ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์: 'ไอ้ก้านยาว’ ผู้รับไม้ต่อ 2 ขวบปี 'สภาเกษตรกรแห่งชาติ'
ครบ 2 ขวบปีตามบทเฉพาะกาลที่เพิ่งถ่ายโอนอำนาจจากกระทรวงเกษตรฯ สู่สภาฯตัวจริง จึงเป็นฤกษ์ดีที่ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปพูดคุยกับ ‘ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์’ อดีตนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทีรู้จักในนาม 'ไอ้ก้านยาว' วันนี้รับบท 'ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ'
จาก‘ไอ้ก้านยาว’ถึง ‘ประธานสภาเกษตรกรฯ’ กับหัวใจเกษตรดวงเดิม
”หัวใจก็ยังดวงเดิม ยังอยากสร้างสิ่งใหม่ๆให้สังคม อย่างน้อยก่อนตายจะได้มีอะไรฝากไว้กับแผ่นดิน” ‘ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์’ เปิดการสนทนาด้วยคำตอบหนักแน่น เมื่อถูกถามว่า ‘ไอ้ก้านยาว’ นักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยชื่อดังในภาพถ่ายเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ถือไม้หน้าสามประจันหน้ากับทหาร แตกต่างกับ ‘ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ’ ในวันนี้หรือไม่
แม้จะมีงานล้นมือภายหลังสภาเกษตรกรฯเพิ่งรับถ่ายโอนภารกิจเต็มรูปแบบจากกระทรวงเกษตรฯ แต่ ‘ประพัฒน์’ ก็ยังได้ใช้เวลาว่างทำการเกษตรขลุกตัวอยู่ใน ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ผสมผสานของเขาที่จ .ลำปางเช่นเคย ฟาร์มผสมผสานของอดีตคนเดือนตุลาผู้นี้ มีทั้งฟาร์มปศุสัตว์เลี้ยงปลา หมูและไก่พันธุ์พื้นเมือง ปลูกพืชสวนเช่น ส้มโอ มะม่วง มะละกอ และทำนาปลูกข้าวไว้รับประทานในครอบครัว โดยผลไม้บางส่วนจากฟาร์มยังส่งขายที่ห้างสรรพสินค้าในลำปางอีกด้วย
เพราะไม่เคยทิ้งวิถีเกษตร ‘ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนแรก’ จึงเข้าใจปัญหาและความลำบากของเกษตรกรไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย โดย 2 ปีที่ผ่านมาของการก่อตั้งสภาเกษตรกรฯตาม พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 แม้จะอยู่ในช่วงบทเฉพาะกาลที่กฎหมายยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่ แต่สภาเกษตรกรฯก็ได้ช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรด้วยการเสนอข้อคิดเห็นต่างๆแก่นายกรัฐมนตรีโดยตรง เช่น การเสนอให้มีตัวแทนสภาเกษตรกรในทุกจุดรับจำนำข้าว เพื่อแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส หรือ จัดเวทีร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชนเพื่อรับฟังความคิดของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่รัฐบาลสั่งนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากจนราคามะพร้าวตกต่ำเป็นผลให้รัฐสั่งระงับการนำเข้า เป็นต้น โดยสามารถลดความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้านได้
“สิ่งที่สภาเกษตรกรฯทำคือ เชิญแกนนำและเจ้าหน้าที่รัฐมาพูดคุย ทำให้พี่น้องเกษตรกรมีทางออกและรู้สึกว่าปัญหาของเขามีคนรับฟังและส่งเรื่องต่อให้รัฐบาล ซึ่งแต่เดิมเรื่องเหล่านี้จะไม่เกิด เขาต้องปิดถนนประท้วงก่อนเจ้าหน้าที่รัฐถึงจะมารับฟังปัญหา....แต่ถ้าคุยกันแล้วรัฐยังไม่แก้ปัญหา เกษตรกรจะปิดถนนถึงเวลานั้นเราก็จะไม่ห้ามเขา”
ปัญหาใหญ่เกษตรกรไทย คือ ‘การใช้สารเคมี – ขาดที่ทำกิน’
อย่างไรก็ดีหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของสภาเกษตรกรฯ ‘ประธานสภาเกษตรกรฯ’ กล่าวว่า คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรด้วยการให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านเกษตรอินทรีย์
“ข้อเท็จจริงก็คือ อัตราการนำเข้าเคมีเกษตรเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละหลายหมื่นล้านบาท เกษตรกรใช้เคมีฟุ่มเฟือยมาก ทั้งเพื่อเพิ่มผลิต ทั้งแรงยุจากการโฆษณา การกินพืชผักจึงไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ส่วนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี สารก็เข้าสู่ร่างกายโดยตรง สุขภาพจึงเลวลง อายุสั้นและมะเร็งมากขึ้น จนกลายเป็นภาระด้านสาธารณสุขของชาติ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้อง ทำคือทำให้เกษตรกรมีความรู้ รู้จักลดต้นทุนการผลิต ด้วยการลดใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี หันมาใช้วิธีการเกษตรอินทรีย์ และมีความสำนึกรับผิดชอบต่อผู้บริโภคโดยผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้ได้”
เมื่อถามถึงปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญ เขายอมรับว่าที่ผ่านมาการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย คนที่ได้รับอานิสงค์คือเกษตรกรรายใหญ่ และบรรษัทข้ามชาติ ขณะที่เกษตรกรรายย่อยกลายเป็นภาระของสังคม และเป็นประชาชนชั้นสองเพราะการเข้าไม่ถึงโครงการและนโยบายต่างๆของรัฐ ซึ่งสาเหตุหนึ่งอันเป็นปัญหาสำคัญ คือ การขาดที่ทำกิน
