‘รสนา’ ค้านขึ้นราคา LPG ชี้เอื้อกลุ่มปิโตรเคมี
‘รสนา’ จัดเวทีค้านขึ้นราคา LPG ชี้เอื้อกลุ่มปิโตรเคมี เอาเปรียบประชาชน-ผู้ใช้กลุ่มอื่น เตรียมเดินขบวนยื่นเรื่องต่อเจ้ากระทรวง หลัง 5 ธันวาฯ
วันที่ 2 ธันวาคม คณะอนุกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา นำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ เปิดเสวนาในหัวข้อ “ความไม่ชอบธรรมในการขึ้นราคา LPG” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นางสาวรสนา กล่าวว่า ตนต้องการแจ้งเตือนให้เครือข่ายประชาชนต่างๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาจากการขึ้นราคาแก๊ส LPG ให้ราคาสะท้อนตลาดโลกเป็น 36 บาท/กก. ทุกภาคส่วนนั้น ส่งผลให้ภาคขนส่งขยับเดือนละ 1.20 บาท/กก. และอุตสาหกรรมเดือนละ 0.50 บาท/กก. ซึ่งจะมีผลหลังปีใหม่นี้จนครบในเดือน ธ.ค. 2556
ส.ว. นักรณรงค์และผู้มีส่วนในการเปิดโปงการทุจริตมากมาย ให้ข้อมูลว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะให้ภาคปิโตรเคมีและภาคครัวเรือนใช้แก๊ส LPG จากอ่าวไทย ถ้าไม่เพียงพอให้นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่แก๊ส LPG ที่ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยมาจากแหล่งภายในประเทศถึง 55 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเพียงพออยู่แล้วต่อการใช้สำหรับภาคครัวเรือนและภาคขนส่งที่ใช้แก๊ส LPG ปีละ 2.6 ล้านตัน และ 9 แสนตัน ตามลำดับ
"ขณะที่ภาคปิโตรเคมีใช้แก๊ส LPG ถึง 2.1 ล้านตัน/ปี เมื่อนับรวมปริมาณการใช้ของภาคครัวเรือนตามนโยบายของรัฐบาลแล้วทำให้เกินจำนวนแก๊สที่ผลิตได้ในอ่าวไทย และรัฐบาลก็ใช้ตัวเลขเป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาแก๊สในประเทศให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลก ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น"
ส.ว.รสนา กล่าวอีกว่า ปริมาณแก๊ส LPG 3.5 ล้านตัน ในปี 2554 พอใช้สำหรับภาคครัวเรือนและยานยนต์ ซึ่งหากจะช่วยเหลือ ให้ผู้ที่ใช้แก๊สใช้ในราคาต่างประเทศ เรายอมรับได้จะนำเข้ากี่แสนที่ล้านตัน ก็ไม่ใช่ปัญหา แล้วนำกองทุนน้ำมันมาชดเชย แต่สำหรับภาคปิโตรเคมีนั้นต้องนำเข้าเอง
"กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เป็นอีกกลุ่มผู้ใช้แก๊ส LPG ที่เสียเปรียบมาโดยตลอด เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีเงินหมุนเวียนกว่า 3 หมื่นล้านบาทและสร้างงานให้ประชาชนจำนวนมหาศาล แต่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องทนใช้แก๊สในราคาที่สูงกว่ากลุ่มอื่นคือ 24 บาท/กก. เมื่อเทียบกับภาคครัวเรือนที่ 18.13 บาท/กก. และภาคปิโตรเคมีที่ 16.20 บาท/กก. เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมประกอบด้วยโรงงานขนาดเล็กซึ่งไม่มีอำนาจต่อรองเท่ากับกิจการขนาดใหญ่เช่นปิโตรเคมีที่รัฐมักนำเงินภาษีประชาชนเข้าไปอุ้ม"
ด้านนายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า หากมีการขึ้นราคาแก๊ส LPG ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดจริงแล้ว จะส่งผลกระทบตามมามากมาย ราคาอาหารเพิ่มขึ้น ต้นทุนการขนส่งสินค้าต่างๆ สูงขึ้น ค่า FT ก็จะขยับตาม อีกทั้งปัญหาการสร้างกลไกเพื่อให้ภาคปิโตรเคมีได้ใช้แก๊สในราคาที่ถูกกว่าหลังจากขึ้นราคาแล้วก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล
นายอิฐบูรณ์ กล่าวถึงการเผยแพร่ข้อมูลของกระทรวงพลังงานที่มีการบิดเบือน เช่น การใช้แก้ไขแผนภูมิกราฟฟิกเพื่อให้ปริมาณการใช้แก๊ส LPG ของภาคปิโตรเคมีแลดูน้อยกว่าปกติ และการสร้างวาทกรรมว่า สาเหตุการใช้พลังงานสิ้นเปลืองมาจากผู้ใช้รถยนต์ ทั้งๆ ที่ใช้น้อยกว่าภาคปิโตรเคมีมาก เป็นต้น
“บางคนบอกว่า หยุมหยิมๆ แต่สายตาของการรับสื่อในทางจิตวิทยา สายตาของเรา เราดูอะไรมากกว่ากัน ระหว่างตัวเลขหรือภาพ เพราะฉะนั้น เมื่อดูภาพแล้ว เราก็เชื่อว่า รถยนต์ใช้ LPG เกือบจะเท่าปิโตรเคมี จากนั้นก็จะมีการ์ตูนฉายต่อ ให้เห็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ LPG ขาดแคลน และทำให้เกิดต้นทุนนำเข้า” นายอัฐบูรณ์ กล่าวถึงข้อสังเกตที่พบในการ์ตูนรู้ทันพลังงานของภาครัฐ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางอนุกมธ.เสริมสร้างธรรมมาภิบาลฯ ได้หารือร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และ พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) เพื่อทำการเดินขบวนไปยื่นหนังสือคัดค้านการขึ้นราคาแก๊ส LPG ตามแผนของรัฐบาลต่อ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน ที่กระทรวงพลังงาน โดยยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่แน่ชัด แต่จะมีขึ้นหลังจากวันที่ 5 ธันวาคม
อย่างไรก็ตาม นางสาวรสนา ในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาได้แจ้งว่า วุฒิสภาจะมีการเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเข้าพูดคุยและชี้แจงอีกครั้ง เพื่อให้มีการดำเนินนโยบายพลังงานอย่างเป็นธรรมต่อประชาชนต่อไป
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/#!/Goosoogong