“หมวก” บนกบาล จาก “การเมือง” ถึงเรื่อง “ตัวของกู”
เมื่อเร็วๆ นี้ มิวเซียมสยามจัดเสวนาหัวข้อ “เมื่อสยามสวมหมวกฝรั่ง” การเมือง-แฟชั่น-วัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการชั่วคราว “เรื่องหนักหัว” เพื่อเรียนรู้ถึงเครื่องประกอบศีรษะที่สวมใส่อยู่บนหัวในรูปแบบต่างๆ ว่า ได้เข้าไปมีบทบาทและความสำคัญในชีวิตผู้คนที่อาศัยในดินแดนสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไร
วิทยากรที่มาร่วมเวที คือ รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ,คุณเบียร์ "มนทกานติ รังสิพราหมณกุล" บรรณาธิการบริหารนิตยสารมาดามฟิกาโร่ (madame FIGARO)
วัฒนธรรมของหมวก
ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า “การสวมหมวก” ในที่นี้หมายถึง การสวมหมวกเป็นเครื่องประดับศีรษะในชีวิตประจำวันของคนไทยทั่วไป สืบเนื่องมาจาก รศ.ฉลอง ในฐานะผู้ทุ่มเททำงานวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ มีผลงานการบุกเบิกค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ยืนยันว่า การสวมหมวกไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยมาแต่เดิม เป็นวัฒนธรรม “นอก” ที่เรารับเข้ามา
การสวมหมวกกับคนไทยจึงไม่ใช่ “สิ่งที่คุ้นเคยกัน”
โดย รศ.ฉลอง ได้จำแนกหน้าที่ของ ”หมวก” เท่าที่พบเห็นได้ในปัจจุบันไว้ 5 อย่าง คือ
1.หมวกในฐานะเครื่องประดับศีรษะ ซึ่งในบางกรณีก็ไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป เช่น ในละคร ตัวละครที่สวมชฎาหรือเทริดก็หมายถึงเทวดา
2.หมวกในฐานะเครื่องป้องกันเรือนร่าง เช่น งอบของชาวนา หมวกกุยเล้ยของจีน หรืองอบแบบเวียดนาม ซึ่งสวมด้วยเหตุผลทางสุขภาพ เพื่อป้องกันแดดฝนเวลาทำงานในไร่นา
3.หมวกในฐานะสัญลักษณ์ของการเป็นพวกเดียวกัน หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบ เช่น หมวกของพลทหารในกองทัพ
4.หมวกในฐานะเครื่องป้องกันศีรษะ เช่น หมวกกันน็อค หรือในสมัยโบราณ เช่น หมวกที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสวมตอนออกศึก
และ 5.หมวกในฐานะสัญลักษณ์ทางศาสนา เช่น มุสลิมสวมหมวกตลอดเวลาเมื่อประกอบพิธีทางศาสนา หมวกในสังคมมุสลิมจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตทางศาสนา ในศาสนาคริสต์ สันตะปาปา พระคาทอลิกระดับผู้ใหญ่จะสวมหมวกแบบปิดกระหม่อมแปะติดเอาไว้ เช่นเดียวกับศาสนายิวที่ทุกสำนักคิดในศาสนาต้องใส่หมวกทั้งสิ้น
“ซึ่งตรงข้ามกับสังคมแบบพุทธของไทยที่หมวกไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมหรือความเชื่อ พระในคติพุทธแบบเราโกนหัวด้วยซ้ำไป นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การสวมหมวกไม่เป็นที่นิยมในสังคมไทยมาตั้งแต่ต้น”
ส่วนในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมการสวมหมวกแบบฝรั่งในสังคมไทย เปรียบเทียบก่อนสมัยรัชกาลที่ 4-5 กับหลังจากนั้นที่ถือว่า เป็นยุคสมัยใหม่ของสังคมไทย ก็มีความหมายและหน้าที่ที่ไม่เหมือนกันอีก
การเมืองของหมวก
รศ.ฉลองอธิบายว่า หมวกแบบฝรั่งเริ่มเข้ามาในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นสมัยรัชกาลที่ 4-5 การสวมหมวกแพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำ-คนในระบบราชการ ที่มีโอกาสเดินทางไปติดต่อกับยุโรป ได้สวมหมวกเพื่อแสดงถึงความทันสมัยตามที่ตนได้ไปพบเห็นมา
ซึ่งเขามีความเห็นว่า การที่ชนชั้นนำสมัย รัชกาลที่ 4 -5 นิยมสวมหมวก น่าจะเป็นเพียง “รสนิยม” ส่วนตัวเท่านั้นเองโดยไม่ได้มีความพยายามที่จะบอกความหมายของการใส่หมวกว่าจะ “นำชาติไปสู่ความเจริญ”
อย่างไรก็ตามความชอบส่วนตัวในการสวมหมวกของชนชั้นนำ ก็นำมาซึ่งนัยยะทางการเมืองภายในอย่างที่ชนชั้นสูงในสมัยนั้นคงไม่ได้ตั้งใจ เพราะได้ทำให้เกิดสัญลักษณ์ของความแตกต่างระหว่างผู้มีอำนาจราชการกับไพร่ฟ้าคนธรรมดา สะสมต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงยุคสมัยปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2475
สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎรได้ออกนโยบายรัฐนิยมข้อหนึ่งเรียกว่า “มาลานำไทย” ที่มีสภาพกึ่งบังคับให้ประชาชนไทยทุกคนสวมหมวกเวลาออกจากบ้าน ซึ่งตรงนี้เองที่การสวมหมวกได้ถูกใส่ความหมายของ “การสร้างชาติ หรือ นำชาติไปสู่ความเจริญ” เข้าไป
รศ.ฉลอง อธิบายประเด็นสำคัญตรงนี้เพิ่มเติม ที่ซ่อนลึกกว่าแค่นโยบายรัฐนิยมก็คือ จอมพล ป. ทำเช่นนี้ด้วยจิตวิญญาณของการปฏิวัติ ที่ต้องการให้คนทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะเมื่อคนทุกคนสวมหมวก สัญลักษณ์ของความแตกต่างระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชนธรรมดาที่มีมาแต่เดิมก็จะหมดลงไปอีกอย่างหนึ่งนั่นเอง
"นโยบายมาลานำไทยก็ถูกต่อต้านอยู่ลึก ๆ จากคนไทย เพราะไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยมาแต่เดิม ประกอบกับเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามหมดอำนาจลง อำนาจตกเป็นของรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มที่ถูกคณะราษฎรปฏิวัติ รัฐนิยมต่าง ๆ ก็ล้มหายตายจากไปแทบจะสิ้นเชิง"
หมวกแห่งความเท่าเทียมจึงสูญสิ้นไปนับแต่บัดนั้น นี่คือเรื่องการเมืองของหมวก…
แฟชั่นของหมวก
ขณะที่กูรูด้าน แฟชั่น ศิลปะ บก.บห.นิตยสารมาดามฟิกาโร่ เล่าว่า หมวกในวัฒนธรรมตะวันตกถือเป็นมารยาทในการแต่งกาย เช่น งานแต่งของเจ้าชายวิลเลียมส์กับเคท มิดเดิลตัน มีหมวกมากมายที่จำเป็นต้องใส่ เป็นมารยาททางสังคมแบบนั้น
ในสังคมยุโรป หมวกในฐานะแฟชั่น (เครื่องประดับศีรษะ) เริ่มเฟื่องฟูมาตั้งแต่ยุค 1920 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว แฟชั่นยุคนี้จึงช่วยทำให้ผู้หญิงดูเข้มแข็งขึ้น
และหมวก...ยังคงถูกใช้มาเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะอากาศที่หนาวเย็นของยุโรป ทำให้ผู้คนต้องใส่หมวกเมื่อออกนอกบ้าน
ส่วนในยุคปัจจุบัน คุณเบียร์ เล่าถึงดีไซเนอร์ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งเมื่อพูดถึงการออกออกแบบหมวกก็คือ Philip Tracy ที่เริ่มต้นด้วยการออกแบบหมวกแฟชั่นธรรมดา จนเมื่อมีชื่อเสียงโด่งดัง ด้วยความที่เป็นคนมีจินตนาการด้านศิลปะล้ำเลิศ
หมวกที่เทรซี่ออกแบบก็ยิ่งแปลกพิสดารหลุดโลกจนเข้าขั้นเป็นศิลปะบริสุทธิ์ (pure art) ซึ่งแน่นอนว่าคนทั่วไปคงไม่มีใครเอาหมวกบางชิ้นที่เป็นรูปปลาหมึกตัวโตของเขาออกมาใส่ในชีวิตประจำวันแน่นอน ยกเว้นแต่คนดังบางคนอย่างเลดี้ กาก้า ซึ่งนั้นก็ช่วยชูให้ผลงานของเทรซี่กลายเป็นสิ่งขึ้นหิ้งในวงการแฟชั่น
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงเก่งคนนี้ ยืนยันว่า แม้จะเป็นเรื่องสวย ๆ งาม ๆ แต่อีกด้านหนึ่ง “แฟชั่นคือการบันทึกประวัติศาสตร์” ที่คอยบันทึกว่าคนในยุคนั้น ๆ เขาแต่งตัวกันอย่างไร
เธอคิดว่า การที่คนในสังคมตะวันตกสามารถเลือกที่จะสวมหมวกที่ดูหลุดโลกเหล่านี้ได้ ก็เพราะคนเหล่านี้อยู่ในที่ซึ่งบ้านเมืองลงตัวแล้วในเชิงความคิดทางการเมือง และผู้คนถูกบ่มเพาะมาให้เคารพในความคิดของคนอื่น
“การแต่งตัวของเราจะเป็นการบอกแก่คนอื่นเหมือนกันว่า เราเห็นตัวเราเองเป็นคนอย่างไร โปรดมองเราแบบที่ตีความตัวเองแบบนี้ คนเราเมื่อเคารพในความคิดซึ่งกันและกันแล้ว ใครจะใส่อะไรมันไม่เป็นปัญหา จะไม่มีการมองคน ๆ หนึ่งอย่างเป็นคนแปลกประหลาด แต่จะมองเพียงว่า “เธอต่างกับฉัน” มันช่างแตกต่างกับบางสังคมที่คนไม่สามารถจะแตกต่างกันได้เลย”
ขึ้นชื่อว่า แฟชั่น ถ้านอกเหนือไปจากเทรนด์แล้ว มันก็คือตัวของตัวเราเองที่จะเลือกหยิบจับเอาสิ่งใดมาใช้ให้เหมาะกับตัวเอง ใครใช้ได้เหมาะ ใครใช้ได้กลมกลืน คนนั้นก็ประสบความสำเร็จ
ทิ้งท้าย บรรณาธิการบริหาร มาดามฟิกาโร่ยังได้ฝากความเห็นถึงการแต่งตัวตามแฟชั่น หรือแม้แต่การใส่หมวกว่า
“ใครอยากใส่อะไรก็ใส่ ใครอยากใส่อะไรจงใส่เถิด อย่าได้แคร์..ค่ะ” (หัวเราะ)
ถ้าถามว่า ทำไมคนไทยไม่ชอบสวมหมวก ตอบแบบไม่คิดอะไรมาก ก็คงเป็นเพราะอากาศมัน “ร้อน” เท่านั้นเอง...