“หมอประเวศ” ชี้บุคลิกคนไทยศตวรรษ 21 ต้อง 'สุจริต เห็นแก่ส่วนรวม ทำงานเป็น'
นักจิตวิทยา ย้ำเปลี่ยนวัยรุ่นเป็นคนดีได้ โดยหนุนใช้กิจกรรมสร้างสรรค์เป็นตัวช่วยเสริม ขณะที่นักวิชาการเชื่อสร้างเด็กคิดเป็นเกิดแรงดึงไปในทางที่เหมาะสม หลุดพ้นจากแรงเงาไม่ดี
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเสวนาวิชาการ “เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ครั้งที่ 11/2555 : ถักทอพลังชุมชน (ตำบล)…เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของพลเมืองรุ่นใหม่ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานการประชุม มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานด้านการศึกษา องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิและผู้แทนสื่อมวลชนเข้าร่วมเสวนา
ในเวทีเสวนาครั้งนี้มีการนำเสนอกรณีศึกษาโครงการพัฒนาเยาวชนจากฐานพลังชุมชน โดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 2 เรื่อง คือ กรณีศึกษาเครือข่ายกลไกจัดการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาของโรงเรียนครอบครัวบ้านห้วยม้าลอย อบต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรี ที่ใช้รูปแบบการเรียนรู้โรงเรียนครอบครัวในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน โดยมีทุกฝ่ายในชุมชนร่วมรับผิดชอบ และกรณีศึกษาตำบลหนองอียอ อบต.หนองอียอ จ.สุรินทร์ ที่ใช้ปัญหาของเยาวชนในชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของเยาวชนเกิดเป็นสภาเด็กและเยาวชน โดยมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงการศึกษาของไทยที่ทำมากว่า 100 ปีนั้น เน้นเรื่องการสอนวิชาการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่มีประโยชน์ในช่วงต้น เพราะการศึกษาระยะต้นของเราคือการรีบถ่ายทอดวิชาจากครูสู่นักเรียน แบบนี้แยกส่วนและเดียวดาย การพัฒนาครูจึงมีความสำคัญอย่างมาก อย่างไรก็ตามปัญหาขณะนี้เมื่อจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สังคมมีความซับซ้อน เราต้องการบุคลิกและคุณภาพของคนไทยที่มีความแข็งแรงในเรื่องสุจริต การเห็นแก่ส่วนรวม ทำงานเป็น และเรียนรู้จากทุกสถานการณ์ มีทักษะการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน การสอนผ่านการท่องจำนั้นไม่สามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติจริง เช่นตัวอย่างของ 2 พื้นที่ดังกล่าว การเรียนรู้แบบนี้สนุกและไม่ยาก และมีคนอื่นร่วมด้วย เด็กก็เกิดความมั่นใจเพราะได้ลงมือทำ จึงนับว่าเป็นจุดสำคัญที่เรียกว่าปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อสร้างบุคลิกใหม่ของคนไทย
“ คุณภาพเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ทุกคนเป็นห่วง เรื่องของสมองนั้น สมองส่วนหน้าของเราทุกคนเป็นสมองส่วนปัญญาวิจารณญาณและศีลธรรม ส่วนสมองส่วนหลังเป็นส่วนที่เอาชีวิตรอด ต่อสู้ เพื่อหลบภัย เด็กทุกคนอยากทำของใหม่ด้วยตัวของเขาเองก็จะไปกระตุ้นสมองส่วนหน้า เขาก็จะมีความสุขที่ได้ทำ แต่หากผู้ใหญ่คอยไปกระตุกและไม่สอน คอยห้าม เด็กก็จะไปกระตุกสมองส่วนหลัง คิดสู้ ศีลธรรมจะไม่เกิด สังคมไทยเน้นการสอนมาก ทั้ง ครู และพระแต่ศีลธรรมก็ไม่เกิด แต่หากเด็กได้คิดเอง ศีลธรรมก็จะเกิดเพราะใช้สมองส่วนหน้า ดังนั้นการมีสภาเด็กและเยาวชนตำบล คิดว่าเป็นการทดลองที่สำคัญ และผู้ใหญ่คอยสนับสนุนให้เด็กคิดเอง สิ่งดีๆ จะเกิดได้มาก พอเขาคิดเองทำเองเขาก็จะมีความภูมิใจทำเรื่องดีๆ “ ศ.นพ.ประเวศ กล่าว และว่า ประเทศไทยไม่ได้หมดหวัง หากเรามองไปข้างล่าง เรามีเรื่องดีในพื้นที่มาก มีทุนทรัพยากรด้านต่างๆ และเมื่อเกิดถักทอกัน สิ่งดีๆ และสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็จะเป็นไปได้ในประเทศไทย โดยจาก 2 ตัวอย่างที่มาแสดงในวันนี้ ยิ่งให้ความมั่นใจและยืนยันว่าเราได้มีการถักทอในพื้นที่ และเรื่องเหล่านี้ก็มีผู้คนสนใจมากขึ้นเพื่อให้สิ่งดีๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเต็มประเทศ
