แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ถอดบทเรียนจัดการน้ำ 'อาณัติ' แนะจัดองคาพยพลดขัดแย้ง สร้างเอกภาพวิชาการ
อดีต รมว.เกษตรฯ ถอดบทเรียนจัดการน้ำ ชี้คนไม่เคารพกติกา ทำแผนแม่บทล้มเหลว วอนนักวิชาการลดขัดแย้ง สร้างเอกภาพแผนงาน เชื่อเป็นประโยชน์ต่อโครงการน้ำมหาศาล
ดร.อาณัติ อาภาภิรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษาโครงการศึกษาการปฏิรูปการจัดการน้ำของประเทศไทย : การวิเคราะห์เชิงสถาบัน และรูปแบบการปรับตัว "Adaptation Options to Improve Thailand's Flood Management Plan" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและ International Development Research Centre (IDRC) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา โดยถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาว่า จำเป็นต้องมีการจัดองคาพยพ ไม่ว่าจะน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วม หลังน้ำท่วม หรือช่วงน้ำแล้ง ทุกหน่วยงาน ทั้งภาคราชการ การเมืองและส่วนท้องถิ่นจะต้องมาร่วมกันทำงาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอย่างสัมพันธ์กัน
"การจัดองคาพยพตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมจะช่วยวางระบบชัดเจนว่า หน่วยงานใดจะดูแลส่วนไหน ทั้งเรื่องงบประมาณ การพยากรณ์ การเตือนภัย การระบายน้ำ เพื่อลดความสับสน โดยต้องทำอย่างละเอียด รอบคอบ และพยายามลดเรื่อง "การเมือง" ลง เพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ดร.อาณัติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานโยบายสาธารณะที่วางไว้เป็นแผนแม่บทค่อนข้างใช้ได้ แต่เมื่อปฏิบัติจริงกลับเป็นไปตามแผนเพียงครึ่งเดียว เช่น เมื่อปี 2526 ตนเคยวางระบบฟลัดเวย์นอกถนนกิ่งแก้ว-ร่มเกล้า รวมถึงข้อห้าม ข้อจำกัดต่างๆ แต่หลังจากนั้นก็ไม่เป็นไปอย่างที่วางไว้ ด้วยข้อติดขัดหลายประการ ทั้งผลประโยชน์ของคน การไม่เคารพกติกา และเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติดูแล ผลที่ตามมาคือไม่สามารถระบายน้ำได้
"เช่นเดียวกับกรณีวังน้ำเขียว และข้อพิพาทเรื่องรื้อรีสอร์ทนั้น เหตุเกิดจากนโยบายสาธารณะที่ต้องการจัดที่ให้เกษตรกรยากจนอยู่ แต่เกษตรกรบุกไปในป่าสงวนแล้วทำผิดกฎหมาย จะจับเกษตรกรทั้งหมดก็ไม่ได้ รัฐจึงต้องมีนโยบายทำให้ถูกกหมาย เช่น โครงการปฏิรูปที่ดิน โครงการหมู่บ้านป่าไม้ โครงการนิคมสร้างตนเอง เพื่อให้เกษตรกรมีที่ทำกินถูกกฎหมาย แต่ซื้อขายไม่ได้ ท้ายที่สุดโครงการก็ไม่เป็นอย่างที่วางไว้ มีการซื้อขายและนำไปสร้างผลประโยชน์"
ส่วนการจะก้าวข้ามปัญหาที่สังคมไทยไม่สามารถดำเนินงานไปตามแผนโครงการได้นั้น ดร.อาณัติ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างเรื่องน้ำ แท้จริงแล้วน้ำเป็นธรรมชาติที่ไม่ได้จัดการยาก ที่จัดการยากคือ คน แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนจะจัดการไม่ได้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์สึนามิญี่ปุ่น เพราะคนมีระเบียบวินัย จึงจะจัดการได้รวดเร็ว
"ข้อแรกคนก็ต้องเปิดใจ เคารพความเห็นของผู้อื่น เช่นเดียวกับนักวิชาการ ที่ย่อมมีความเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องปกติ แต่นักวิชาการก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัด ใจกว้าง เคารพในวิชาชีพ ถกเถียงกันจนเกิดเอกภาพทางวิชาการ ท้ายที่สุดจะตกตะกอนไปสู่การปฏิบัติและแก้ปัญหาอย่างแท้จริง และเป็นเกราะกำบังให้ผู้สั่งนโยบายทำได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นแผนที่มาจากเอกภาพด้านวิชาการ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการจัดการน้ำอย่างมหาศาล ซึ่งจะต้องสร้างบรรยากาศนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่อย่างนั้นผลการศึกษาก็จักลายเป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งที่วางไว้บนแผง"