แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ระดมความเห็น “สื่อ” สานต่อปฏิรูปประเทศ เน้นจัดการตนเอง-รื้อระบบที่ดิน
สื่อภูมิภาคแจงปัญหาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ไม่เอื้อให้เสนอได้ทุกประเด็น แนะเพิ่มความรู้-จัดอบรมสื่อท้องถิ่น ด้านกก.สมัชชาปฏิรูป เตือนสื่ออย่ากระพือข่าวจนคนสับสน
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันอิศรา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เวทีสาธารณะ "สื่อมวลชนกับการปฏิรูปประเทศไทย" (ส่วนภูมิภาค) ณ ห้องประชุมอิงบุรี โรงแรมพักพิง อิงทาง ถ.งามวงศ์วาน จ.นนทบุรี โดยมี นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป กล่าวเปิดงาน และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป นางวณี ปิ่นประทีป รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป ร่วมอภิปราย
นายมานิจ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤติในหลากหลายด้าน อันเป็นเหตุที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ได้แก่ 1.อวิชชา ความไม่รู้ ก่อให้เกิดความผิดพลาด เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง 2.สังคมไทยเป็นสังคมทางดิ่ง สั่งจากบนลงล่างอย่างเดียว คนระดับเดียวกันไม่ได้เสนอความเห็น ไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ทำให้คนคิดแคบและใฝ่ต่ำ 3.วิธีคิดและจิตสำนึกของคนไทย เป็นคนจิตเล็ก คิดแคบ คิดถึงแต่ตัวเอง ต้องสร้างสำนึกให้เป็นคนจิตใหญ่ คิดกว้าง 4.ขาดเป้าหมายร่วม ต้องสร้างการรวมตัวทำงานเพื่อส่วนรวม 5.วิกฤติการรวมศูนย์อำนาจทางการปกครอง 6.ขาดความเป็นธรรมในการจัดการและใช้ทรัพยากร 7.ระบบความยุติธรรมที่ไม่ทั่วถึง 8.ระบบการสื่อสารต้องช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม 9.การปฏิรูปการศึกษา ต้องปฏิรูปการเรียนรู้ ไม่ใช่ปฏิรูปแค่ตำแหน่ง ที่ผ่านมา 10 ปี เปลี่ยนรัฐมนตรี 13 คน นโยบายไม่ต่อเนื่อง 10.ระบบราชการและการเมืองที่ด้อยคุณภาพ
ด้านนพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงคณะทำงานสมัชชาปฏิรูปต้องการที่จะหาแนวทางที่ทำให้การปฏิรูปประเทศไทยต่อเนื่องจริงจัง โดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) จะหมดวาระในเดือน มิ.ย 2556 การจะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สิ่งสำคัญ คือ การกระจายอำนาจ ปรับโครงสร้างอำนาจรัฐ อย่างที่ คณะกรรมการปฏิรูป ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยมีข้อเสนอไว้
"การปฏิรูปไม่ใช่แค่มีข้อเสนอและแผนงานแล้วปฏิบัติได้เลย ต้องพิจารณาด้วยว่ามีโครงสร้างสำคัญอะไรในประเทศที่ต้องจัดการบ้าง แล้วสร้างค่านิยม จิตสำนึกในการมองประเทศไทยร่วมกันใหม่ สังคมจะดีขึ้นไม่ได้ หากการสื่อสารในสังคมไม่ได้พูดเรื่องสำคัญๆ กันอย่างลึกซึ้งจริงจัง และที่สำคัญต้องสร้างความรู้เผยแพร่ให้คนไทยเกิดความเข้าใจมากขึ้น เข้าใจโครงสร้างร่วมกัน ทั้งนี้ กติกาสังคมหลายอย่างก็ต้องเปลี่ยน"
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติ 2 ปีที่ผ่านมา มีประเด็นทั้งหมด 14 เรื่อง การจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติปีสุดท้ายนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2556 มี 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การจัดการน้ำ สมดุลระหว่างน้ำแล้งและน้ำล้น ที่ผ่านมาทำแต่การป้องกันน้ำท่วม แต่สุดท้ายน้ำขาด ในพื้นที่ชาวบานอยากมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำมาก เพราะเขาห่วงน้ำแล้ง 2.การคอร์รัปชั่น 3.ธรรมนูญชุมชน 4.พลังงานหมุนเวียน 5.ความเสมอภาคระหว่างชายหญิง 6.ปฏิรูปสื่อ
