เปิดไส้“สยามอินดิก้า” แบกหนี้ 3.3 พันล. - ก่อนเล่นกับ “ไฟ” (อีกครั้ง) ระบายข้าว จีทูจี
เปิดไส้“สยามอินดิก้า” แบกหนี้ 3.3 พันล. ก่อนเล่นกับ “ไฟ” (อีกครั้ง) ระบายข้าว จีทูจี - จับตาแบงก์กรุงไทย“อุ้ม-ลอยแพ”?
บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กำลังถูกสังคมจับตามองในเรื่องการทำธุรกิจค้าข้าว หลังปรากฏเป็นข่าวว่า ได้รับประโยชน์จากการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี จำนวนมาก
ทั้งการร่วมประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาล จำนวน 3 แสนตัน เพื่อนำไปส่งต่อให้กับ องค์กรสำรองข้าวประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อค)
หรือการปรากฏข้อมูลว่า เป็นผู้รับข้าวต่อมาจากบริษัท GSSG IMP AND EXP.CORP ที่ตั้งอยู่ที่นครกวางเจา ประเทศจีน ซึ่งมีการตั้งบุคคลเข้ามาเป็นตัวแทนในการดำเนินการเรื่องนี้ และถูกตรวจพบว่ามีความเชื่อมโยงกับบริษัทสยามอินดิก้า ตามข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการป.ป.ช.) ตรวจสอบในเร็วๆนี้
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สถานะทางธุรกิจที่แท้จริงของบริษัท สยามอินดิก้า เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา บริษัท สยามอินดิก้า ได้นำส่งงบดุลล่าสุด ปี 2554 ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชี ระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 บริษัทฯ มีหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวมจำนวน 448,461,972.06 บาท ประสบผลขาดทุนจากการดำเนินงาน โดยมียอดขาดทุนสะสมจำนวน 1,304,461,972.06 บาท แต่มีทุนจดทะเบียน และเรียกชำระแล้วจำนวน 856,000,000 บาท หักแล้วมียอดขาดทุนเกินทุนที่เรียกชำระแล้วจำนวน 448,461,972.06 บาท และบริษัทฯต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ยืมจากธนาคาร
ปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัท
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นว่า บริษัทสามารถดำเนินงานต่อเนื่องต่อไปได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการของบริษัทฯ ยืนยันจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน
ทั้งนี้ งบแสดงฐานะการเงิน บริษัท สยามอินดิก้า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ระบุว่า มีสินทรัพย์หมุนเวียน 1,446,768,630.74 บาท มีสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 1,498,466,747.44 บาท รวมสินทรัพย์ 2,945,235,378.18 บาท
มีหนี้สินหมุนเวียน แยกเป็น เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 1,406,077,511.02 บาท เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น 81,362,811.51 บาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 240,000,000 บาท เงินกู้ยืมระยะสั้นจากบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน 398,557,517.71 บาท รวมหนี้สินหมุนเวียน 2,125,997,840.24 บาท
หนี้สินไม่หมุนเวียน มีเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถานบันการเงิน-สุทธิ 1,267,699,510 บาท รวมหนี้สิน 3,393,697,350.24 บาท
ส่วนรายได้ บริษัทแจ้งว่ามีรายได้จากการขาย 4,408,552,336.04 บาท รายได้อื่น 35,457,834.34 บาท รวมรายได้ 4,444,010,170.38 บาท แต่มีค่าใช้จ่าย 4,465,230,842.55 บาท ทำให้บริษัทขาดทุนสุทธิ 150,347,471.90 บาท
ผู้สอบบัญชีได้ระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ลักษณะการทำธุรกิจ บริษัทที่ชัดเจนคือ ปรับปรุงคุณภาพข้าวสารเพื่อขายและขนส่งทางน้ำ
2. บริษัทฯ มีลูกหนี้การค้าในปี 2554 เป็นจำนวน 245,753,412.64 บาท ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า 9,249,120.94 บาท ลูกหนี้กรมสรรพากร 15,200,197.73 บาท อื่นๆ 3,078,094.39 รวมลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น 273,280,825.70 บาท
3. บริษัทมีสินค้าสำเร็จรูป 254,762,042.98 บาท มีวัตถุดิบ 147,718,498.94 บาท เบื้องต้นวัตถุดิบได้นำไปจำนำเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ยืมจากธนาคาร
4. บริษัทฯ ให้เงินกู้ยืมแก่กิจการแห่งหนึ่งโดยไม่ได้ทำสัญญา ไม่มีหลักประกันและไม่ได้กำหนดระยะเวลาการชำระคืนที่แน่นอนและไม่มีการคิดดอกเบี้ย โดยเงินกู้ยืมดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