“ที่ดินของชาวนาส่วนใหญ่เปลี่ยนมือไปและมีสัดส่วนการถือครองที่ดินน้อยมาก นอกจากนี้มีเกษตรกรรวมกันเป็นล้านครอบครัวที่ทำกินอย่างผิดกฎหมายในที่ของรัฐ เมื่อมีโครงการต่างๆจึงเข้าร่วมไม่ได้ เช่น โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ซึ่งคนที่จะเข้าโครงการต้องเอาเอกสารสิทธิ์มาแสดง แต่เกษตรกรเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์เลย ทั้งที่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่รัฐไปรังแกเขา เช่น ประกาศเขต ส.ป.ก.ครอบทั้งอำเภอ หรือ ประกาศเขตป่าสงวนครอบทั้งตำบล”
โดยมองว่าปัญหาการขาดแคลนที่ทำกินเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการขาดโอกาสพื้นฐานในการทำกินอาจเป็นปัจจัยนำไปสู่ปัญหาค้ามนุษย์ ยาเสพติด อาชญากรรมต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข แม้จะทำได้ยากเพราะเกี่ยวเนื่องกับหลายหน่วยงานก็ตาม โดยในส่วนของสภาเกษตรกรฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการเรื่องที่ดินขึ้นชุดหนึ่งเพื่อเสนอความคิดเห็นและแนวทางการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล
นอกจากนี้ปัญหาอีกอย่างที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเท่าที่ควร คือ การขาดการมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นต่อนโยบายต่างซึ่งมีผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง “ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีช่องทางในการเสนอความเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลคิดรัฐบาลทำเขารับได้ ถูกต้อง และเขาสามารถเข้าถึงได้หรือเปล่า ซึ่งต่างจากเกษตรกรรายใหญ่ที่โทรศัพท์สายตรงถึงรัฐมนตรียังได้เลย ส่วนชาวบ้านไม่มีสิทธิ์หรอกแค่เข้าหาเกษตรจังหวัดก็ตัวสั่นแล้ว”
ดังนั้นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ 100 คน รวมทั้งตัวแทนในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดรวมจังหวัดละกว่า 20 คน ต้องทำ คือ การเป็นปากเสียงให้กับเกษตรกรรายย่อยเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆให้รัฐบาลรับทราบ “ถ้ารัฐบาลใช้สภาเกษตรกรฯให้เป็นประโยชน์ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเกษตรกรรายย่อยจะลดน้อยลง แต่หากรัฐไม่รับฟังเสียงเกษตรกร สภาฯก็อยู่เฉยไม่ได้ ต้องลุกมาชนกับรัฐบาลแทนเกษตรกรทั้งประเทศ”
‘จำนำข้าว’ถูกใจ แต่ส่งผลร้ายระยะยาว
บทสุดท้ายของการสนทนาหากไม่พูดถึง ‘โครงการรับจำนำข้าว’ เรื่องร้อนที่วิจารณ์กันไม่จบสิ้นคงจะไม่ได้...โดยเรื่องนี้ประธานสภาเกษตรกรฯกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “สภาเกษตรกรฯจะไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าวไม่ได้เลย” โดยสมาชิกสภาเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุนและคอยติดตามดูว่าจะมีใครทำให้โครงการฯล้มเลิกไปหรือไม่ เหตุผลสำคัญคือเสียงสะท้อนจากชาวนาที่พอใจโครงการฯซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้พวกเขาได้จริง และสามารถยกระดับราคาข้าวได้ทั้งระบบ
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างมาก คือ ปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากโครงการจำนำข้าวกระตุ้นให้เกษตรกรมีแนวโน้มจะเพิ่มผลผลิตในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ผลที่ตามมาคือการเร่งใช้สารเคมีปลูกข้าว ทำให้ได้ข้าวที่ไม่ปลอดภัยและไม่ได้คุณภาพ
ซึ่งประธานสภาเกษตรกรมองว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ใช่การยกเลิกโครงการจำนำซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ แต่ควรเสนอทางเลือกให้แก่เกษตรกร โดยให้มีทั้งโครงการจำนำข้าวและประกันราคาข้าวควบคู่กัน เพื่อกระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึงทั้งชาวนารายใหญ่ที่มีข้าวเข้าโครงการจำนำมากและชาวนารายย่อยที่ผลิตข้าวไว้ขายได้น้อย ขณะที่โครงการจำนำข้าวควรมีหลายระดับราคาตามคุณภาพของข้าว “เช่น ข้าวคุณภาพดี เกรดเอ ไม่มีสิ่งเจือปน ความชื้นเหมาะสม ได้ไป 15,000 แต่ข้าวที่คุณภาพรองลงมาอาจเหลือ 13,000 เป็นต้น" โดยเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรอยากปลูกข้าวคุณภาพดีเพื่อให้ได้ราคาเต็ม และสามารถแก้ปัญหาคุณภาพข้าวสอดรับนโยบายรัฐได้
………………
‘ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์’ กล่าวว่า การเมืองไทยเดี๋ยวนี้ยิ่งลึกและชัดเจนในการแบ่งแยก....ปัญหาของกระดูกสันหลังชาติที่ไม่สังกัดฝ่ายการเมือง โดยมีสภาเกษตรกรฯสะท้อนเสียงไว้จะมีใครสนใจแก้ไขอย่างจริงจัง?....เกษตรกรวันนี้คงไม่ได้หวังเพียงให้รัฐได้’ฟัง’ แต่ต้อง ‘ได้ยิน’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ::: สภาเกษตรกรฯ เตรียมชงรบ.จำนำข้าวควบประกันราคา bit.ly/UcvbBB
ที่มาภาพ ::: http://ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย.blogspot.com/2012/11/traditional-thailand-004.html
http://news.trekaseen.com/?p=2937
Posttoday http://bit.ly/UONBx0