เปิดใจข้าราชการในพระองค์ “ตามรอยพระบาทพัฒนาเกษตรกรไทยด้วยหัวใจพอเพียง”
“เกษตรกรจะยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว” ‘วสันต์ กู้เกียรติกูล’ ผู้ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นข้าราชการในพระองค์คนใหม่ เปิดใจกับสำนึกข่าวอิศราถึงชีวิตและแนวคิดการพัฒนาภาคการเกษตรไทย
จากข้าราชการแดนใต้สู่นักวิชาการเกษตรรับใช้เบื้องพระยุคลบาท
ต้นเดือนพฤศจิกายน 55 ‘วสันต์ กู้เกียรติกูล’ ข้าราชการวัย 61 ปี อดีตเกษตรจังหวัด (ผู้อำนวยการเฉพาะด้านวิชาการส่งเสริมการเกษตร) สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯรับโอนเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สำนักพระราชวัง สังกัดสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาการเกษตร
‘วสันต์’ เป็นคนจ.สุราษฎร์ธานี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะเกษตร สาขาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พวงด้วยปริญญาเศรษฐศาสตร์บันทิต จากมหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งนักวิชาการเกษตรจ.สตูลและย้ายไปทำงานที่สำนักงานเกษตรในอีกหลายจังหวัดภาคใต้ โดยได้มีโอกาสทำงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริ เช่น โครงการส่งเสริมการเกษตรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเข้าไปร่วมวางแผนส่งเสริมการเพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน และโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯ โดยเข้าไปส่งเสริมการเกษตรให้เด็กในโรงเรียนยากไร้มีพืชผักกิน
นอกจากงานด้านปฏิบัติ ‘วสันต์’ ยังเป็นนักวิชาการเกษตรที่รอบรู้และมีผลงานทางวิชาการมากมาย เช่น จัดทำรายงานวิจัย “ความต้องการและบทบาทหน้าที่ปฏิบัติจริงของเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรในการส่ง เสริมการเกษตรในภาคใต้” และเป็นผู้แต่งหนังสือ “องค์กรภาครัฐกับการพัฒนาชนบท” .
แม้จะมีประสบการณ์ทางการเกษตรมากมาย แต่ในวัยเด็ก‘วสันต์’ ไม่ได้คลุกคลีอยู่กับการทำเกษตรเท่าใดนัก ด้วยพ่อแม่ประกอบอาชีพค้าขาย แต่ก็ได้รับรู้ความยากลำบากของชาวบ้านในท้องถิ่นและญาติพี่น้องซึ่งส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้ ซึ่งมักขายสินค้าไม่ได้ราคาเพราะถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ และนั่นเป็นแรงบันดาลใจอันท้าทายที่ทำให้เขาอยากทำงานช่วยเหลือและพัฒนาพี่น้องเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความเข้มแข็งมากขึ้น
การพัฒนาเกษตรกรไทยสำเร็จได้เริ่มต้นที่ ‘ความพอเพียง’
เวลานี้‘วสันต์’ คือผู้ให้คำปรึกษาในโครงการภูฟ้าพัฒนา โดยล่าสุดได้ขึ้นไปวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไทยภูเขาจ.น่าน ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชยืนต้น การแปรรูปผลผลิตและการหาช่องทางการตลาด บนพื้นฐานความต้องการและการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และที่สำคัญคือการพัฒนาแบบ ‘วนเกษตร’ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯที่มีพระประสงค์ให้คนอยู่ร่วมกับป่า ไม่ทำลายป่า
ในฐานะคนภาคเกษตร‘วสันต์’ เล่าถึงความลำบากของกระดูกสันหลังชาติว่า แม้เกษตรกรจะผลิตสินค้าได้มากตามฤดูกาล แต่กลับมีช่องทางการขายน้อย เป็นเหตุให้ราคาตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ขาดช่องทางการตลาด ไม่มีอำนาจต่อรองและไม่อาจสู้กับธุรกิจเกษตรรายใหญ่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามช่วยเหลือเกษตรกรด้วยโครงการประชานิยมเพิ่มรายได้ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีแต่สิ่งสำคัญคือต้องเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยที่ยากจนซึ่งโดยมากยังเข้าไม่ถึงบริการภาครัฐให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี‘วสันต์’มองว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจะประสบผลได้ ต้องเริ่มต้นที่การสร้างภูมิความรู้ “ชาวบ้านต้องพร้อมยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวฯ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ปลูกพืชแบบผสมผสานให้พอมีพอกินในครอบครัว แก้ปัญหาหนี้สินก่อน ที่เหลือค่อยขยายไปสู่การค้าขาย ทำให้เขามีความพร้อมที่จะรับการบริการภาครัฐ เมื่อพร้อมแล้วก็เป็นเรื่องง่ายที่การพัฒนาจะประสบความสำเร็จ”
โดยสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรส่งเสริมต่อยอดคือการรวมกลุ่มหรือการจัดตั้งระบบสหกรณ์ขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยให้สามารถช่วยเหลือกันเองและกำหนดราคาต่อรองกับพ่อค้าได้และช่วยหาช่องทางการตลาดให้ ขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็ต้องช่วยเหลือตนเป็นพื้นฐานสำคัญก่อน เช่น เกษตรกรนอกเขตชลประทานที่ต้องประสบภัยแล้งทุกปี ก็อาจน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยการแบ่งพื้นที่ขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง โดยไม่รอเพียงความช่วยเหลือจากภาครัฐฝ่ายเดียว
มองไปข้างหน้า รัฐไทยต้องไม่ทิ้งภาคการเกษตร
“อนาคตข้างหน้าเมืองไทยคงเปลี่ยนไปมาก เวลานี้หลายประเทศรวมทั้งไทยก้าวเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ขณะที่สัดส่วนภาคการเกษตรลดลงไปมาก”ข้าราชการในพระองค์หมาดๆ แสดงความกังวลถึงความอยู่รอดของภาคการเกษตรของไทยในอนาคต และตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ไทยยังมีแหล่งอาหารของตัวเองและเป็นแหล่งอาหารของโลก โดยรัฐบาลจะต้องไม่ทิ้งภาคการเกษตร
อย่างไรก็ดีแม้จะมีการส่งเสริมด้านการเกษตรมากมายแต่หากชาวบ้านไม่เห็นประโยชน์ก็ยากที่จะสำเร็จ เช่น การทำโซนนิ่งเกษตรแบ่งเขตปลูกพืชตามความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมานาน และเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยด้านการตลาดได้ชัดเจนแต่ยังไม่สามารถชักจูงเกษตรกรได้ดีเท่าที่ควร เพราะเกษตรกรไม่เห็นประโยชน์และหันไปปลูกพืชที่มีราคาสูงจูงใจกว่าแทน ดังนี้แล้วการดำเนินโครงการด้านการเกษตรต่างๆของภาครัฐจึงต้องเน้นการพัฒนาจากล่างสู่บนด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรเป็นพื้นฐาน
……………………
นั่นคือมุมมองการพัฒนาภาคเกษตรไทยของ ‘วสันต์ กู้เกียรติกูล’ข้าราชการในพระองค์วัย 61 ปี ผู้กล่าวทิ้งท้ายว่าจะทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทและน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในชีวิตและการทำงานต่อไปจนกว่าสุขภาพจะไม่อำนวย
ที่มาภาพ :: สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี http://www.suratthani.doae.go.th