2,810 ฝาย
สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุย กับ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สืบสานงานพระราชดำริ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อสอบถามความคืบหน้าสำหรับแผนต้นน้ำ ทั้งปลูกป่าและสร้างฝาย
ม.ร.ว.ดิศนัดดา เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ตลอด 1 ปี ที่มีประชุมและดำเนินงานมา ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระรับผิดชอบเฉพาะต้นน้ำเท่านั้น ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องการปลูกป่าในพื้นที่ 10 จังหวัดต้นน้ำ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ตาก เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ สุโขทัย น่าน และอุตรดิตถ์ ทั้งภูเขา ลุ่มน้ำเล็กๆ และเขื่อน ก่อนที่จะแยกลงแม่น้ำใหญ่ๆ อย่าง ปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำโขง
เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม มีการประชุมและมีการตกลงกันว่า รัฐบาลจะเริ่มต้นปลูกป่าก่อน 20 ล้านต้น ในโครงการ "ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 80 - 84 พรรษา มหาราชินี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ทดลองปลูกและตรวจเช็คว่า ได้ผลจริงหรือไม่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและปลูกต่อในปี 2556 โดยได้มอบหมายให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบแผนในการปลูกป่าปี 2556
ฝากหน่วยงาน มองความสำเร็จเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จ
ม.ร.ว.ดิศนัดดา เผยถึงความคืบหน้าอีกว่า ขณะนี้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมูลนิปิดทองหลังพระ กำลังเดินหน้าเพาะกล้าไม้ ด้วยงบของมูลนิธิเอง คาดว่า ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งได้เสนอวิธีการเพาะ การปลูก ชนิดของกล้าไม้ไปแล้ว กำลังอยู่ในขั้นที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาว่าวิธีการปลูกตามที่เสนอนั้นเป็นวิธีการที่กรมป่าไม้และกรมอุทยาน...รับได้หรือไม่
"คาดว่า ภายในเดือนมกราคม 2556 จะได้ทราบผลการพิจารณาทั้งหมด แต่ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เริ่มเพาะกล้าไปบ้างแล้ว เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ผมห่วงว่า หน่วยงานราชการหรือกรมต่างๆ อาจยังติดอยู่กับกรอบคิดแบบราชการ ยังไม่ออกนอกกรอบ
หากให้หน่วยงานราชการแต่และกระทรวงรับผิดชอบไปปลูก เช่น กระทรวงมหาดไทยจะสั่งตรงไปถึงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ก็ห่วงว่าการเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยานจะผิดกฎหมาย ขณะที่ทางมูลนิธิได้เซ็นเอ็มโอยูไว้ก่อนแล้วจึงไม่ผิดกฎหมาย ส่วนนี้หน่วยงานราชการควรมองความสำเร็จเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จ"
ส่วนการจะยึดความสำเร็จเป็นตัวตั้งนั้น ม.ร.ว.ดิศนัดดา บอกว่า ก่อนจะปลูกป่าต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมภูเขาถึงหัวโล้น ทำไมคนถึงต้องบุกรุกป่า นั่นเพราะคนอยู่ไม่รอด จึงมีความจำเป็นต้องทำให้ชุมชนที่รุกที่ป่านั้นอยู่รอดเสียก่อน จึงจะได้ป่าคืนมา ไม่อย่างนั้นอยู่ๆ จะไปจิ้มพื้นที่ไหนมาปลูกก็จะเจอแต่ที่บุกรุก ชาวบ้านก็มาเดินขบวน ปลูกเท่าไหร่ ลงทุนเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล
ปลูกป่า ต้องมององค์รวม
วิธีการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใช้มาตลอด คือ เอากฎหมายเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ใช้รัฐศาสตร์เป็นตัวตั้ง จริงๆ แล้วควรใช้ผสมผสานกัน เมื่อผู้บุกรุกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว แต่ยังใช้เนื้อที่ป่าและยังโลภมาก ค่อยดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าจะไปไล่ที่ตอนนี้เลยคงไม่ถูก เพราะคนไม่มีที่ทำกิน ถ้าไม่ให้ปลูกป่าก็คงต้องค้าประเวณี!!
"จะเห็นได้ว่าแค่การปลูกป่ายังต้องมององค์รวม ป่าไม่ใช่แค่ป่า จริงๆ แล้วไม่มีวิธีการอะไรที่ยุ่งยาก แค่มองโดยใช้คนเป็นตัวตั้งแล้วแก้ปัญหาที่ความยากจน และสร้างโอกาสให้คนก่อนเท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบในหลักการและวิธีการที่ทางมูลนิธิฯ ได้เสนอไปเรียบร้อยแล้ว"
ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแนวคิดของมูลนิธิฯ เชื่อได้ว่าอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2556 น่าจะเริ่มสร้างความเข้าใจระหว่างราชการและหน่วยงานต่างๆ ได้หมด จึงค่อยลงไปทำความเข้าใจกับชุมชน
จากนั้นปี 2557 จะสามารถลงต้นกล้าได้ โดยที่รัฐบาลวางงบประมาณในส่วนนี้ไว้ให้ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้มูลนิธิฯ ยังไม่ได้รับ
ในส่วนของพันธุ์ไม้ที่จะปลูก ม.ร.ว.ดิศนัดดา แจกแจงให้ฟังว่า ส่วนใหญ่จะเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ปลูกแล้วจะได้มูลค่าเพิ่ม เพราะมีการคำนวณไว้เสร็จสิ้นแล้วว่า พืชชนิดไหน ขายได้กิโลกรัมละเท่าไหร่ เช่น กระท้อน หรือต้นไผ่
สาเหตุที่ต้องปลูกพืชที่มีมูลค่าและให้ชุมชนได้ประโยชน์นั้น หากชุมชนไม่ได้ประโยชน์ เมื่อมาปลูกเขาก็กระตุกรากขาด หรือจุดไฟเผา แต่ถ้าปลูกแล้วเขาได้ประโยชน์ คงจะมีแต่ช่วยกันดูแล ป้องกันไฟป่า โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ด้วยซ้ำ อีกหน่อยกระทรวงต่างๆ ที่ดูแลก็ควรหันมาใช้วิธีการเช่นนี้ จะปลูกแบบเต่าล้านปีทำไม
"ตั้งแต่ทำโครงการปลูกป่ากันมา ใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไหร่ แล้วป่ามันหายไปมากขึ้น หรือเพิ่มมากขึ้น แล้วจะลองใช้วิธีของผมสักครั้งไม่ได้หรือ ผมยังไม่เห็นว่า มีอะไรเสียหาย ที่ดอยตุงอยู่ได้ดี ซึ่งนายกฯ ก็เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า เมื่อชาวบ้านอยู่ได้ ป่าจึงจะอยู่รอด"
นอกเหนือจากการปลูกป่าแล้ว ยังมีการสร้างฝาย ห้วยเล็กๆ บ่อพวง แก้มพวง ไล่ลงมาจนถึงพื้นราบลงสู่แก้มลิง โดยทางมูลนิธิฯ จะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสร้าง ซ่อมและบำรุงรักษา เพราะเขาได้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ขณะนี้ได้วางแผนไว้หมดพร้อมกับแผนปลูกป่าแล้ว และยืนยันได้ว่าจะไม่ทับซ้อนกับแผนของรัฐบาลหรือกระทรวงอื่นๆ และเชื่อว่าจะไม่มีเขื่อนใหญ่ๆ เกิดขึ้นอีก เพราะมีวิธีที่ดีกว่าและสามารถทำได้
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ฝากย้ำทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า...
"ผมขอเน้นย้ำไว้ตรงนี้เลยว่าเรื่องปลูกป่า ต้องเอา 'คน' เป็นตัวตั้งถึงจะหมดปัญหา แต่ถ้าเอา 'ป่า' เป็นตัวตั้งเมื่อไหร่ไม่มีทางเกิดป่าได้แน่!!!"