รมช.สธ. มั่นใจหมอชนบทไม่สมองไหลจากเมดิคัลฮับ
‘รมช.สธ.’ ยันไร้ปัญหาหมอชนบทสมองไหลจากเมดิคัลฮับ เครือข่ายจี้รบ.หักร้อยละ 10 พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ดึงสภาที่ปรึกษาฯ-ผู้บริโภคร่วมคกก. ร้องตั้งกองทุนระหว่างประเทศรักษาผู้ป่วยชายขอบ
วันที่ 7 ธ.ค. 55 ที่โรงแรม เดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานสัมมนา ‘นโยบายรัฐบาลด้านเมดิคัลฮับ:ภาครัฐและองค์กรอิสระ’ เพื่อพิจารณานำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและผลักดันให้เป็นรูปธรรม
โดยกล่าวว่า การพัฒนาศูนย์บริการทางการแพทย์นานาชาติ (เมดิคัลฮับ) ของไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 47 โดยรัฐบาลปัจจุบันได้นำเสนอเป็นนโยบายสำคัญต่อรัฐสภา เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งมุ่งสนับสนุนการเสริมสร้างรายได้ สุขภาพของประเทศทั้งด้านยา สมุนไพรไทย อาหาร สินค้าพื้นเมือง รวมถึงการเป็นศูนย์กลางสุขภาพ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อระบบบริการภาครัฐ ทั้งนี้จะให้ความสำคัญงานวิชาการเป็นหลัก เน้นงานวิจัยและการตั้งศูนย์ฝึกอบรม
สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบการเข้าถึงบริการของคนไทยนั้น โดยหวั่นว่าจะมีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อผู้รับการรักษา ยืนยันว่าภาครัฐจะเร่งดูแลไม่ให้ขาดแคลน หรือเกิดการดึงกำลังคนจากร.พ.ศูนย์และม.ทางการแพทย์ ‘ภาวะสมองไหล’ ไปรองรับบริการศูนย์กลางการแพทย์ โดยเฉพาะเอกชนซึ่งมีระบบเมดิคัลฮับรองรับอยู่แล้ว แต่กลับมองอีกมุมหนึ่งว่าเราจะทำอย่างไรให้ภาครัฐและเอกชนมาเป็นหุ้นส่วนกัน โดยไม่แข่งให้บริการ เพราะกลุ่มเป้าหมายของสถานบริการภาครัฐและเอกชนแยกโดยธรรมชาติชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าปัญหาการดึงบุคลากรจากท้องถิ่นจะค่อย ๆ ลดลง หากเราได้เพิ่มผลตอบแทน สวัสดิการที่เพียงพอ
“หัวใจสำคัญของการเป็นเมดิคัลฮับ คือ 1.การเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจ 2.พัฒนากิจกรรมทางวิชาการให้พร้อมเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และสุดท้ายต้องดูแลผลกระทบที่จะตามมาทั้งก่อนและหลัง” รมช.สธ. กล่าว
ด้านรศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังสภาที่ปรึกษาฯ ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา และได้เปรียบเทียบกับร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (2555-2559) เห็นตรงกันในแนวคิดที่ต้องบริหารและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยความชอบธรรมและไม่กระทบต่อระบบสุขภาพหลักของชาติ ภายใต้การกำกับของรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอเพิ่มเติม คือ ให้แต่งตั้งผู้แทนจากสภาที่ปรึกษาฯ และผู้บริโภคเข้าเป็นคณะกรรมการพัฒนาประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อบริหารและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้วย ส่วนการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ และกำหนดแนวทางเยียวยาที่เหมาะสม โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสุขภาพ การนำรายได้จากการดำเนินงานเมดิคัลฮับมาสู่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ คิดว่าไม่เพียงพอ ทั้งที่สภาที่ปรึกษาฯ เคยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลข้อหนึ่งว่า เราต้องระบุชัดเจนให้มีการจัดสรรรายได้ของผู้ดำเนินการตามนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในการลงทุนผลิตและพัฒนากำลังคนทางการแพทย์ เนื่องจากเรามองเห็นว่าระบบต้องการพัฒนาความเป็นเลิศจากการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผลประโยชน์ส่วนหนึ่งต้องกลับมา เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ โดยเฉพาะในชนบท
“รัฐบาลต้องเพิ่มการลงทุนด้านงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินและที่ไม่ใช่ทางการเงินให้กำลังคนด้านสุขภาพสามารถดำรงอยู่ในภาครัฐได้ จึงต้องมองทั้งระบบภาพกว้าง” ผู้แทนสภาที่ปรึกษาฯ กล่าว
ขณะที่พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงคำ จ.พะเยา กล่าวว่า ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยชายขอบที่ขาดการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ เพราะไม่มีเงิน แต่เราจำเป็นต้องรักษาให้ดีที่สุด เพื่อมนุษยธรรม นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดโรคติดต่อของคนชายขอบ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นอยากวิงวอนให้รัฐบาลตั้งด่านกักกันโรคในพื้นที่ติดต่อกันได้ มิใช่เฉพาะด่านผ่านพรมแดนสำคัญ ๆ เท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาการระบาดของโรคที่จะตามมา
ทั้งนี้เห็นด้วยกับข้อเสนอของหลายฝ่ายที่ให้รัฐบาลดูแลค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยต่างสัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า ที่เข้ามารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ตั้งตามแนวชายแดนโดยจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศภายใต้กรอบการเจรจาความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ มิเช่นนั้นโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลชายแดนอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมาก และจะส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ย้ายจากชายแดนสู่เมืองมากขึ้น จนหวั่นอนาคตอาจเกิดโรคระบาดได้ หากผู้ป่วยมิได้รับการรักษาที่ถูกต้องและมีคุณภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุขณะนี้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการสุขภาพในไทยประมาณ 2.5 ล้านคน มีอัตราเติบโต 16 % และภายใน 5 ปี มีนโยบายจะขยายอัตราการเติบโตให้ได้ 2 เท่าของปัจจุบัน.
ที่มาภาพ:http://www.matichon.co.th/online/2011/01/12941337851294134001l.jpg