ถก ‘ชะตากรรมแปลงนาผืนสุดท้ายในบางกอก’ แนะคนเมืองอย่าทิ้งวิถีเกษตร
นักวิชาการห่วงนิคมอุตฯ-นายทุนยึดพื้นที่เกษตร ชี้รบ.ลวงจำนำข้าวชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ จี้เร่งแกไข้ลดต้นทุนปัจจัยผลิต แนะคนเมืองยึดวิถีเกษตรสร้างความพอกิน
วันที่ 30 พ.ย. 55 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชมรมสื่อบ้านนอกร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดเสวนา ‘ชะตากรรมแปลงนาผืนสุดท้ายของบางกอก’ โดยม.ร.ว.ดิศนัดด่า ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวเปิดงานว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความเป็นไปในชนบทให้สังคมรับทราบ อย่างไรก็ดียังพบว่าสื่อมวลยุคปัจจุบันยังไม่เข้าใจวิถีชีวิต ปัญหา และความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนชนบทอยู่มาก ทั้งนี้แนวทางพัฒนาชีวิตคนชนบทตามปรัชญาของสมเด็จย่าต้องเริ่มแก้ที่ความเจ็บ ความยากจน และการศึกษา เนื่องจากความเจ็บป่วยยากจนเป็นที่มาของการปัญหาการทำลายพื้นที่ป่า ปัญหายาเสพติดและการค้ามนุษย์ เมื่อแก้ปัญหาโรคภัยและความยากจนได้แล้วการพัฒนาการศึกษาจึงตามมา
นายสมชาย สมานตระกูล ผู้นำชุมชนอิสลามลำไทร (คอยรุตตั๊กวา) เกษตรกรเขตหนองจอก กรุงเทพฯ กล่าวว่า พื้นที่เขตหนองจอกซึ่งแต่เดิมเป็นไร่นาส่วนใหญ่ในวันนี้ถูกรุกล้ำด้วยนิคมอุตสาหกรรมและโครงการบ้านจัดสรร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งหากดูตามผังเมือง หนองจอกคือพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่พักอาศัย อย่างไรก็ดีมีการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้พื้นที่สีเขียวกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ภาพของผืนนาที่อยู่ติดกับตึกสูงจึงพบเห็นได้ที่หนองจอก
อย่างไรก็ดีการมีพื้นที่เพื่อการเกษตรแม้เพียง 1 ไร่ หรือ ไม่กี่ตารางวาในครัวเรือนสามารถช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียงและลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพไปได้มาก แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูกอย่างประสบผล ทั้งนี้การแก้ปัญหาต่างๆให้แก่เกษตรกร หน่วยงานของรัฐควรลงไปศึกษาเรียนรู้กับชาวบ้าน ไม่ใช่เพียงสั่งให้ทำตามอย่างเดียว
ด้านดร.สุมิท แชมประสิทธิ์ เลขาธิการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือวิถีเมืองกำลังขับไล่วิถีชนบทออกไป โดยคนเมืองยุคปัจจุบันปฏิเสธวิถีเกษตร ต้องเสียเงินเพื่อซื้อพืชผักรับประทาน โดยเข้าใจว่าวิถีเกษตรแบบพอเพียงเป็นเรื่องของคนต่างจังหวัดซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วแม้มีที่ดินเหลือเพียง 15 ตารางวา คนเมืองก็สามารถปลูกผักสวนครัวรับประทานเองได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างต่ำร้อยละ 30
ขณะที่การแก้ปัญหาให้เกษตรกรที่ผ่านมาของภาครัฐยังไม่ประสบผล แม้จะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ไขแต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบทุนนิยม โดยการพัฒนาประเทศของผู้บริหารยังมุ่งเน้นเพียงการเพิ่มตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) เท่านั้น
สำหรับปัญหาความยากจนของชาวนาไทยวันนี้เกิดจากการเพาะปลูกผิดวิธีที่เน้นการใช้สารเคมีอันเป็นการเพิ่มต้นทุน โดยพบว่าปีหนึ่งๆชาวนาใช้สารเคมีถึง 87 ล้านตันในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต สิ่งที่ตามมาคืออันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค อย่างไรก็ดีหากมีการให้ความรู้และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตให้แก่ชาวนา เช่น ส่งเสริมการปลูกข้าวสินเหล็กเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งสามารถขายได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 100 บาท หรือ การแปรรูปข้าวเป็นสินค้าอื่นๆที่ทำรายได้มาก โครงการจำนำข้าวหรือประกันราคาพืชผลเพื่อเพิ่มรายได้อาจไม่มีความจำเป็น
ด้านรศ.ดร.ณรงค์ เพ็รชประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราเข้าใจว่าประเทศไทยคือประเทศเกษตรกรรม ขณะที่จีดีพีภาคการเกษตรปัจจุบันลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 โดยวันนี้มีชาวนาทั้งประเทศเหลืออยู่ประมาณ 3.78 ล้านครอบครัว และเป็นชาวนาตัวจริงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 9 ล้านคน ขณะที่ลูกหลานกลายเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ระบบทุนนิยมที่รุกเข้ามาทำให้วิถีการทำนาแบบเดิม เช่น การทำนากันเองโดยคนในครอบครัว หรือ การช่วยกันลงแขกในชุมชนหายไป ชาวนาปัจจุบันจึงกลายเป็นผู้จัดการไร่นาที่ขาดทุน โดยที่รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้ได้มาจากการทำนาแต่มาจากเงินค่าแรงในโรงงานที่ลูกหลานส่งเสียให้ จึงไม่แปลกที่วันนี้ชาวนารายย่อยจะเลิกทำนาและขายที่ดินให้นายทุน
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า การที่รัฐบาลกล่าวว่าโครงการนี้ทำเพื่อช่วยเหลือชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ ก็พบว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ชาวนาส่วนใหญ่คือชาวนาภาคอีสานซึ่งมีอยู่ 2.5 ล้านครัวเรือน(จาก 3.78 ครัวเรือน)แต่ผลผลิตข้าวร้อยละ 90 มาจากชาวนาภาคกลางและภาคเหนือ ขณะที่ร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นผลผลิตของชาวนาอีสานซึ่งยากจนและเมื่อได้เงินจากโครงการจำนำข้าวก็ถูกหักหนี้ไปเกือบหมด ดังนั้นผลประโยชน์จากโครงการจำนำจึงไปกระจุกตัวอยู่ที่ชาวนาภาคกลางซึ่งไม่ใช่ชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ “การที่รัฐบอกว่าโครงการจำนำข้าวต้องยอมขาดทุนเพื่อชาวนาส่วนใหญ่ ส่วนไหนส่วนใหญ่ บอกได้ไหม”
ยิ่งไปกว่านั้นโครงการจำนำข้าวยังทำให้ต้นทุนการผลิตทุกอย่าง เช่น ค่าปุ๋ย ค่าแรงงานสูงขึ้น เกิดการเก็งกำไรของโรงสีที่คอยหักค่าความชื้นของข้าวและค่าหญ้าที่ติดปะปนมากับข้าวออก ทำให้ชาวนาได้เงินไม่สมราคาและยิ่งทำให้นายทุนกว้านซื้อที่ดินมากขึ้น
“ผมกล้ายืนยันเลยว่าจำนำข้าวฤดูกาลที่ผ่านมาไม่มีชาวนาหน้าไหนที่เป็นชาวนาตัวจริงขายข้าวได้ตามราคาจำนำ” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า นโยบายประชานิยมคือสิ่งที่ทำลายชีวิตเกษตรกร โดยปัจจุบันอัตราส่วนภาคการเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 30 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยับขึ้นถึงร้อยละ 70 ซึ่งไม่ควรจะมากไปกว่านี้
“ถ้าเราต้องการรักษาภาคเกษตรไว้ การแก้ไขไม่ใช่เรื่องจำนำ หรือ ประกันราคา แต่อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ชาวนารู้สึกพอใจที่จะเก็บที่ดินไว้ และได้กำไรพออยู่รอดจากการใช้ที่ดิน ที่ผ่านมารัฐบาลเอาราคาข้าวมาล่อ แต่ไม่เคยบอกว่าจะลดต้นทุนอย่างไร ถ้าอยากช่วยชาวนาจริงๆ ต้องทำให้ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าไถ่ ค่าหว่านลดลงซึ่งสามารถทำได้ แต่ไม่ทำเพราะนายทุนขายปุ๋ยคือนักการเมือง” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว
ภาพ ::: เสกสรร โรจนเมธากุล