จีนประกาศกร้าว ไม่ต้องการรุกรานใคร พัฒนาการทหาร เพื่อป้องกันตัว
เวทีเสวนา “มังกรพลิกกาย...ท่วงท่าใหม่ที่ไทยควรรู้” ตัวแทนจีน ยันไม่ใช่คนก่อปัญหาดินแดน ย้ำชัดงบทหารเทียบ GDP ยังไม่ถือว่าสูง ชี้เหตุไม่เคยมีกองทัพทางทะเลที่เข้มแข็ง เมื่อโตอย่างก้าวกระโดดจึงกลายเป็นที่จับตามองของชาวโลก
วันที่ 1 ธันวาคม มูลนิธิสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ (The Saranrom Institute of Foreign Affairs Foundation: SIFAF) และสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ภายใต้ความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security and International Studies: ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “มังกรพลิกกาย ..ท่วงท่าใหม่ที่ไทยควรรู้..” ณ ห้องกมลฤดี ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายหลายๆ ด้านของจีนที่ออกมาหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 18 ที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ไทย รวมถึงอาเซียนต้องเรียนรู้และปรับตัว
คณะผู้จัดงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย ประธานมูลนิธิฯ และประธานคณะมนตรีสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) พร้อมด้วย ฯพณฯ กวน มู่ (Mr. Guan Mu) เอกอัครราชฑทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวต้อนรับ โดยทั้งสองกล่าวไปในทิศทางเดียวกันถึงความสัมพันธ์ไทยกับจีนที่มีมาอย่างแนบแน่นช้านาน ไม่ใช่แค่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่าย รวมทั้งผสานความร่วมมือในพัฒนา ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ร่วมกัน
จากนั้น ในเวทีเสวนา โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) และรองศาสตรจารย์ ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นคำถามไปยังฝ่ายตัวแทนของประเทศจีน อาทิ จีนใช้กระบวนการอะไรในการเลือกตั้งกลุ่มผู้นำใหม่ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯ ครั้งที่ 18 ที่ผ่านมา, ทำอย่างไรให้คนจีนที่ส่วนใหญ่มีนิสัยเก็บออมนำเงินที่มีมหาศาลออกมาจับจ่ายใข้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก, บทบาทที่ย้อนแย้งกันเองระหว่างการสร้างสันติภาพกับการต้องการเป็น “มหาอำนาจทางทะเล” จีนจะมีคำอธิบายกับเรื่องนี้อย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้ คำถามต่างๆ จากผู้เข้าร่วมฝ่ายไทยยังครอบคลุมถึงแผนการแก้ไขปัญหาของจีนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ความไม่สมดุลในการพัฒนา ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น การทุจริตคอร์รัปชัน ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองจีน ปัญหาค่าเงินหยวน ตลอดจนการถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งหมดประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ได้
ประชาธิปไตยแบบจีน เน้นผลงานมากกว่าคน
ด้าน นายเฉิน เป่าเซิง รองอธิบารบดี สถาบันการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัวแทนผู้เสวนาฝ่ายจีน เริ่มต้นตอบคำถามการเลือกตั้งคณะกรรมการพรรคฯ ครั้งล่าสุดว่า เป็นระบบ “ประชาธิปไตยแบบจีน” คือ เน้นการดูจากผลงานมากกว่าที่จะให้คนๆ นั้นออกมา “แสดงโชว์” เพื่อให้ประชาชนเลือกอย่างประธานาธิบดีบารัก โอบามา หรือนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“การเลือกตั้งของจีนไม่เคยใช้ข้อบกพร่องของประเทศอื่นมาโจมตีเพื่อสร้างคะแนนให้กับตัวเองอย่างเช่นที่สหรัฐฯ ทำเลย” ตัวแทนฝ่ายจีน กล่าว และว่า ในเรื่องข้อพิพาทด้านเขตแดนทางทะเลกับหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม นั้น ทั้งหมดเป็นปัญหาที่จีนไม่ได้ก่อขึ้น และทำไปเพียงเพื่อป้องกันอำนาจอธิปไตยของตนเองเท่านั้น ประกอบกับ สหรัฐฯ กำลังพยายามกลับเข้ามามีอิทธิพลในย่านเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จีนจะต้องเฝ้าระวัง
นายเฉิน กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ต้องเลิกยึดทรัพยากรในทะเลจีนใต้เป็นของตนเสียก่อนจึงจะเจรจากันได้ และต้องเป็นการเจรจาในระดับทวิภาคีเท่านั้นหากเป็นไปได้ เพราะจีนไม่ต้องการให้กลายเป็นปัญหาในระดับอาเซียน ก่อนจะย้ำด้วยว่า จีนไม่ต้องการรุกรานใคร การพัฒนาทางด้านการทหารที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อป้องกันตัว อีกทั้งการที่จีนยังไม่เคยมีกองทัพทางทะเลที่เข้มแข็งมาก่อน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดจึงกลายเป็นที่จับตามองของชาวโลก
"เมื่อเทียบกับ GDP ของจีนแล้วนั้น งบประมาณด้านการทหารยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูง"
สำหรับประเด็นปัญหาภายในในระบบการเมืองของจีน โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชันและระบบอุปถัมภ์นั้น นายเฉิน ผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่า “ประเทศใดไม่มีปัญหาภายใน ประเทศนั้นไม่มีชีวิตชีวา”
“ ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯ ครั้งที่ 18 ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้เช่นกัน และได้มีการลงมติจัดตั้งคณะกรรมการหลายชุดในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองในประเทศ พร้อมทั้งได้ขยายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในการปราบปรามการทุจริตกับนานาประเทศ รวมทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของไทยด้วย”
สุดท้ายในเรื่องค่าเงินหยวน นายเฉิน กล่าวด้วยว่า จีนไม่มีนโยบายที่จะผลักดันให้มีการใช้เงินหยวนเป็นเงินสากลแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการแข็งค่าเงินหยวนกะทันหันนั้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายหัน เป่าเจียง รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ สถาบันการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวถึงทิศทางของจีนในอนาคตด้วยว่า จะเป็นการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขเรื่อง “ภายใน” เป็นหลัก เพราะจีนเองยังมีปัญหาต่างๆ อีกมากมายที่รอให้แก้ไข แต่อย่างไรก็ตาม จีนก็จะยังคงให้ความสำคัญกับไทยและภูมิภาคอาเซียนในการผสานความร่วมมือต่างๆ ต่อไป