ขณะที่ นางวณี กล่าวว่า แม้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 2556 และท่ามกลางสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปรูปได้ประเมินแล้วว่า รัฐบาลน่าจะสนใจเรื่องอื่นมากกว่าการปฏิรูป ฉะนั้น คณะกรรมการฯ จะไม่เสนอเพื่อต่อระเบียบสำนักนายกฯ แต่จะมีการปรับองค์กรในการขับเคลื่อนให้เป็นรูปแบบอื่น
"ที่แน่นอนคือจะไม่ขอต่อระเบียบสำนักนายกฯ เพราะเกรงว่าจะผิดทิศผิดทาง ทั้งนี้ ในระยะเวลาที่เหลือคณะกรรมการฯ อยากจะมุ่งเน้นให้ประสบความสำเร็จสักเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ระหว่าง เรื่องการจัดการตนเองและการจัดการที่ดิน"
ส่วนนายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นักวิชาการอิสระและกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน มีการพยายามเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า การปฏิรูปมาตลอด มีทั้งช่วงคืบหน้า ถอยหลัง และแผ่วอย่างมีพลัง ซึ่งหากช่วงไหนที่ประชาชนมีความตื่นตัวมากก็เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ทั้งนี้ การทำงานของสื่อมีความสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นกระจก แม้จะพร่ามัวบ้าง แต่ก็ต้องทำหน้าที่เป็นตะเกียงส่องนำทางและแนะการสื่อสารให้คนมีสติ ไม่กระพือข่าวจนคนสับสน ฉะนั้น สมัชชาปฏิรูปจึงต้องรวมพลังและเป็นส่วนหนึ่งท่ามกลางสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนสายน้ำที่กำลังไหลไป
จากนั้น ในเวทีมีการระดมความคิดเห็นสื่อมวลชนในการนำเสนอมุมมอง ข้อเสนอแนะและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่มีสื่อมวลชนส่วนภูมิภาค ร่วมระดมความเห็น
โดยสรุป ปัญหาที่พบมากในการทำงานนำเสนอข่าวสารเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย คือ การผลิตและสร้างเนื้อหาที่เป็นประเด็นส่วนกลาง ติดกรอบเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ความพร้อมด้านเครื่องมือ อีกทั้ง สภาพแวดล้อมทางก็สังคมไม่เอื้ออำนวยให้สื่อท้องถิ่นนำเสนอได้ทุกประเด็น ประกอบกับปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจของนักจัดรายการต่อประเด็นด้านการปฏิรูปประเทศ ขาดกลุ่มสังเคราะห์ และย่อยข้อมูลจากส่วนกลาง
สำหรับข้อเสนอ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ เห็นพ้องว่า ควรมีการเพิ่มเติมความรู้และจัดการอบรมสื่อส่วนภูมิภาคทุกแขนงและนักจัดรายการวิทยุให้ให้เข้าใจกรอบการทำงานมากขึ้นและมีพื้นฐานความรู้ในประเด็นปัญหาที่เป็นแนวทางสู่การปฏิรูปประเทศ พร้อมกันนี้ยังเสนอให้มีเวทีหรือช่องทางที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เช่น ผ่านเฟสบุ๊ค เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นและสร้างวาระข่าวร่วมกัน รวมทั้งอยากให้ กสทช.ลงไปให้ความรู้แก่สื่อ ให้ทราบประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ รวมทั้งเทคนิคการทำรายการวิทยุให้เกิดประโยชน์ โดยเป็นการพัฒนาที่เด็ก เยาวชนและคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และปฏิบัติ อย่างสอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น