นักวิชาการ เชื่อไทยได้ประโยชน์ ข้อตกลง RCEP
ดร.วิศาล ยันเปิดเสรีการค้า TPP-RCEP ไทยได้มากกว่าเสีย ไม่แคร์ปัญหาสองขั้วมหาอำนาจจีน-อเมริกา บอกเป็นโอกาสดีที่ไทยจะใช้เชื่อมโยงการค้า-แสวงหาประโยชน์
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวเสวนาในหัวข้อ “จับกระแส AEC สู่ RCEP โอกาสหรือกับดักประเทศไทย?” โดยระบุถึงการเปิดเสรีการค้า ไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม โจทย์ของการเจรจาการเปิดเสรีการค้าไม่ได้อยู่ที่ว่าไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าการเจรจานั้น ทำให้ประเทศไทยดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
“สมมุติไทยเจรจากับอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 1%-2% หากมีการเปิดเสรีการค้าและปรับลดภาษีเป็นศูนย์ อเมริกาจะลดภาษีเพียงแค่ 1%-2% เท่านั้น ขณะที่ไทยต้องปรับลดภาษี 10% กว่า ซึ่งหากมองในแง่อัตราภาษีที่ปรับลดลง ก็ต้องยอมรับว่าไทยเสียเปรียบ แต่หากมองในทางกลับกันว่า อเมริกายังมีภาษีอัตรา 10%-20% ในสินค้าอีกหลายประเภท หากมีการปรับลดตรงนี้ลงสินค้าไทยจะเข้าไปขายยังอเมริกาได้อีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้น หากดูในเรื่องผลกระทบทั้งก้อนไทยได้ประโยชน์มากกว่า”
ดร.วิศาล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในการทำความตกลงเปิดเสรีการค้าต่างๆ นั้น ย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และส่วนเสียประโยชน์ ดังนั้นจำเป็นต้องมีกลไกกระจายประโยชน์ เอาส่วนที่ได้เกินไปชดเชยให้กับผู้ที่เสียประโยชน์ ให้คนกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาภายในของเราเองว่า จะมีเครื่องมือทางเศรษฐกิจใดที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ได้
สำหรับการจัดทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) นั้น ดร.วิศาล กล่าวว่า ได้รับความตกลงโดยผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และเหล่าผู้นำอีก 6 ประเทศ หรือ ASEAN+6 ประกอบด้วยจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ โดยเหตุผลในการจัดทำ RCEP เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้มีตลาดขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 48 เท่า และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าตลาดภูมิภาคอื่นๆ จึงเป็นตลาดที่ต้องรักษาไว้และเพิ่มความเข้มข้นทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
“หากประเมินผลกระทบเศรษฐกิจมหภาคของความตกลง RCEP จากการปรับลดภาษีศุลกากรเป็นศูนย์พบว่า กรณีที่ไม่มีการยกเว้นสินค้าอ่อนไหว จะทำให้จีดีพี (Gross Domestic Product: GDP) ของไทยเพิ่มขึ้น 4.03% และหากเป็นกรณียกเว้นสินค้าอ่อนไหว จะทำให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้น 3.55% ฉะนั้นความตกลงดังกล่าวจึงถือได้ว่า เป็นโอกาสของประเทศไทย เพียงแต่ว่าเราจะคว้ามันไว้หรือไม่ และจะคว้าอะไรติดมือมาได้บ้าง”
ทั้งนี้ ดร.วิศาล กล่าวถึงข้อเสนอแนะด้วยว่า การเจรจาความตกลง RCEP จะเป็นโอกาสของประเทศไทยได้นั้น การกำหนดกรอบเจรจาต่างๆ ต้องเป็นไปในลักษณะที่ครอบคลุมทุกประเด็นที่มีการเจรจาในกรอบพหุภาคี และบูรณาการความตกลงเก่าๆ ที่ไทยได้เคยทำไว้ในกรอบภูมิภาคและทวิภาคี เพื่อเกิดเป็นความตกลงใหม่ที่ใช้ได้ครอบจักรวาล แต่หากการเจรจาไม่สามารถสลายกรอบความตกลงเดิมได้ ไปสร้างกรอบความตกลงขึ้นมาใหม่แทน เมื่อนั้น RCEP จะกลายเป็นกับดักประเทศไทยทันที
เมื่อถามถึง กรณีกรอบความตกลง RCEP ซึ่งไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม และกรอบการเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคี (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่ไม่มีจีนเข้าร่วม จะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากหรือไม่ ดร.วิศาล กล่าว ตนไม่แคร์กับมหาอำนาจข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้เป็นจังหวะ เป็นโอกาสที่ดีที่เหมาะสมของไทยที่จะเข้าไปมีส่วนรวมใน TPP และ RCEP พร้อมๆ กัน ไทยไม่ได้จ๋าเข้าไปประเทศเดียว แต่เข้าไปพร้อมกับประเทศอื่นอีกหลายประเทศในภูมิภาค
“ทั้งนี้ หากมองในเชิงเศรษฐกิจ RCEP จัดเป็นครึ่งโลกตะวันออก ยังมีอีกครึ่งโลกตะวันตกที่เราต้องเชื่อมโยงด้วย ซึ่ง TPP คือส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาเติมเต็ม ที่จะทำให้เราเชื่อมโยงและแสวงประโยชน์ร่วมด้วย”ดร.วิศาล กล่าว และว่า ส่วนที่มีผู้วิตกกังวลว่า อเมริกาจะมีข้อเรียกร้องที่ไทยต่อกรด้วยลำบาก แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่เวลานี้ถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการต่อกร เนื่องจากอเมริกามีความอ่อนแอ ทั้งเชิงอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจ ว่างเว้นไปนานจากภูมิภาคนี้ ทำให้อเมริกาต้องใช้ความประนีประนอมในการเจรจา ซึ่งเป็นโอกาสในการต่อรอง
เมื่อถามต่ออีกว่า กรอบความตกลงต่างๆ ไม่ว่าจะ TPP หรือ RCEP จะสลายความสัมพันธ์ของอาเซียนและเออีซีหรือไม่ ดร.วิศาล กล่าวว่า แนวคิดเช่นนี้เกิดขึ้นมานาน ในสภาพหนึ่งก็เป็นการสลายความแข็งแกร่ง พลังของอาเซียน แต่ความจริงแล้วก็อยู่กับว่าอาเซียนจะเล่น หากอาเซียนยกกระบิไป รวมหัวกันไปเจรจากับอเมริกาว่าจะเอาอย่างไร อาเซียนมีจุดยืนอย่างไร แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนี้ สมาชิกของอาเซียนกลายเป็นแข่งกันเอง แทงข้างหลัง แย่งกันไปเข้าร่วมเพื่อเป็นลูกรักของอเมริกา ซึ่งตรงนี้เท่ากับเป็นการบั่นทอน เป็นปัญหาของอาเซียนเอง ดังนั้น โดยส่วนตัวจึงอยากเห็นสมาชิกอาเซียนทุกประเทศเข้าร่วม TPP ไปเป็นไม้ซีกงัดไม้ซุง