สภาเกษตรกรฯ เตรียมชงรบ.จำนำข้าวตามคุณภาพควบประกันราคา
ปธ.สภาเกษตรกรฯ ยอมรับชาวนาพอใจจำนำข้าว-ห่วงกระทบคุณภาพผลิต จ่อเสนอทางเลือกจำนำตามคุณภาพข้าวประกบประกันราคา ชี้ปัญหาใหญ่เกษตรกรขาดที่ทำกิน เดินหน้าตั้งคกก.ติดตามงานรบ.
วันที่ 4 ธ.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราในวาระที่เพิ่งรับถ่ายโอนภารงานจากกษ.ตามบทเฉพาะกาล พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ซึ่งกำหนดให้กษ.รับหน้าที่ดำเนินงานแทนสภาเกษตกรฯในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรก ว่า ขณะนี้สภาเกษตรกรฯอยู่ระหว่างการสร้างสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรแต่ละจังหวัด รวมทั้งการออกระเบียบการบริหารจัดการทุกเรื่อง โดยมีการพิจารณาแต่งตั้งพนักงานสภาเกษตรกรทั้ง 77 จังหวัด เพิ่มจังหวัดละ 4-6 คนเพื่อรองรับการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานด้านการเกษตรของรัฐบาล เช่น คณะกรรมการยางพารา คณะกรรมการที่ทำกินของเกษตรกร คณะกรรมการพืชเศรษฐกิจภาคเหนือด้วย
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของสภาเกษตรกรฯต่อโครงการประชานิยมต่างๆ อาทิ โครงการรับจำนำข้าว นายประพัฒน์กล่าวว่า จากการพูดคุยกับสมาชิกสภาเกษตรกรพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง และเป็นการยกระดับราคาข้าวทั้งระบบ อย่างไรก็ดียอมรับว่าโครงการจำนำมีผลทำให้เกษตรกรเร่งปลูกข้าวเน้นการผลิตเชิงปริมาณ และใช้สารเคมีมากขึ้น จนคุณภาพข้าวเสื่อมลงและกระทบสุขภาพผู้บริโภค ซึ่งปัญหานี้เป็นหน้าที่ของสภาเกษตรกรฯในการแก้ไขด้วยการส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกรในการเพาะปลูกพืชด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ เน้นการผลิตเชิงคุณภาพ รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเชื่อว่าการให้ความรู้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นภารกิจหลักของสภาเกษตรกรฯ จะช่วยถ่วงดุลผลกระทบที่เกิดจากนโยบายประชานิยมเร่งการผลิตเชิงปริมาณได้
อย่างไรก็ดีในอนาคตสภาเกษตรกรฯจะเสนอให้รัฐบาลเพิ่มตัวเลือกในการประกันราคาสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกร โดยจะเสนอให้มีทั้งโครงการจำนำข้าว และประกันราคาข้าวควบคู่กัน โดยกำหนดระดับการให้ราคาในโครงการจำนำข้าวตามคุณภาพ เช่น ข้าวคุณภาพดี 100 เปอร์เซ็นได้ราคาจำนำเต็ม 15,000 บาทต่อตัน เป็นต้น โดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรเน้นการปลูกข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันการมีตัวเลือกที่หลากหลายจะทำให้ผลประโยชน์ตกถึงเกษตรกรรายย่อยมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้สภาเกษตรกรฯจะเสนอให้มีการมอบรางวัลแก่เกษตรกรดีเด่นภายใต้หลักเกณฑ์การทำเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบปราศจากการใช้สารเคมีต่อไปด้วย
นายประพัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรขณะนี้นอกจากปัญหาหนี้สินแล้ว คือ การขาดที่ดินทำกิน นอกจากเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเช่าที่ดินทำกินแล้ว ยังมีเกษตรกรกว่าล้านครอบครัวที่ไม่อาจได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการด้านการเกษตรของรัฐได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน โดยมีปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนพื้นที่สาธารณะ ทับซ้อนเขตอุทยาน ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ในการแก้ไขเพราะเกี่ยวเนื่องกับหลายหน่วยงาน โดยสภาเกษตรกรจะเป็นหน่วยงานกลางในการสะท้อนปัญหาและหาแนวทางความร่วมมือต่อไป
ที่มาภาพ ::: Facebook : Piyawit Kotphete