แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
นิพนธ์ นำทัพรับวิจัยปฏิรูประบบจัดการน้ำ เน้นการใช้ที่ดิน
ทีดีอาร์ไอ เปิดตัวโครงการปฏิรูประบบบริหารจัดการน้ำประเทศ "นิพนธ์" เผยใช้เวลา 3 ปี วิจัยเน้นส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง หนุนแผนแม่บทรบ. ด้านอาณัติ ชี้จัดองคาพยพระบบน้ำ คู่ขัดแย้้งต้องหาจุดยืนร่วมกันให้ได้
วันที่ 29 พฤศจิกายน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและ International Development Research Centre (IDRC) เปิดตัวโครงการศึกษา "Adaptation Options to Improve Thailand's Flood Management Plan" ศึกษาการปฏิรูปการจัดการน้ำของประเทศไทย : การวิเคราะห์เชิงสถาบัน และรูปแบบการปรับตัว โดยมีดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการกิตติคุณทีดีอาร์ไอ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยทีมวิจัยประกอบด้วย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดร.สมชัย จิตสุชน และดร.อภิวัฒน์ รัตนวิรุฬห์
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ภายหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ก่อความเสียหายต่อประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งสาเหตุสำคัญนอกจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในรอบ 70 ปี และผลกระทบจากมรสุม 5 ลูกแล้ว ยังมีความผิดพลาดในการจัดการประโยชน์ที่ดิน การบริหารจัดการภาวะน้ำท่วมและการแทรกแซงจากการเมืองที่ส่งผลกระทบในภาพรวมและซ้ำเติมให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อน้ำลดรัฐบาลเร่งจัดทำแผนแม่บทจัดการน้ำ ใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทในการเยียวยาผู้ประสบภัย บูรณะซ่อมแซมและวางแผนลงทุนป้องกันน้ำท่วมทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว แบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องลงทุนด้านด้านโครงสร้าง
ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาระยะยาว 3 ปี ได้แหล่งทุนสนับสนุนจากไอดีอาร์ซี (International Development Research Center: IDRC) โดยมุ่งประเด็นไปที่การบริหารจัดการน้ำในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง เพื่อเป็นการสนับสนุนแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เน้นการศึกษา 3 ด้าน ได้แก่ 1.รูปแบบการใช้ที่ดิน การบริหารควบคุมสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ลุ่มที่ใช้รับน้ำนองและการปรับตัวทั้งในส่วนชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม
2.รูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร ที่รัฐกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง พร้อมวิเคราะห์การปรับตัวของเกษตรกรและชุมชนในบริเวณดังกล่าว เพื่อรับมือกับผลกระทบทั้งภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง 3.ออกแบบและให้ข้อเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยจะเลือกศึกษาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นจุดน้ำท่วมวิกฤติและน้ำแล้ง
ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า หากผลการศึกษาทำให้ได้รูปแบบการใช้ที่ดินและรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่มาจากกระบวนการทางวิชาการและผ่านการเห็นชอบจากภาคประชาสังคมอย่างเหมาะสมแล้ว ท้ายที่สุดจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่เน้นการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการที่จะมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวจะสร้างองค์ความรู้และความร่วมมือด้านน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ รัฐ ประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อมวลชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาร่วมให้มุมมองภาพอนาคตระบบจัดการน้ำของประเทศไทย โดยดร.อาณัติ อาภาภิรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ กล่าวว่าถึงการจัดองคาพยพ หลังเกิดน้ำท่วมว่า การองคาพยพเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ไม่ว่าจะน้ำท่วมน้ำแล้งทุกหน่วยงาน ทั้ง ภาคราชการ การเมืองและส่วนท้องถิ่นจะต้องมาร่วมกันทำงาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอย่างสัมพันธ์กัน
"การจัดองคาพยพจะช่วยตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม เพื่อวางระบบชัดเจนว่าใครจะดูแลส่วนใด ทั้งเรื่องงบประมาณ การพยากรณ์ การเตือนภัย การระบายน้ำ เพื่อลดความสับสน โดยต้องทำอย่างละเอียด รอบคอบ และพยายามลดเรื่องการเมืองลง เพื่อการทำงานดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่ว่าจะลดเรื่องการเมืองได้อย่างไรนั้น การจะบูรณาการเรื่องใดก็ตามย่อมีความเห็นไม่ตรงกัน มีคู่ขัดแย้งแน่นอน แต่ยืนยันว่าไม่ว่าอย่างไรคู่ขัดแย้งก็ต้องคุยกัน เพื่อหาจุดร่วมและนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ไม่มีหนทางอื่น"
ขณะที่ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กล่าวว่า การจะสร้างระบบสถาบันบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ ความสำคัญอยู่ที่ข้อมูลและโครงสร้างของสถาบัน ที่มาจากนักวิชาการที่ต้องทำหน้าที่ทางวิชาการจริงๆ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถบริหารความขัดแย้งได้ ไม่สามารถสื่อสารกับสื่อมวลชนได้ ก็จะไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้เช่นกัน เป็นที่มาของความสับสนเรื่องข้อมูล อย่างที่เกิดกับสถานการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา