เปิดนิทรรศการศิลปะเยาวชน “คอรัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ”
23 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ UNDP - ป.ป.ช. เปิดนิทรรศการศิลปะต่อต้านคอรัปชั่น “คอรัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 11-16 ธ.ค.นี้
วันที่ 9 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันต่อต้านคอรัปชั่นสากล 23 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานเปิดนิทรรศการศิลปะต่อต้านคอรัปชั่น “คอรัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. นาย LUC Stevens ผู้ประสานงานสหประชาชาติ และผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย นายเทพ วงษ์วานิช รองประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น และนางลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมเปิดงาน
นาย LUC กล่าวถึงนิทรรศการศิลปะต่อต้านคอรัปชั่น “คอรัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-16 ธันวาคมนี้ ไม่เสียค่าเข้าชม เป็นการจัดแสดงผลงานของนิสิตนักศึกษา โดยจะมีมุมมองแนวคิดที่เกี่ยวกับคอรัปชั่นในตัวเรา มากกว่าการมองว่า คนอื่นเป็นสาเหตุหลักของการทุจรติคอรัปชั่น
"การต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทย ต้องเริ่มที่ตัวเราทุกคนจากการกระทำของเรา นิสัยของเรา และทัศนคติ"
ผู้ประสานงานสหประชาชาติ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นในช่วงที่ผ่านมา ที่พบว่า กว่า 60% คนไทยส่วนใหญ่คิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ถ้าหากตนได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ก็มีความคิดเห็นไปในลักษณะเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เป็นความคิดที่ผิด
ขณะที่นายปานเทพ กล่าวว่า การคอรัปชั่นถือเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ที่นับวันขยายตัวและส่งผลกระทบต่อโลกอย่างร้ายแรง ที่ผ่านมา ไทยก็ได้เข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วย การต่อต้านการทุจริต ขณะเดียวกันป.ป.ช.ยังกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ในการดึงกลุ่มเยาวชนเข้ามาร่วมในการต่อต้านการทุจริต มีทั้งโครงการต้นกล้าสีขาว และโครงการโตไปไม่โกง เป็นต้น
“การสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนทัศนคติเยาวชน ให้เข้าใจถึงผลร้ายของการทุจริต จึงเป็นเรื่องที่ท้ายทายมาก การจัดนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดึงดูดเยาวชนและประชาชนคนไทยให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้น”
ส่วนนายเทพ กล่าวว่า เยาวชนรุ่นใหม่มีส่วนช่วยประเทศได้ด้วยการสร้างพลัง ปลุกกระแสสังคมไม่ให้ยอมรับคนโกงกินบ้านเมือง โดยต้องผลักดันคนเหล่านั้นให้พ้นจากสังคมไทยให้ได้
“การที่นักการเมืองโกงกินงบประมาณแผ่นดิน แค่ประมาณ 2- 3 แสนล้านบาท/ปี ก็ทำให้ประเทศพัฒนาช้าลงถึงเวลาที่คนไทยควรต้องเปลี่ยนความคิด ‘โกงได้ตราบใดที่ทำให้ประเทศเจริญ’ ได้แล้ว เพราะความจริงคนโกงไม่มีทางทำให้ประเทศเจริญ มีแต่จะทำให้ประเทศนับวันแต่จะล้าหลังไปเรื่อยๆ”
จากนั้น ในช่วงบ่าย มีกิจกรรมด้านหน้าลานหอศิลป์ฯ โดยนักศึกษาจากหลายสถาบันทำกิจกรรมร่วมกันในการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงคำแนะนำในการแก้ปัญหา ขณะที่บางส่วนรวมตัวชูป้ายเพื่อแสดงสัญลักษณ์ "คนไทยรวมพลังไม่เอาคอร์รัปชั่น"
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/media/set/?set=a.387366434678935.91566.325701554178757&type=3
ตัวอย่าง ผลงานศิลปะคอรัปชั่นในตัวเรา
ชื่อภาพ The man in colorful suit
โดย สมโภชน์ พูนเกตุกิต ม. นเรศวร กับ แนวคิด...
"มายาคติของความไม่รู้จักพอของคนในสังคมเปรียบเสมือนคางคกที่กินเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ พยายามเลือกสรรเครื่องแต่งกายที่ดูดีมาปกปิดความน่ารังเกียจ โสโครก เพื่อให้คนอื่นเคารพและศรัทธาในรูปลักษณ์ภายนอก อำนาจ ยศตำแหน่ง ฐานะ ความมีหน้ามีตาทางสังคม แม้นจะเบียดเบียนความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ในชนชาติเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองในสิ่งที่ต้องการ"
ชื่อภาพ หลับหูหลับตา
โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ
"การคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เราส่วนใหญ่กล่าวโทษผู้อื่น ว่าเป็นผู้กระทำ แต่ในความจริงเรามิได้ตระหนักถึงนั่นก็คือ เราทุกคนล้วนมีส่วนร่วม ในสิ่งดังกล่าวในทางอ้อมทั้งจากการเพิกเฉย การให้การยอมรับ การที่เราไม่แสดงจุดยืนในการต่อต้านการคอรัปชั่นอย่างจริงจัง"