1.เงินต้น 24,022,466.13 บาท
2.ดอกเบี้ยค้างรับ 24,283,438.83 บาท
รวม 48,305,904.96 บาท (มีการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ)
5. สิทธิเรียกร้องหนี้ 1,050,000,000 บาท (มีการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ)
ทั้งนี้ สิทธิเรียกร้องหนี้ มีการระบุว่า เมื่อปี 2551 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อหนี้จากธนาคารแห่งหนึ่ง โดยการรับโอนสิทธิ์เรียกร้องในหนี้ที่ธนาคารแห่งนี้มีกับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาเงินกู้ยืมระยะยาว มูลหนี้ 1,286 ล้านบาท ในราคา 1,050 ล้านบาท วันที่ 8 ตุลาคม 2552 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของบริษัทดังกล่าว และให้เจ้าหนี้ และสถาบันการเงินยื่นขอรับชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2553 ถึง วันที่ 12 มีนาคม 2553 บริษัทฯ ได้บันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวทั้งจำนวนแล้ว ในปี 2552
6. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรได้นำไปจดจำนองเพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้ยืมจากธนาคารแห่งหนึ่ง รวมทั้งได้มอบผลประโยชน์ทั้งหมดตามกรมธรรม์ประกันภัยให้กับธนาคาร
7. บริษัทฯ มีวงเงินเบิกเกินบัญชีวงเงินแพคกิ้งเครดิตและวงเงินตั๋วขายลดจากธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันร่วมกับเงินกู้ยืมระยะยาว
8. บริษัทฯ มีเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น จำนวน 81,362,811.51 บาท
9. บริษัทฯ มีเงินกู้ยืมกรรมการเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในกิจการ โดยไม่มีการทำสัญญาไม่คิดดอกเบี้ยและไม่กำหนดระยะเวลาจ่ายชำระ
10. เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน ได้แก่ เงินกู้ยืมจากธนาคารแห่งหนึ่ง วงเงิน1,064 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร , การรับผิดชอบหนี้ของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีอยู่กับธนาคารแห่งหนี้ ในราคา 1,050 ล้านบาท(หนี้ บริษัทเพรสซิเด้นอะกริ เทรดดิ้ง กับธนาคารกรุงไทย) ระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 11 ปี 2 เดือน ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 16 เดือน โดยชำระทุกงวด 3 เดือน ในอัตราที่แตกต่างกัน เริ่มงวดแรก เดือนมีนาคม 2552 งวดสุดท้ายเดือนธันวาคม 2561
เบื้องต้น มีการกำหนดเงื่อนไขว่า หากเกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ที่ทำให้ธนาคารเชื่อโดยมีเหตุผลอันสมควรว่า เหตุการณ์นั้นกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัท ถึงขนาดเป็นเหตุให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ลดลงหรือระงับลง เหตุการณ์นี้ รวมถึงการที่บริษัทฯไม่ชำระเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด กับเจ้าหนี้รายอื่นหรือการที่บริษัทฯ ยินยอมตกลงปรับปรุงหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่น
ธนาคารมีสิทธิ์ยกเลิกเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทฯ
ทั้งนี้ บริษัทตกลงฯ จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องให้ธนาคารต้องรับผิดชอบและหรือชำระค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆ อันเนื่องมาจากการบอกเลิกเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อข้างต้นทั้งสิ้น
นี่คือสถานะทางธุรกิจบริษัทสยามอินดิก้า ก่อนถูกตรวจสอบพบว่าอยู่เบื้องหลังการระบายข้าวจีทูจี ของรัฐบาลจำนวนมากในขณะนี้
คำถามที่น่าสนใจ คือ หากการระบายข้าวจีทูจี ที่ฝ่ายค้านระบุว่า บริษัทสยามอินดิก้า ได้รับประโยชน์ โดยมิชอบ ถูกตรวจสอบว่า เป็นความจริง
ธนาคารกรุงไทย (เจ้าหนี้) จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร?
จะเดินหน้าอุ้มบริษัทสยามอินดิก้าหรือจะลอยแพให้ล่มสลายไปอย่างที่ควรจะเป็น (ตั้งแต่ช่วงที่บริษัทเพรสซิเด้นอะกริ เทรดดิ้ง ถูกฟ้องล้มละลาย)
แต่ทว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหนสุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บตัว
ส่วนจะ“เจ็บมาก-เจ็บน้อย” ต้องรอดูกันต่อไป