พบซิทคอม-หน้า 1 นสพ. ยังผลิตซ้ำความรุนแรง-อคติทางเพศ
มีเดียมอนิเตอร์-สคส. เปิดผลการศึกษาปรากฏการณ์ความรุนแรง-อคติทางเพศ ในละครซิทคอมทางฟรีทีวี และหน้า 1 นสพ. 2 ฉบับ พบเพศหญิง-กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ยังถูกนำเสนอผ่านสื่อด้วยอคติ ด้วยมุมมองที่จำกัด
มีเดียมอนิเตอร์และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ได้ศึกษาปรากฏการณ์ ความรุนแรงและอคติทางเพศที่ปรากฏในละครซิทคอมทางฟรีทีวี 5 ช่อง ในช่วงเดือนกันยายน 2555 และหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมติชนรายวัน 1 พ.ค. – 31 ต.ค. 2555 เพื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาเมื่อปี 2550 เรื่องอคติและภาพตัวแทนในละครซิทคอม และผลการศึกษาที่ สคส.ดำเนินการเมื่อ ปี 2545 เรื่องการฉายภาพความรุนแรงต่อผู้หญิง วิเคราะห์มุมมองจากสื่อไทย
ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวถึงผลการศึกษาว่า ในภาพรวมละครซิทคอมไทยยังนำเสนอภาพเหมารวมและค่านิยมอคติในรูปแบบเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ ผู้ชายจะได้รับบทบาทเด่น เป็นผู้ตัดสินใจ ผู้ปกป้องคุ้มครอง เป็นผู้นำที่ได้รับความสำคัญ ส่วนผู้หญิงจะได้รับบทบาทรองลงมา มักได้รับความสำคัญในฐานะคนรักของผู้ชาย จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายในเรื่องแรงกาย ต้องการการเอาใจ อย่างไรก็ตามยังพบค่านิยมใหม่ที่ยอมรับว่า ผู้หญิงสามารถแสดงออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความรักและหน้าที่การงาน ส่วนชายรักเพศเดียวกัน ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้เป็นตัวประกอบ เพื่อเรียกเสียงหัวเราะผ่านความประหลาด น่าขบขัน หรือถูกนำเสนอว่าเป็นคนลามก หมกมุ่นเรื่องเพศ
นายอมรเทพ กมลศักดิ์กำจร จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กล่าวถึงในส่วนของสื่อหนังสือพิมพ์ว่า ในภาพรวมหนังสือพิมพ์ยังนำเสนอข่าวผ่านฐานความคิดเรื่องเพศเดิม ซึ่งขาดมุมมองทางสังคม ได้แก่ ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ และข่าวความรุนแรงในครอบครัว เน้นนำเสนอสาเหตุในการกระทำความรุนแรงที่มาจากเหยื่อ เช่น “สห. ง้อเมียสาว ไม่กลับเลยฆ่า แล้วยิงตัวตาม” ข่าวการท้องไม่พร้อม การทำแท้ง และการทิ้งเด็กทารก ขาดการเชื่อมโยงกับบริบททางสังคม และมีอคติชี้เป้าปัญหาไปที่ผู้หญิง เหมาว่าการทิ้งเด็กเป็นปัญหาของผู้หญิงใจแตก หรือผู้หญิงที่ไร้การศึกษา เช่น สาวโรงงาน ข่าวรูปลักษณ์ความงาม เน้นการนำเสนอผู้หญิงในฐานะคนไร้เหตุผล อยากสวยจนขาดสติ เช่น ข่าวผู้หญิงทำศัลยกรรมแล้วเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม พบประเด็นข่าวที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ได้แก่ ข่าวการล่อลวงค้าประเวณี โดยเฉพาะข่าวการค้าบริการข้ามชาติ ที่มีการเจาะลึกถึงประเด็นปัญหา และเปิดช่องทางขององค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ และข่าวเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่มีการนำเสนอสิทธิของกลุ่มคนข้ามเพศ และเน้นการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ตัวแทนผู้รายงานได้มีข้อเสนอแนะว่า จากผลการศึกษาในทั้งสองสื่อที่พบว่า เพศหญิง และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ยังคงถูกนำเสนอผ่านสื่อด้วยอคติ และมุมมองที่จำกัด สื่อจึงควรเพิ่ม ความรู้ ความเข้าใจ และขยายทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องค่านิยมทางเพศ โดยมีสถาบันสื่อและหน่วยงานกำกับดูแลสื่อ ทำหน้าที่เสริมสร้างบริบทการเรียนรู้ที่เอื้อให้สื่อพัฒนามุมมองในประเด็นเพศ ในขณะเดียวกันควรมีกระบวนการพัฒนา และแจ้งเตือนผู้ชม หรือผู้รับสารให้เปิดรับสื่อมีวิจารณญาณ มีทัศนคติและมุมมองใหม่ที่มีต่อผู้หญิง รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้คนที่หลากหลายเพศอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี
พบอคติทางเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว ยังพบว่าอคติทางเพศถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กที่นำภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มาล้อเลียนในทางเพศ ซึ่งเป็นการลดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือคอลัมน์การ์ตูนในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งก็ล้อเลียนเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
โดยรศ.ดร.กฤตยา ยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฎเรื่องเช่นนี้กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ชายทางเลย ซึ่งคงเป็นเพราะผู้เขียนการ์ตูนไม่ชอบรัฐบาลนี้อยู่เองด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงเหตุที่สื่อมวลชนยังผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศเพราะสังคมไทยมีการฝังลึกของวัฒนธรรมเพศสภาวะ (gender) ที่ยังเป็นกรอบคิดแบบแบ่งขั้วตรงข้าม เช่น แยกหญิง-ชาย ขาว-ดำ ถูก-ผิด สื่อเองก็เป็นผลผลิตของกรอบคิดนี้ สังคมจึงควรมองให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของอคติทางเพศเพื่อช่วยลดปัญหา ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิตสื่อ ผู้กำหนดนโยบายสื่อ และผู้บริโภคที่ต้องสำรวจตัวเองว่าตกอยู่ในกรอบคิดอคติทางเพศหรือไม่
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะฝ่ายผู้กำหนดนโยบายสื่อ จะขอยื่นข้อเสนอต่อ กสทช. ว่าอยากให้มีเวทีสาธารณะเพื่อสร้างกลไกการกำกับดูแลร่วมระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ในอนาคต มิติเรื่องการนำเสนอเนื้อหาด้านความสัมพันธ์ทางเพศจะถูกนำไปใช้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับมิติเรื่องการคุ้มครองสิทธิเด็ก เป็นต้น กสทช. ไม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องอคติทางวัฒนธรรมเช่นนี้เป็นลำดับท้าย ๆ เพราะเป็นเรื่องที่แก้ยากที่สุดและใช้เวลานาน จึงอยากให้รีบวางรากฐานการแก้ปัญหาเสียแต่เนิ่น ๆ