ด้านนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า พฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นเชิงคุณธรรมจริยธรรมจะถูกกำหนดอยู่ 2 ช่วง คือวัย 3-6 ปีและวัยรุ่น แม้ว่าในช่วงวัยใดวัยหนึ่งเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ก็มีโอกาสเปลี่ยนเป็นคนดีได้ โดยผู้ใหญ่เป็นปัจจัยเกื้อหนุน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ แต่ต้องเป็นคนที่เด็กไว้วางใจ ซึ่งอาจเป็นครู หรือเพื่อน ที่พาทำกิจกรรมทางบวก โดยกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้เด็กดีได้ ต้องมีลักษณะ 3 ประการคือ 1.เด็กบริหารจัดการเอง 2.กิจกรรมมีความต่อเนื่อง และ 3.มีการสืบทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ซึ่งก็พบว่าบทเรียนจากกรณีศึกษา 2 แห่งก็ออกมาในแนวนี้ ดังนั้นปรากฏการณ์ที่เห็นวัยรุ่นลบเป็นปรากฏการณ์เฉพาะหน้า แต่หากให้โอกาสพวกเขาก็จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้การขยายผลทางราบที่ดีที่สุดคือการใช้เวทีระหว่างตำบล เช่น กิจกรรมถนนเด็กเดิน และนำผู้นำแต่ละตำบลมาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะเกิดแนวโน้มดึงเด็กมาทางบวกได้มากขึ้น
ด้านนายสุริยา ดวงศรี ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลหนองอียอ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ชีวิตในช่วงวัยรุ่นตนมีนิสัยเกเร เที่ยวเตร่กับเพื่อน แต่เมื่อมีโอกาสกลับมาอยู่บ้าน ธรรมชาติและอากาศทำให้ย้อนกลับไปคิดว่าเหตุใดจึงทำเช่นนั้น หากเด็กและเยาวชนในพื้นที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกันอะไรจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ได้คิดและเมื่อมีโอกาสเข้าร่วมโครงการกับทาง อบต.หนองอียอ ทำให้ได้ร่วมคิดและร่วมทำ ซึ่งกลุ่มผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กและเยาวชนแต่ละหมู่บ้านทำให้สร้างความสนิทและผูกพันกันง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาสนับสนุน จึงทำให้เยาวชนรักที่จะทำกิจกรรมร่วมกันเดินหน้าและตั้งใจทำ
"เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ความคิดพื้นฐานและศักยภาพของเขามีความสามารถ แต่เขายังไม่ได้รับการยอมรับ พอเรารวมกลุ่มและแสดงความคิดได้ โดยมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนจึงทำให้เยาวชนรักที่จะทำกิจกรรมร่วมกันเดินหน้า ครั้งแรกเราทำเพื่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน แต่พอทำไปสักระยะพบว่ากลุ่มของเรายิ่งมีความรักผูกพันกันมากขึ้น ไม่ว่าจะมีกิจกรรมของหมู่บ้าน เด็กๆ จะมีจิตอาสาเข้าไปช่วยพัฒนาในหมู่บ้าน ชุมชน มันได้มากกว่าความสามัคคี ทำให้เรามีความภูมิใจในจุดนี้ว่าครั้งหนึ่งเราก็ทำตัวให้มีค่าได้ และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพราะผู้ใหญ่ใจดีหลายฝ่ายเข้ามาช่วย ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนจะจับกลุ่มก็หายไป คณะทำงานก็รู้สึกดีในทุกเรื่องที่เราทำ ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เพราะมีผู้ใหญ่ใจดีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้โอกาสพวกเรามันจึงเกิดขึ้นได้ หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สนใจก็คงไม่เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้" นายสุริยา กล่าว
ด้าน ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ที่ปรึกษา สสค. กล่าวปิดเสวนาว่า วิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน คือวิชาชีวิต สิ่งเหล่านี้โรงเรียนอาจมีในหลักสูตร บทเรียนจาก อบต.หนองสาหร่ายคือโรงเรียนแก้ปัญหาเรื่องที่เด็กอยากเรียน แต่โรงเรียนไม่ได้สอน ทั้งครูและเด็กทำงานได้สำเร็จก็เพราะเห็นว่า งานนี้ไม่ใช่ภาระใหม่ แต่เป็นงานที่พ่อแม่ ชุมชน ครู โรงเรียน อปท.และทุกหน่วยงานเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลา ส่วน อบต.หนองอียอ แสดงว่า พลังของเด็กและเยาวชนคือความหวังที่ประเทศไทยจะอยู่รอด จากการทำงานของ 2 แห่งนี้
“ทั้ง 2 อบต.นี้ได้สร้างแรงดึงเป็นพลังที่ดึงเด็กกลับมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กชนบทต้องอยู่ชนบทเท่านั้น แต่ไปได้ทั่วโลก เมื่อมีแรงดึงไว้ ผู้ใหญ่ใจดีช่วยและชุมชนร่วม ก็ทำให้เด็กคิดได้เอง ในเมื่อทุกคนเป็นเจ้าภาพทำเอง ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตามความสำเร็จดังกล่าว ต้องมีคนริเริ่มจัดการ เป็นโซเชียลเมเนเจอร์ การจัดการสังคมนับเป็นประเด็นสำคัญมากที่ผู้ใหญ่ใจต้องฟัง ขณะนี้มีตัวอย่างโซเชียลเมเนเจอร์เกิดขึ้นหลายที่ ทำอย่างไรจึงจะจัดการความรู้ที่ได้จากชุมชนตัวอย่างไปสู่ภาคีที่เราทำงานด้วย ซึ่งแต่ละชุมชนเมื่อเรียนรู้แล้วต้องจัดเองโดยวิธีการของตนเอง” ศ.สุมนกล่าวปิดท้าย