ไล่จับไม่ได้ผล "บวรศักดิ์" แนะดึงมาตรการป้องกัน แก้ทุจริต
ป.ป.ช.มอบรางวัลหน่วยงานรัฐโปร่งใส “วิชา” เผย ปีหน้าเตรียมเพิ่มดัชนีความถูกต้องตามครรลองครองธรรม ชี้วัดหน่วยงานเสี่ยงสูง ศุลกากร-สรรพากร-สำนักงานตำรวจฯ ติดโผ
วันที่ 3 ธันวาคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่องความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมมอบรางวัล ประกาศเกียรติคุณ ดัชนีความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2555 ให้แก่หน่วยงานภาครัฐจำนวนทั้งสิ้น 45 หน่วยงานที่ผ่านการประเมิน
โดยในช่วงแรก ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลกับการสร้างสรรค์และพัฒนาองค์กร” โดยระบุถึงระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากันว่า มีสาเหตุมาจากการบริหารปกครองที่ไม่มีธรรมาภิบาล หรืออธรรมาภิบาล ทำให้เงินที่ควรจะตกถึงประชาชนในรูปถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา การบริหารประเทศ ถูกนำไปใช้เข้าพกเข้าหอของนักการเมือง ผู้บริหารประเทศ หรือข้าราชการที่มีอำนาจอยู่มือขณะนั้น จนทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับประเทศไทย ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า มีการบรรจุเรื่องหลักธรรมาภิบาลไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งหากการบริหารประเทศ ตลอดจนองค์กร หน่วยงานต่างๆ ยึดหลักธรรมภิบาล โดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส เชื่อว่าจะเกิดความดีงามและผลดีอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะความโปร่งใส การมีส่วนรวม ความรับผิดรับชอบ ตอบคำถามได้ จะเป็นการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบดีที่สุด เนื่องจากไม่มีความลับใดๆเกิดขึ้น
“ในที่มืดอาจมีหนู ตะขาบ แมลงสาบ แต่ในที่สว่างทุกอย่างมองเห็นได้หมด ที่สำคัญคนจะทำตัวเป็นคนเลวไม่ได้ ต่างจากเมื่ออยู่ลับหลัง” ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ความโปร่งใส ยังทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ นิติธรรม เป็นนิติธรรม ไม่ถูกสั่นคลอนโดยคนทุจริต เกิดความไว้วางใจของประชาชน คนใน และนอกองค์กร ไม่ต้องมีการวิ่งเต้น หรือซื้อขายตำแหน่ง เกิดการพัฒนาที่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม เลขาฯ ส.พระปกเกล้า กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีเครื่องมือที่สำคัญคือ องค์กร หรือหน่วยงานนั้นต้องมีนโยบายเรื่องความโปร่งใส ธรรมาภิบาลที่ชัดเจน ผู้นำ ผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ บอร์ดรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีคนรับผิดรับชอบ ประการสำคัญต้องมีการเปิดเผยงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง เปิดเผยราคากลางตามที่ ป.ป.ช. เสนอ รวมถึงต้องเปิดเผยผลตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด บอร์ดต่างๆ ได้ค่าเบี้ยประชุม ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ไม่ใช่แสดงแต่บัญชีทรัพย์สินหนี้สินอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องรวมไปถึงกิจกรรมนอกระบบราชการด้วยว่า ไปเป็นที่ปรึกษา นายกสมาคมอะไรบ้าง เพื่อยึดโยงกับที่มาของรายได้ นอกจากนี้ข้อมูลการร้องเรียน กล่าวหาทั้งหมด ต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบเช่นกันว่า ดำเนินการถึงไหน อย่างไร
“ทุกภาคส่วนคงต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ และวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้คือ การป้องกันทุจริต ไม่ใช่การไล่จับคนทุจริต” ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ ศ.(พิเศษ)วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “ดัชนีความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ”ว่า ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ทรุดหนักและมีความเสื่อมอย่างที่สุด สร้างความรู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการทุจรติคอร์รัปชั่น ความไม่โปร่งใส ซึ่งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ความโปร่งใสในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเรื่องสำคัญที่สุด การจัดซื้อจัดจ้างต้องเป็นไปตามระเบียบพัสดุ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับงบประมาณ และเพื่อให้การทุจริตลดลง ในปี2556 ป.ป.ช. จะนำหลักธรรมาภิบาล เรื่องความถูกต้องตามครรลองครองธรรมมาใช้เป็นดัชนีชี้ด้วย เพราะมองว่าเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยพิชิตการทุจรติได้ โดยจะเริ่มนำมาใช้กับหน่วยงานมีความเสี่ยง ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ศ.(พิเศษ) วิชา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยส่วนตัวอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและการบริการประชาชนอย่างมีคุณภาพ เป็นตัวขับเคลื่อนในการประเมินผลชี้วัดหน่วยงานของรัฐด้วย
จากนั้นมีการมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ ดัชนีความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2555 ให้แก่หน่วยงานภาครัฐจำนวนทั้งสิ้น 45 หน่วยงานที่ผ่านการประเมินผลและการดำเนินงานตามตามหลักยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยหน่วยงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง มี 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมธนารักษ์ กรมอนามัย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ 8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังรับโล่เกียรติคุณจาก ป.ป.ช. ว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการตามดัชนีชี้วัดของ ป.ป.ช. อาทิ การดำเนินการเกี่ยวกับพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้างประจำปี การเปิดเผยข้อมูลผลการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการทั้งหมดผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ ให้กับประชาชนได้เข้าถึง นอกจากนี้ยังมีกระบวนการติดตามและประเมินผลภารกิจหลักของหน่วยงาน รางวัลนี้จึงถือเป็นความภูมิใจของบุคคลกรกรมอนามัยทุกคน