'ธีรุยทธ' ติง พท.อย่าแก้ รธน.เพื่อทักษิณ
'โภคิน' ย้ำ รธน.50 บ่อเกิดความอยุติธรรม ด้านศ.ธีรยุทธ มองเป็นเกมอำนาจของผู้มีอำนาจมายุคยุคทุกสมัย ถามพรรคเพื่อไทย จะแก้ รธน.เพื่อขยายสิทธิเสรีภาพ หรืออำนาจ ปชช.ได้อย่างไร
เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์โภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง “รัฐธรรมนูญไทย: ทางออกของสังคม?” ในงานสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า 80 ปี รัฐธรรมนูญไทย” จัดโดยสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวาระครบรอบ 80 ปีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ตอนหนึ่งถึงบ่อเกิดของปัญหาวิกฤตการเมืองในปัจจุบันเกิดจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ 1.การไม่ยึดมั่นในกติกาสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ 2.การไม่ยึดมั่นในหลักนิติธรรม และ 3.การไม่มีหลักเมตตาธรรมและการให้อภัย โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นบ่อเกิดของความ อยุติธรรม เพราะมีที่มาโดยไม่ชอบธรรม เนื้อหาก็ขัดกันเอง
ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวถึงมาตรา 309 เขียนว่า ให้ประกาศคำสั่งรวมถึงการปฏิบัติตามประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขณะที่มาตรา 6 เขียนว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่า กฎหมายอื่น ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้อาจถูกโต้แย้งว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด ยกเว้นประกาศของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 เหตุนี้ทำให้รัฐธรรมนูญขัดกันเองอย่างรุนแรง ถ้ายังรักษารัฐธรรมนุญฉบับนี้ก็เท่ากับรักษาบ่อเกิดของความขัดแย้งต่อไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น
รศ.โภคิน กล่าวอีกว่า ตนเห็นว่าถ้าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีวิธีถามประชาชน 2 วิธี วิธีแรกคือ ถามก่อนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนเอากระดาษเปล่าไปถามประชาชน กับอีกวิธีคือเมื่อ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว จึงเอาร่างนั้นไปถามประชาชนว่าเอาหรือไม่ ถ้าไม่เอาก็ตกไป ซึ่งวิธีแรกนั้นเป็นไปไม่ได้ในตัวของมันเอง และตนยังมีข้อสังเกตว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำว่าฉบับใหม่หมายถึงเปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ถ้าแก้โดยไปเปลี่ยน พ.ศ.ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แปลว่าล้มล้างการปกครอง ถ้าไม่เปลี่ยน พ.ศ.ก็แปลว่าใช้ได้ ถ้าตีความกันแบบนี้ก็ไปออกรายการโจ๊กได้
ธีรยุทธ ชี้ที่เถียงกันมา ผิดเป้าหมายทั้งหมด
ขณะที่ ศ.ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนคิดว่าที่ผ่านมาการถกเถียงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ผิดเป้าทั้งหมด จะไม่ขอถกเถียงเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญว่าใครจะร่างหรือร่างกันอย่างไร ตนมองว่ามันเป็นเกมอำนาจของผู้มีอำนาจมายุคยุคทุกสมัย และเชื่อมั่นว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมมีอำนาจเต็มที่ในการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใดก็ได้ทุกประเด็นโดยไม่มีข้อจำกัด แต่ต้องไม่กระทบความเชื่อพื้นฐานของคนในสังคม
"ตอนนี้คนส่วนหนึ่งมองการแก้รัฐธรรมนูญทำเพื่อทักษิณ ว่าจะทำให้ได้กลับประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษ ได้เงินคืน ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการคอร์รัปชั่น โอกาสที่จะเกิดปัญหาจึงมีสูง ส่วนตัวยังไม่ได้ยินว่าพรรคเพื่อไทยจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพหรืออำนาจของประชาชนอย่างไร ถ้าทำในเรื่องนี้ผู้คนจะยอมรับมากขึ้น"