‘มูลนิธิสืบ’ ชี้เขื่อนแม่วงก์ไม่แก้น้ำท่วม เป็นแค่ประเด็นการเมือง
มูลนิธิสืบ-กรมชลชี้ประสิทธิภาพเขื่อนแม่วงก์มุ่งแก้ภัยแล้ง น้ำท่วมเป็นประเด็นการเมือง เสนอทางเลือกสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแทน ป่ายังอยู่-ลดกระทบชุมชน
วันที่ 6 ธ.ค. 55 ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนา ‘เขื่อนแม่วงก์...สังคมได้ประโยชน์จริงหรือ’ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่มีแผนจะดำเนินการในพื้นที่เขาสบกกและเขาชนกัน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งแก่เกษตรกรเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นผลพลอยได้ที่ไม่การันตีว่าช่วยได้ 100% ซึ่งงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านที่อนุมัติเมื่อ 10 เม.ย. 55 แบ่งเป็นงบหัวงาน 3 พันล้าน พัฒนาระบบชลประทาน 7.5 พันล้าน บริหาร 1.1 พันล้าน ป้องกันและบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 600 ล้าน และชดเชย 800 ล้าน โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างจนถึงขั้นตอนสุดท้าย 8-15 ปี ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการสูญป่ากว่าหมื่นไร่นั้น ขณะนี้กรมชลประทานและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเตรียมปลูกป่าทดแทน 3 หมื่นไร่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากดำเนินการพื้นที่จ.นครสวรรค์จะได้รับประโยชน์สูงสุดสามารถกักเก็บน้ำได้ 258 ล้านลบ.ม. โดยส่งน้ำในเขตชลประทานช่วงฤดูฝนครอบคลุม 3 แสนไร่ แล้ง 1.2 แสนไร่ นอกจากนี้ยังช่วยชะลอการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสะแกกรังช่วงน้ำหลากได้ และสามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ 11 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง เป็นแหล่งต้นทุนในการดับไฟป่า และพัฒนาสู่แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการคัดค้านก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติ เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก โดยการที่รัฐบาลหยิบยกการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้นเป็นเพียงประเด็นทางการเมือง ทั้งที่ความจริงกรมชลประทานมีแนวทางเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นหลัก ซึ่งทางออกควรสร้างองค์ความรู้ในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพแก่เกษตรกร มีกรมชลฯ เป็นหน่วยสนับสนุน โดยอนุมัติงบประมาณส่วนท้องถิ่นสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้ชุมชนบริหารจัดการร่วมกันแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งนี้ยกตัวอย่างชุมชนที่บริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ เช่น ชุมชนบ้านธารมะยมที่สร้างฝายชะลอน้ำขนาดเล็กและทำให้มีน้ำใช้ทั้งปี ส่วนชาวนาที่ชุมชนศาลเจ้าไก่ต่อใช้น้ำบ่อตื้นแก้ไขปัญหาขาดน้ำภัยแล้ง
อย่างไรก็ตามเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อหาแนวทางพัฒนาระบบจัดการน้ำที่ไม่กระทบต่อผืนป่าตะวันตก โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง พร้อมเห็นว่านโยบายการปลูกป่าทดแทนที่วางไว้นั้นทำไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นที่ปลูกแล้ว
ขณะที่ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย นำเสนอบทความ ‘อุทยานแห่งชาติแม่วงก์วันนี้ ขอโอกาสธรรมชาติฟื้นฟู ขอหยุดเขื่อน’ ว่า มีการประเมินพบเสือโคร่งในไทยไม่เกิน 250 ตัว โดยแหล่งอนุรักษ์ที่สำคัญ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และผืนป่าตะวันตก ดังนั้นจึงได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอนุรักษ์ในระดับชาติและนานาชาติให้รักษาผืนป่าบริเวณดังกล่าวไว้ เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าปริมาณสัตว์จะชุกชุมขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่ป่าแม่วงก์ จนกลายเป็นแหล่งทำรายได้ให้กับคนท้องถิ่น ดังเช่นอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงของอินเดีย แต่หากสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้เกิดการตัดถนนเชื่อมระหว่างอ.คลองลานและอ.อุ้มผาง จึงอาจทำให้ผืนป่าตะวันตกถูกแบ่งแยก และเปิดโอกาสให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าและล่าสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะเสือโคร่ง
ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยได้ลงนามในปฏิญญาหัวหินเมื่อปี 53 ในเวทีประชุมว่าด้วยการอนุรักษ์เสือในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่
ที่มาภาพ:http://www.verdantplanet.org/news/viewnews.php?templateid=1&newsid=126