ปาฐกถา..'ธีรยุทธ' มองอนาคตการเมืองไทย 'เหลือง-แดง' จะคลี่คลายตัวมันเอง
"ระบบการเมืองเราเป็นระบบการเลือกตั้งจัดสรรช่วงชิงความมั่งคั่งเข้ากลุ่มตน
กติการ่วมกันจะไร้ความหมายไปเรื่อย ๆจะเกิดกลุ่มใครกลุ่มมัน"
ศาสตราจารย์ธีรยุทธ บุญมี กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยในอนาคต” ในงานสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า 80 ปี รัฐธรรมนูญไทย” ที่สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้น เนื่องในวาระครบรอบ 80 ปีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
ศ.ธีรยุทธได้นำเสนอประเด็นศึกษาซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ว่า
1.ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยจะขยายเป็นความขัดแย้งภูมิภาคจนมีการแบ่งแยกหรือไม่
แต่ผลการศึกษาไม่พบแนวโน้มว่า ปัญหาจะบานปลาย ชาวบ้านส่วนใหญ่ภูมิใจในความเป็นภูมิภาคของตัวเองและสนใจเรื่องสิทธิอำนาจและท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น
2.วิกฤตเหลือง-แดงจะคลี่คลายตัวหรือไม่
มองว่าความขัดแย้งเหลือง-แดงจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองใหญ่ของประเทศ เหลืองจะไม่นำไปสู่การเมืองใหม่ แดงก็จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแง่มุมต่าง ๆ อย่างที่วิตกกัน เพราะทั้งสองสีเป็นเพียงกลุ่มตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่ขบวนการทางการเมือง ซึ่งต้องมีเป้าหมายอุดมการณ์ (ideology) ทางการเมืองที่ชัดเจน
อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ของสีแดงผมคิดว่า เป็นเพียงภาพลวงตา และไม่รู้ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร เป้าหมายคืออะไรไม่ชัดเจน ผมไม่เห็นมีระบบอำมาตย์ที่ชัดเจนตรงไหน เท่าที่ผ่านมาก็เห็นทหารถูกกดดันให้ถอยออกไปจากการเมืองและก็ถอยออกไปช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนกระทั่งเกิดวิกฤตขึ้นทหารก็เข้ามามีบทบาทอีก แต่ผมคิดว่าทหารไม่สามารถแบกรับภาระรับผิดชอบอะไรในอนาคตได้อีกแล้ว
อุดมการณ์ของสีเหลืองเป็นแนวชาตินิยม กษัตริย์นิยม ก็ตีกรอบตัวเองจำกัด แข็งทื่อ ไม่สามารถมีผลเปลี่ยนทิศทางประเทศ ในที่สุดทั้งสองสีจะคลี่คลายตัวมันเองไปโดยธรรมชาติ โดยสีเหลืองจะคลี่คลายไปเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม แนวกลุ่มจงรักภักดี (royalist) และกลุ่มชาตินิยม ดังเช่นที่เกิดในหลายประเทศเช่น ญี่ปุ่น ส่วนสีแดงจะพัฒนาไปเป็นกลุ่มพลังการเมืองภูมิภาค ท้องถิ่นเป็นสำคัญ
ถ้าตัวละครหลักในระบบการเมืองคือรัฐสภา พรรคการเมือง กองทัพ ศาล ไม่ล้ำเส้น เช่น กองทัพคล้อยตามคำยุยงให้รัฐประหาร รัฐบาลโกงกินอย่างหน้าด้านเปิดเผย รวมทั้งรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายให้นิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ โดยไม่ต้องรับผิดเรื่องคอร์รัปชั่น ก็จะมีเพียงปัญหาความรุนแรงย่อย ๆ เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้เล่นหลักขาดสติ ล้ำเส้น ก็มีโอกาสเกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ นำพาประเทศไปสู่วังวนอุบาทว์คือรุนแรง-รัฐประหาร-รุนแรง-รัฐประหาร อีก
3.เราจะก้าวพ้นวิกฤตการเมืองนี้ไปได้อย่างไร
ดูจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นกระบวนทัศน์ใหญ่ ๆ 3 กระบวนทัศน์คือ พัฒนาชาติให้เข้มแข็งทันสมัย (ร.5 – จอมพล ป.พิบูลสงคราม), พัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตย (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ – พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) และช่วงหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นกระบวนทัศน์โลกาภิวัตน์ แล้วก็มาขยายย่อยเป็น บูรพาภิวัตน์คือการขยายใหญ่เติบโตของเอเชีย ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมสูงมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
กล่าวเฉพาะกระบวนทัศน์ยุคปัจจุบันขอใช้ชื่อว่า “กระบวนทัศน์ยุคโลกาบูรพาภิวัตน์” เอเชียมีบทบาทสูง ใน 20-30 ปีข้างหน้า อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางสำคัญที่สุดของตลาดลงทุน ตลาดการเงิน การบริการ การผลิต การบริโภค และจะมีความสำคัญและเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างสมดุลอำนาจเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งบังคับให้เศรษฐกิจไทยต้องแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น จะเพิ่มความสำคัญให้กับ “ภูมิภาค” ต่าง ๆ ของประเทศมากขึ้น จะไม่มองกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างอีกต่อไป
ในกระบวนทัศน์ช่วงนี้ของไทยผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดเหตุการณ์ทักษิณและปรากฏการณ์เหลือง-แดงขึ้น ไม่ใช่เกิดเพราะตัวละครตัวสองตัว แต่มันกว้างและลึกกว่านั้น ผมคิดว่าตั้งแต่ช่วงปลายสมัยพลเอกเปรมแล้วที่ความคิดเสรีนิยมเริ่มเกิดขึ้น เกิดการเปิดเสรีทางการค้าการเงิน ทำให้เกิดเศรษฐีใหม่ในประเทศรวมถึงคุณทักษิณ ซึ่งเป็นทุนใหม่ พวกนี้มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ คนรุ่นทุนใหม่พวกนี้กระโดดเข้าสู่เวทีการเมืองมากขึ้น จากวิกฤตทั้งพฤษภา 35 และวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เกิดแรงผลักดันในทางการเมืองให้มีการปฏิรูปรัฐบาลให้มีความเข้มแข็ง แต่ใจจริงผมอยากให้สังคม ภาคประชาชนเข้มแข็งมากกว่า พรรคไทยรักไทยเข้าไปหาฐานเสียงจากชาวบ้านโดยใช้ประชานิยม ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่กับทุนเก่าเกรงว่าจะนำเศรษฐกิจไปสู่ความล่มจม เช่น นโยบายจำนำข้าว แต่ผมคิดว่าชาวบ้านและพรรคเพื่อไทยคงจะไม่ฟัง เป็นปมปัญหาที่เราต้องหาทางแก้ไขในอนาคต
ส่วนเรื่องประชาธิปไตย ผมคิดว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองและการใช้อำนาจแบบประชาธิปไตยจริง ๆ เลย แม้ 14 ตุลา กับพฤษภา 35 จะเป็นเวทีให้ชนชั้นกลางฝึกฝนการใช้อำนาจประชาธิปไตย แต่เป็นที่น่าอนาถว่าพื้นฐานกำลังหลักประชาธิปไตยคือชาวบ้านและกลุ่มทุนเพิ่งจะตื่นตัวทางการเมือง มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจังก็เมื่อเกิดวิกฤตเหลือง (ชาวบ้าน + ทุน + ทุนอนุรักษ์) และแดง (ชาวบ้าน + ทุนเก็งกำไรการเมือง)
สิ่งที่เป็นหัวใจ ผมคิดว่าระบบการเมืองเราเป็นระบบการเลือกตั้งเพื่อจัดสรรช่วงชิงความมั่งคั่งเข้ากลุ่มตนเป็นสำคัญ กติการ่วมกันจะไร้ความหมายไปเรื่อย ๆ จะเกิดกลุ่มใครกลุ่มมัน เกิดกระบวนทัศน์รวยสบาย ๆ กว้างขวางขึ้นทุกแวดวงทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ไปจนถึงชาวบ้าน อนาคตประชาธิปไตยไทยจึงขึ้นอยู่กับพัฒนาการของจิตสำนึกหรือการตื่นตัวของชาวบ้านและกลุ่มทุน แต่ตอนนี้พลังของชาวบ้านและกลุ่มทุนยังขาดหายไปในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่ผ่านมาทุนเพียงให้เงินหนุนพรรคการเมืองหรือนักเลือกตั้งเพื่อหวังนักการเมืองเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ตัวเอง แต่ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมให้เข้มแข็ง มัวแต่ทำตามกระแส เช่น โฆษณาสร้างภาพลักษณ์การรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) และความพอเพียง ไม่ยอมลงทุนกันหนัก ๆ ที่จะให้บ้านเมืองดีขึ้น จึงยังคาดหวังได้ยาก
การเริ่มต้นภาคีเครือข่ายคอร์รัปชั่นก็ยังไม่ได้ผล แม้ผู้นำของภาคีจะเป็นทั้งอุตสาหกรรมและหอการค้าฯ แต่ก็ยังไม่มีสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมและการเมือง กลุ่มชาวบ้านรากหญ้า (แดง-เหลือง) มีการตื่นตัวทางการเมืองกว้างขวางมากขึ้น ทั้งในแง่ว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียง อำนาจต่อรอง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ภูมิใจอัตลักษณ์ และท้องถิ่นมากขึ้น คาดว่าอีก 5-10 ปีจะได้เห็นภาพบทบาทของชาวบ้านและรากหญ้าชัดเจนขึ้น
ในทรรศนะผมตัวละครสองตัวที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองคือชาวบ้านและกลุ่มทุน ตัวละครที่ควรลดบทบาทลงไปก็คือกองทัพ องค์กรสถาบันต่าง ๆ รวมถึงปัญญาชน ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งสมควรจะยกไว้อยู่เหนือและเป็นกลางทางการเมือง รวมทั้งพ้นไปจากวิถีทางโลกหรือทางชาวบ้านให้มากขึ้นด้วย เพราะถ้าลงมาพันกับชาวบ้านมากก็จะถูกคำติฉินนินทาได้.